traveling is my destiny.

life is a journey and My destination is no longer a place, rather a new way of seeing.

- Marcel Proust

my journey : atomiczen

ดร.ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ หรือ พี่นันท์

พี่นันท์เป็นคนศรีสะเกษ เกิดปี 2519 ชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเรียนจบโฆษณา – การตลาด ในระดับป. ตรี และ ป.โท จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากทำงานในวงการโฆษณาและวิจัยการตลาดมา 7 ปี ก็ได้ทุนจากธรรมศาสตร์ไปเรียนต่อ ป. เอก ที่ University of New South Wales, Australia ระยะเวลา 5 ปีที่นั่นทำให้ได้สัมผัสถึงความงามของธรรมชาติและเริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพ Landscape & Seascape

ในช่วงนั้นได้มีโอกาสนำภาพถ่ายไปแสดงใน 500px.com ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยได้ใช้ชื่อ Log in เข้าระบบเป็นชื่อตัวละครในเกมส์ออนไลน์ที่เคยชอบเล่นมาก่อน ในชื่อว่า “AtomicZen” สุดท้ายกลายเป็นลายเซ็นต์ภาพถ่ายและใช้ชื่อนี้เรื่อยมาครับ

จากประสบการณ์ถ่ายภาพตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พี่นันท์มีความภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้เป็นหนึ่งในช่างภาพคนไทย ที่มีผลงานภาพถ่าย Landscape & Travel ตีพิมพ์บนหน้าปกนิตยสารชั้นนำในไทย และต่างประเทศ อาทิ Digital Camera World, Practical Photography, N-Photo Magazine, และ Photography week รวมทั้งสิ้นมากกว่า 20+ ฉบับ และหนึ่งในนั้น คือการตีพิมพ์บนหน้าปกนิตยสาร Digital Photography ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำด้านการถ่ายภาพของประเทศ Australia โดยมีบทสัมภาษณ์ และรูปถ่ายรวมทั้งหมด 11 หน้า

ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์ภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นวิทยากรพิเศษให้บริษัท Nikon Sales Thailand นอกจากนี้พี่นันท์ได้เปิด Workshop ด้านถ่ายภาพและการแต่งภาพ (Digital Darkroom Foundation)

ในปี 2563 ได้เปิดธุรกิจนำเที่ยว “AtomicZen Travel” ที่เน้นการท่องเที่ยวถ่ายภาพวิว ทิวทัศน์โดยเฉพาะ โดยพี่นันท์เลือกพื้นที่ที่มีความชำนาญ มีทิวทัศน์อลังการ เช่น Patagonia, Dolomite-Italy, Lofoten-Norway, Australia และ New Zealand และตั้งใจพาเพื่อนๆ ไปลุยถ่ายภาพให้เต็มที่ ทุกทริป พี่นันท์ เป็น Trip Leader ที่ดูแลทุกอย่างให้สมบูรณ์เพื่อให้ลูกทริปทุกคนมีความสุข และสนุกกับการเดินทาง + ถ่ายภาพมากที่สุดการออกแบบ พี่นันท์ทริปเน้นการถ่ายแสงเช้า แสงเย็น ดวงดาว และแสงเหนือ คือ มีโอกาสได้ภาพสวยๆ จุดไหน จะต้องจัดหนักให้ลูกทริป เหนื่อยแน่แต่ได้ภาพสวยๆ กลับไป แต่ละ Location จะเลือกมุมคัดสรรมาเฉพาะ รวมถึงมุมลับที่หาไม่ได้จากทริปท่องเที่ยวโดยทั่วไป

และในปี 2565 นี้ สถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 เริ่มดีขึ้น แม้จะยังมีการแพร่ระบาดอยู่บ้าง แต่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลาย และกำหนด Covid-19 เป็นโรคประจำถิ่น การเดินทางท่องเที่ยวคงจะกลับมาเป็นปรกติอีกครั้ง รวมถึงทริปท่องเที่ยวของ AtomicZen Travel & Photography ก็จะเริ่มเปิดให้บริการเป็นลำดับครับ

พี่นันท์ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรพิเศษให้กับ Nikon Sales Thailand ในหัวข้อ การถ่ายภาพ Landscape และการรีวิวิอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพ ตั้งแต่ปี 2015 - ปัจจุบัน

