ข้อคิด…เลือกเลนส์ถ่ายภาพ Landscape

“…หากต้องใช้มือถือ ประคองกล้องเพื่อถ่ายภาพในที่แสงน้อยๆ การมี “เทคโนโลยีกันสั่น (Vibration Reduction)” ถือเป็นของแถมที่ยอดเยี่ยมครับ เช่น Nikon 16-35 mm. f/4.0 มี VR ที่ช่วยผมหลายครั้ง โดยสามารถถ่ายภาพที่แสงน้อยๆ (เวลาเช้า-เย็น) ที่ 16 mm. @ 1/8 วินาทีได้โดยง่าย …”

ภาพจากเลนส์มุมกว้าง มักให้มุมมองที่น่าสนใจเสมอ เช่น ในภาพข้างบน ผมเลือกที่จะวางกล้องใกล้ฉากหน้า ในมุมต่ำ ให้ให้องศาการมองภาพดูน่าสนใจ แต่ต้องระวังสัดส่วนของคนในภาพอาจจะผิดเพี้ยนไปเล็กน้อย

เลนส์เป็นดวงตาของช่างภาพ ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพสายไหน เลนส์ล้วนมีความสำคัญที่จะเก็บบันทึกแสง และสร้างสรรค์ผลงานที่สวยงาม การเลือกซื้อเลนส์ เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่มักจะพูดคุยกันเสมอเวลาผมได้เจอเพื่อนๆ ที่ชอบถ่ายภาพเหมือนกัน คุยกันหลายๆ ครั้ง ก็ได้ข้อคิดที่น่าสนใจ จึงอยากนำมาแชร์ไว้ เผื่อเป็นประโยชน์ ดังนี้ครับ

สอยเลนส์ช่วงไหนดี?

เอาเข้าจริง สุดท้ายต้องมีแบบครบช่วง! ช่างภาพ Landscape นิยมใช้เลนส์ Ultra-wide (เช่น 14-24 mm.)ในการบันทึกภาพ สำหรับผมนั้น ใช้เลนส์ช่วง Ultra-wide มากกว่า 80% ด้วยมุมมองที่กว้างกว่าตาของเรา จึงทำให้ภาพออกมาน่าสนใจ ดูอลังการ และเก็บฉากหน้าเป็นส่วนหนึ่งของภาพ แต่ไม่ใช่ว่าช่วงอื่นๆ จะไม่สำคัญ ผมนิยมใช้เลนส์ช่วง Normal เช่น ระยะ 50 mm. ซึ่งมี Perspective ใกล้เคียงกับที่ตาเห็น เพื่อถ่าย Panorama หรือเดินเล่นตามท้องถนน เห็นมุมไหนสวยก็ยกกดได้เลย

ส่วนเลนส์ช่วง Tele นั้น มี Choice ให้เลือกหลายตัวเลยครับ แต่ส่วนตัว ผมชอบเลนส์ช่วง 80-400 mm. มากกว่า 70-200 mm. f/2.8 แม้เลนส์ 80-400 mm. จะมี f แคบไปสักนิด แต่ก็ครอบคลุมระยะที่ต้องการ เราสามารถเจาะเพื่อเน้นพื้นที่ หรือตัวแบบ น้ำหนักไม่มากจนเกินไป เพียงแต่บางสถานที่ที่ไป ผมแทบไม่ได้หยิบออกจากกระเป๋าเลย แถมด้วยน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก จึงเป็นเลนส์เฉพาะที่จะขนไปใช้เมื่อรู้แน่นอนว่าจำเป็นครับ เช่น กรณีไปทริปพม่าเมื่อปลายปี ต้องการไปถ่ายภาพ Balloon ที่ Bagan แน่นอนว่าเลนส์ 80-400 mm. เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ยัดใส่กระเป๋าครับ ดังนั้น หากถูกจำกัดด้วยงบประมาณและน้ำหนักที่จะแบกตอนเดินทางท่องเที่ยว ผมเลือกเลนส์ Ultra-wied โดยไม่ลังเล และจะหาเลนส์อเนกประสงค์ อีกสักตัวพกไปด้วย เช่น 28-300 mm. หรือ 24-120 mm. เพื่อเพิ่มโอกาสในการเก็บภาพได้มากขึ้น

Ultra-wied ที่ใช้สำหรับ Nikon ตัวไหนจี๊ดส์ที่สุด?