ตัวอย่างภาพ Landscape ที่เคยตีพิมพ์ลงหน้าปกนิตยสารต่างประเทศ

ผลงาน AtomicZen ตีพิมพ์บนหน้าปก Digital Photography ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำด้านการถ่ายภาพของประเทศ Australia โดยมีบทสัมภาษณ์ และรูปถ่ายรวมทั้งหมด 11 หน้า

 

Q & A กับพี่นันท์

 
  • หากเริ่มจับกล้องจริงๆ คงตั้งแต่สมัยเรียนวารสารศาสตร์ที่ ม. ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเป็นกล้องฟิล์ม ผมใช้ Nikon FM2n เคยลงเรียนวิชาถ่ายภาพพื้นฐานในคณะฯ ก็รู้สึกชอบนะ คือ ผมชอบศิลปะ แม้จะวาดภาพไม่เก่ง แต่ก็พยายามหัดเรียนรู้ จนมีกล้องถ่ายภาพ ก็รู้สึกว่า แม้เราจะวาดภาพด้วยมือไม่ได้ ก็ขอวาดภาพด้วยแสงแทนหล่ะกัน (ยิ้ม) ผมลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ศึกษาเองตามหนังสือ นิตยสาร ฟิล์มสมัยนั้นแพงเมื่อเทียบกับรายได้นักศึกษา กว่าจะกดได้แต่ละภาพก็เล็งแล้วเล็งอีก หัดถ่ายภาพแบบมือสมัครเล่นอยู่ 1-2 ปี ก็ต้องหยุด เพราะทำงานประจำ ไม่มีเวลาเลย

    จนเริ่มมีกล้องดิจิตอล และราคาพอสู้ไหว ก็เริ่มกลับมาถ่ายภาพอีก แรกๆ ใช้ Canon G3 ครับ ไม่แพง มีจอหมุน ถ่ายสนุก พกพาง่าย ใช้นานต่อเนื่อง 6-7 ปี ก็ขยับมาใช้กล้อง DSLR ซื้อ Canon 50D มาใช้ได้อาทิตย์กว่าขายทิ้ง ใจอยากได้ Full frame เลยขยับขึ้นไปใช้ Canon 5D แต่เป็นมือสอง ผมชอบเลนส์มือหมุน ก็หาเลนส์ต่างๆ มาเล่น เจอคนถ่ายภาพด้วยกันก็สอบถามได้ความรู้ และเทคนิคดีๆ จากน้าๆ ห้องมือหมุนใน Pantip.com ช่วงนั้นผมซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพเยอะเลย แต่เลนส์มือหมุนไม่แพง ก็พอซื้อไหว รู้สึกตัวอีกทีมีเลนส์เกือบสิบชิ้นเข้าไปหล่ะ จะเยอะไปไหน! เวลาใช้ก็ใช้ทีละอัน (หัวเราะ) จนกระทั่งได้ทุนมาเรียนต่อที่ Australia ก็ทยอยขายเลนส์ ขายอุปกรณ์พวกแฟรชทิ้งเกือบหมด ขนมาเฉพาะกล้อง และเลนส์อีก 3 อัน (21, 35, 85 mm.)

    ช่วงปีแรกของการเรียนนั้น เรียนหนักมาก โครตเครียดเลยครับ โชคดีเจอพี่น้องที่รักการถ่ายภาพที่ Sydney จึงทำให้ได้ออกมาถ่ายรูปในช่วงเช้าวันหยุด เสร็จจากถ่ายภาพก็มีสภากาแฟ พูดคุยเมาส์มอยกันจนเหนื่อย ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน หลังจากนั้นผม และเพื่อนๆ ก็ออกถ่ายภาพด้วยกันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเรียนจนจาก Australia รวมเป็นเวลาเกือบๆ 4 ปีของการฝึกถ่ายภาพ Landscape – Seascape หลังจากกลับมาก็ทำงานเต็มตัวที่ ม.ธรรมศาสตร์ ครับ

  • แรกๆ อยู่ที่เมืองไทย ไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเที่ยวไหนครับ ช่วงนั้นเลยชอบถ่าย Portrait กับ Street … จริงๆ ช่วงเห่อกล้องใหม่ ตอนใช้ Canon G3 เรื่อยมาถึง Canon 50D ผมถ่ายดะเลยนะ เดินไปกินก๋วยเตี๋ยวปากซอยก็สะพายกล้องไปถ่าย ไปเรียน ทำงาน ก็พกไป ภาพช่วงแรกๆ ของผมจึงสะเปะสะปะ ไม่รู้แนวที่ชอบ ต่อมาเริ่มชอบถ่าย Portrait ก็ออกทริปกับเพื่อนๆ ถ่าย Pre-wedding บ้าง ถ่ายรับปริญญาบ้าง เริ่มรู้มากขึ้น และเริ่มศึกษาการถ่ายภาพด้วยแฟรชแยก สนุกอย่าบอกใครเลยครับ ครั้งหนึ่งเคยไปทริปกาญจนบุรีกับน้าๆ ห้อง Canon คนอื่นไปถ่ายภาพถ้ำ ถ่ายทะเล ผมแบกแฟรช Softbox และขาตั้ง รวมๆ 10 กว่ากิโล จะไปถ่ายนางแบบ เหนื่อยลมจับเลย (หัวเราะ)

    จนกระทั่งมาที่ Sydney ก็ยังหวังจะมาถ่าย Portrait นะ คิดว่าเออ..ค่ากินค่าอยู่แพง แบกกล้องมาถ่ายงานรับปริญญาที่นี่ พอได้เงิน! ที่ไหนได้ ที่นี่ ไม่นิยมถ่ายภาพรับปริญญา เค้าใช้กล้อง compact ถ่ายกันเองป๊อกแป๊ก จบหล่ะ!! ไม่มีใครจ้างเราถ่ายเลย มีบ้าง Pre-wedding งานสองงาน แต่นานๆ มาที ถ้าจะถ่ายให้ได้เงินต้องไปลุยถ่าย Wedding ของฝรั่งเลยนะ งานหนึ่งได้ 3-4 พันเหรียญ (แสนกว่าบาท) แต่นั่นคือฝรั่งจ้างฝรั่ง เรา No-name มาก หัวดำ พูดฝรั่งคนไทยฟังยังงงกันเอง และขนาดคนไทยด้วยกันจะจ้างเราถ่ายภาพ ผมเรียกไป 200 เหรียญ (6 พันบาท) เค้ายังไม่จ้างเลยครับ (ฮา) ประกอบกับการเรียนปริญญาเอกตอนปีแรกมันเครียด เรียนหนัก เลยทำให้ความฝันที่อยากถ่าย Portrait แบบ Inter ต้องพับไปก่อน

    มารู้ตัวอีกทีก็เริ่มลุยถ่ายภาพทะเลที่ Sydney แล้วครับ เวลาโดนคลื่นซัด วิ่งหนีน้ำ รวมถึงเวลาที่จิบกาแฟหลังถ่ายภาพกับเพื่อนๆ มันสนุกมาก ผมเลยหลงรักการถ่ายภาพ Landscape เรื่อยมา จากเดิมที่ผมชอบถ่าย Portrait เพราะอยากทำให้คนอื่นมีความสุขที่เห็นภาพถ่ายของเค้าออกมาสวย กลายเป็นผมชอบถ่ายภาพ Landscape เพราะทำให้เราได้เที่ยว พักผ่อน และมีความสุขกับภาพถ่ายวิว ทิวทัศน์ จากฝีมือของเราเอง

  • ขึ้นกับสถานการ์ในการออกถ่ายภาพแต่ละครั้งครับ หากเป็น Seascape ผมใช้มักใช้ Nikon D850 ตัวเก่าที่มี + เลนส์ Nikon 16-35mm. หรือ 14-24 mm. แต่เวลาออกถ่าย Landscape จะเปลี่ยนเป็น Nikon Z 7 ii ที่เล็กและเบากว่า Nikon D850 และเลือกเลนส์ Nikon S line คือ 14-24 mm. f/2.8 และ 24-70 mm. f/2.8 สำหรับเลนส์ช่วงอื่นที่ใช้ก็มี 50/1.2 S, 24/1.8 S และ 35/1.8 S ที่มักประกบกับ Nikon Z 6 ii สำหรับถ่ายวิดีโอ และ Portrait ครับ

    ปัจจุบันผมใช้ฟิลเตอร์ครึ่งซีกยี่ห้อ Nisi ทั้ง Soft GND และ Hard GND ครับ ส่วนขาตั้งกล้องก็มีใช้งานอยู่ 2 ตัวคือ ขาเหล็กแบบถูกของ Manfrotto รุ่น 055XDB เอาไปลุยน้ำทะเล ใช้มา 2 ปี เกลือและสนิมขึ้นแทบทุกจุด คิดว่าหากพังก็ซื้อใหม่ ถือว่าซื้อมาใช้คุ้มแล้ว แต่หากผมจะเดินทางไปต่างประเทศ ผมจะใช้ขา Carbon ที่เบากว่า เช่น Gitzo 1544T แทนครับ

  • งาน Landscape ถ่ายไม่ยากครับ ขอให้ไปถูกที่ ถูกเวลา ลองคิดดู คนมีกล้องเหมือนกัน ไปที่เดียวกัน แต่คนนึงได้แสงเทพมาเลยนะ อีกคนฟ้าเน่า ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าภาพใครจะสุดกว่ากัน นอกจากนี้ยังต้องขึ้นกับมุมมอง ความคิดสร้างสรรค์ในการหามุมใหม่ๆ ด้วย

    ผมเคยบอกน้องๆ ในเพจบ้าแลนด์ฯ ว่า หัวใจของการถ่ายภาพ Landscape นอกจากอุปกรณ์แล้ว อย่างอื่นที่จำเป็นคือ 3L’s ประกอบด้วย Location (สถานที่สวย) Light (แสงสวย ถูกเวลา) และ Love (ต้องมีใจรักและทุ่มเท) ผมก็เหมือนคนชอบถ่ายภาพทั่วไปหล่ะครับ อยากให้ภาพตัวเองสวยเหมือนคนอื่น ดังนั้น เราต้องศึกษาว่า งานเค้าถ่ายยังไง วิธีไหน แต่งภาพแบบไหน ฯลฯ เหมือนกับว่า ทุกอย่างจะเริ่มจากความฝัน ตามด้วยคำถาม และผมจะพยายามหาคำตอบให้กับมันครับ

    อย่างเช่น แรกๆ ที่หัดถ่ายภาพ Seascape มีช่างภาพคนหนึ่ง ผมชอบงานเค้ามากคือ Patrick Smith ผมก็จะไล่ดูภาพ ศึกษามุมมองคนนั้น คนนี้ จากนั้นก็ออกไปลองผิด ลองถูกเอง ดูให้เยอะ คิดให้เยอะ และออกไปถ่ายให้เยอะครับ การเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งเท่ากับเรียนรู้จากความผิดพลาดของเราเอง นอกจากนี้ มีอีกสองส่วนที่อยากแนะนำเพิ่มเติมครับ อย่างแรกคือ องค์ประกอบศิลป์สำคัญมาก และอย่างที่สองคือการเปิดใจ สำคัญมากถึงมากที่สุด คนชมภาพเรา กำลังใจมันก็เพิ่มขึ้น และหากมีคนติงานเรา เราก็สามารถเรียนรุ้ แก้ไขจากคำติเหล่านั้น และจะทำให้เราเก่งขึ้นได้แน่นอนครับ

  • ความจริงก็คือ การถ่ายภาพ เป็น ศิลปะแขนงหนึ่ง และมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ การแต่งภาพ เป็นส่วนหนึ่งของความสุขที่ได้จากการถ่ายภาพ ใครจะมีความสุขจากอารมณ์ตอนกดชัตเตอร์ เสพความ “ฟิน” แบบดิบๆ จบหลังกล้อง นั่นก็เป็นศิลปะ

    ส่วนใครชอบถ่ายภาพแล้วนำภาพมาแต่งสี แต่งแสง เสริมความงามตามความต้องการของตน อันนี้ก็ศิลปะ ขอให้เปิดใจแบบนี้ จะทำให้เราเข้าถึง และเรียนรู้งานได้หลากหลายขึ้น พอใจจะจบหลังกล้อง หรือต้องการจบหลังคอม ก็ทำไปเถอะ สุขด้วยกันทั้งคู่นั่นแหล่ะครับ

  • ในความเห็นผม Photoshop เหนือกว่าโปรแกรมแต่งภาพอื่นๆ ก็คือความสามารถด้าน Layer หรือการแต่งภาพแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนสาวๆ แต่งหน้า ที่ค่อยๆ ไล่แต่งหน้าไปทีละชั้น ลงครีม ลงแป้ง ทาลิป นั่นก็คือ Layer ส่วนโปรแกรมอื่นๆ อาจมาในรูปของ History คือเราย้อนกลับไปขั้นตอนก่อนหน้าได้เรื่อย แต่ไม่ยืดหยุ่นเท่า

    ทีนี้.. ใน Photoshop ผมนิยมสร้าง Layer แยกพื้นที่ที่จะแต่งภาพออกเป็นส่วนๆ เช่น กำลังจะเล่นกับ “สายน้ำ” เป้าหมายเพื่อขับให้มันโดดขึ้นมา มี Detail มากขึ้น ก็จะใช้ Layer ที่ว่านี้ กำหนดขอบเขตการทำงานเอาเฉพาะส่วนที่เป็น “สายน้ำ” แล้วก็ใส่แสงเพิ่ม ใส่สีเพิ่ม หรือหากเราต้องการจะแต่งสีสัน รายละเอียดของท้องฟ้า ผมก็สร้าง Layer ใหม่ขึ้นมา เน้นที่ “ท้องฟ้า” เป็นต้น ทำแบบนี้ไปจนครบส่วนที่ต้องการ

    ภาพๆ หนึ่งของผม อาจมีมากกว่า 10 Layers ซึ่งสามารถซ่อน หรือแสดง หรือลดบทบาทของ Layer แต่ละอันได้ในภายหลัง ผมไม่นิยมรวมภาพ (Flatten image) เวลาแต่งภาพใน Photoshop ทุก Layer มีอย่างไร อยู่อย่างนั้น เพื่อคราวหลังสามารถกลับมาแก้ไข เพิ่มเติมได้ … ส่วนเทคนิคที่ผมใช้บ่อยๆ คงเป็นการทำ Manual HDR ด้วยภาพถ่ายคร่อม 2-3 ใบที่เก็บแสงแต่ละส่วนมาให้พอดี เช่น เก็บแสงท้องฟ้า เก็บแสงฉากหน้าในส่วนเงามืด จากนั้นนำมารวมกัน ซึ่งช่วยเพิ่ม Dynamic Range ให้กับภาพมากขึ้น ส่วนเทคนิคการ Process อื่นๆ จะเป็นเทคนิคพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การปรับ Perspective, การ Crop จุดตัดเก้าช่อง, และการแก้ไขสีเฉพาะจุด (Selective color)

  • การลงหน้าปกนิตยสารถ่ายภาพ หรือมีหนังสือถ่ายภาพเป็นของตัวเอง เป็นความฝันของช่างภาพทุกคน สำหรับผมนั้น มันเป็นความฝันที่เผอิญจังหวะและโอกาสช่วยสานฝันให้เป็นจริงครับ

    ตอนเริ่มถ่ายภาพ Landscape คิดแต่ว่า หากชีวิตนี้ ภาพถ่ายของเราได้ลงหน้าปกหนังสือสักเล่ม คงจะสุขสุดยอด! แต่หากฝัน แล้วไม่ลงมือทำ … คงไม่มีใครมาขอใช้ภาพผมถึงห้องนอนแน่ๆ (หัวเราะ) ประมาณปลายปี 2554 ผมเริ่ม Upload ภาพลง Internet และหาข้อมูลเพื่อแจมภาพในนิตยสารต่างๆ พอลงภาพไปสักพัก ผ่านไป 3 เดือนก็ได้รับการติดต่อจากนิตยสาร N-Photo Magazine (หนังสือสำหรับคนใช้กล้อง Nikon โดยเฉพาะ ตีพิมพ์ที่ประเทศอังกฤษ และส่งขายในตลาดยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และอื่นๆ) ตอนนั้นนึกว่ามีคนส่งเมล์มาแกล้ง มาหลอกเอาภาพไปใช้งาน เพราะช่วงแรกๆ ทั้งบริษัทนำเที่ยว โรงแรม และ Photo Agency บางแห่งติดต่อเข้ามาขอใช้ภาพ แต่คราวนี้มันต่างออกไป นอกจากขอไฟล์ใหญ่ 4-5 ภาพแล้ว ยังส่งเอกสารให้กรอกเพื่อแสดงความยินยอมใช้ภาพ แต่ทางผมไม่มีอะไรจะเสีย ก็น่าลอง ส่งเอกสารทุกอย่างกลับไป

    จากนั้นสามอาทิตย์ต่อมา … ภาพผมก็ตีพิมพ์บนหน้าปก พร้อมเงินอีกก้อนหนึ่ง ดีใจจริงๆ จากนั้นเราก็ติดต่อ สร้างเครือข่าย และส่งภาพขึ้น Online Gallery เรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน (ปี 2562) ภาพผมได้รับการคัดเลือกลงหน้าปกนิตยสารต่างประเทศรวมมากกว่า 20 ฉบับ (ซึ่งรวมถึง Digital Camera World, Photoshop Elements และ Photography Week) นิตยสารไทย 1 ฉบับ (On Camera) และภาพที่ตีพิมพ์ลงหน้าคู่ – หน้าเดี่ยว ในนิตยสารต่างประเทศประมาณ 10 ฉบับครับ ซึ่งถามว่าดีใจไหม? ไม่ต้องคิดเลย…โครตดีใจครับ เกินที่เคยฝันไปเยอะ ภูมิใจในตัวเอง และรู้สึกขอบคุณครูบาอาจารย์ทั้งทางตรง และทางอ้อมที่สอนผมเรื่องการถ่ายภาพ รวมถึงพี่น้องที่ Sydney ที่ช่วยแนะนำมุมมองในการถ่ายภาพ และเพื่อนๆ ทั้งทางตรง และทางอ้อมใน Social Networking ที่ให้กำลังใจด้วยดีมาเสมอครับ

  • เยอะเลยครับ ประสบการณ์ดีๆ ที่เกิดขึ้นจากการถ่ายภาพในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะให้เล่าสักหนึ่งเรื่อง คงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสามเดือนแรกของการหัดถ่ายภาพ Seascape (ราวๆ ปี 2554) เหตุเกิดที่ Tamarama Beach, Sydney เป็นเช้าที่อึมครึม ฝนตกปรอยๆ ตลอด แต่พวกเรา 6-7 คนก็ยังตื่นแต่มืดออกไปล่าแสงเช่นเดิม ผมยังใหม่มากๆ กับทะเล Sydney อากาศหนาว ลมแรงมาก คลื่นแรงจากน้ำทะเลหนุนสูง ลานหินลื่นๆ และโขดหินที่มีคลื่นซัดตลอดเวลา ผมแบกกล้อง Canon 5D สะพายกระเป๋าคาดเอว มีเลนส์ 3-4 อันในนั้น เดินแบบระวังบนลานหิน มือหนึ่งถือขาตั้งกล้อง อีกมือถือร่ม ได้ที่เหมาะๆ ก็ปักขาตั้งกล้อง ห่างจากจุดที่คลื่นกระแทกสัก 10 กว่าเมตร ผมยังตะโกนยิ้มทักทายกับพี่น้องคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กัน ฟ้าข้างหน้าเริ่มจะสวยแล้ว แสงเทพออกมาแน่ๆ

    จำได้ว่าผมผละจากวิวทะเลตรงหน้า ก้มหน้าเพื่อควานหาผ้าเช็ดเลนส์ และรีโมทในกระเป๋าสะพาย พริบตาเดียวเท่านั้น! คลื่นสูงประมาณเข่า ซัดกวาดมาด้านหน้า ผมไม่ทันตั้งตัว เสียหลักหงายหลังตกลงไปที่แอ่งด้านหลัง กล้อง ขาตั้งกล้อง และเป้ ทุกอย่างจมน้ำ ตกใจมาก ผมพยายามพยุงตัวเพื่อยกกล้องขึ้น แต่ก็เหมือนมันจุ่มขึ้นจุ่มลงในน้ำทะเล น้ำทะเลไหลกลับลงไป น้ำลดลง พอลุกขึ้นได้ ก็รีบตรวจความเสียหาย กล้องดับแน่นิ่งไปแล้ว รีบถอดแบตออก ในกระเป๋ามีแต่ทรายและน้ำ จบข่าวเลย ฟ้าข้างหน้าสวยมาก ผมออกมาถ่ายภาพหลายทีแล้ว แต่ครั้งนี้มันสวย จนอดเสียดายไม่ได้ … แต่ตอนนั้น ไม่มีใครถ่ายภาพเลยสักคน! ทุกคนผละจากการถ่ายภาพวิ่งมาดูแลผม พี่ปรีชา พี่ใหญ่ของกลุ่มรีบหาเสื้อกันฝนให้ผมใส่กันหนาว น้องๆ แต่ละคนช่วยทำความสะอาดอุปกรณ์ ช่วยเก็บรีโมทที่จมน้ำ และน้องอีกคนวิ่งตามเก็บรองเท้าแตะของผมที่กำลังจะลอยออกทะเลกลับมาคืน

    ณ เวลานั้น อากาศหนาวจนปากสั่น มือซีด ขาซีด อุปกรณ์ผมพังไปแล้ว … แต่ใจผมมันอุ่นมาก! มิตรภาพที่ได้รับจากเพื่อนใหม่ สวยกว่าฟ้าตรงหน้าเยอะเลย : )