แหม่!! ถ้าเป็นฝั่ง Canon ผมฟันธงเลยว่า เลนส์ Canon 16-35mm. f/2.8 ดีสุดๆ ไม่ว่าจะ f กว้างเท่านั้น แต่เลนส์คม แฉกสวยมากๆ และที่สำคัญหน้า filter 82mm. ใส่ Filters ได้หลากหลายครับ …​พอมามองฝั่ง Nikon ยังลูกผีลูกคนครับ ไม่ว่าจะเป็น Nikon 14-24 mm., 16-35 mm. หรือ Carl Zeiss ZF 15 mm. ก็ดีทั้ง 3 ตัว ขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน และแน่นอนมีข้อเสียทั้งสามตัวเช่นกัน

  • Nikon 14-24 f/2.8: เลนส์ชั้นยอด ที่มากับความคม และน้ำหนักที่มากจริงๆ ข้อเสียที่พบคือ แฉกไม่สวยเท่าไหร่ และการใช้งาน Filter นั้น ลำบากพอควร ต้องเสียตังค์เพิ่มอีกมากในการซื้อชุด Filters แถมหน้าเลนส์ใหญ่ เวลาประกบกับกล้องตัวเล็กอย่าง Nikon D610, D750 ไม่หล่ออย่างแรง แถมเวลาปักบนขาตั้งกล้อง หัวแทบทิ่ม ต้องประคับประคองพอสมควร

  • Nikon 16-35 f/4.0: ข้อดีคือ เบา คม และใส่ฟิลเตอร์ได้หลากหลาย เป็นเลนส์คู่ขวัญเวลาลุยถ่ายภาพ Seascape แต่ด้วย f แคบ ทำให้เวลาต้องการถ่ายภาพดาว-ทางช้างเผือก ก็ง่อยรับประทาน ถ่ายได้แต่ดาวหมุน โดยการปรับ f ที่ 4.5 – 5.6 และที่แย่สุดๆ คือ แฉกของเลนส์ตัวนี้ ห่วยสุดในสามโลก ผมรอการพัฒนาจาก Nikon อย่างใจจดจ่อเลย ว่าเมื่อไหร่จะออก 16-35mm. รุ่นใหม่มาสักที ผมไม่ขอมาก ขอแค่แบบ Canon 16-35 mm. ก็พอใจหล่ะ (แฉกสวย + f/2.8)

  • Carl Zeiss ZF 15/2.8: ยอดเยี่ยมระดับ 5 ดาว กิน 14-24 mm. และ 16-35 mm. เรื่องความคมแบบขอบชนขอบ แม้แต่ที่ f กว้างสุด ความคลาดสีแทบไม่มีให้เห็น แถมมีสเกลบอกระยะที่ชัดเจน หมุนเลนส์สุดกระบอกก็ยิงระยะ Infinity ได้สบายๆ ที่สำคัญ สามารถใช้ฟิลเตอร์ 10 Stops เพื่อลาก Speed Shutter ได้อีกด้วย แต่ข้อเสียของมันคือ หนักพอสมควร ราคาโหด และเป็นเลนส์ Fix ต้องขยับเท้าเข้าออกเอา ทำให้เวลาใช้งานจะไม่คล่องตัวเหมือนเลนส์ Zoom ข้างต้น

เลนส์ช่วง Tele ระยะ 70-200 mm. ถือเป็นเลนส์เอนกประสงค์ในการท่องเที่ยวถ่ายภาพเช่นเดียวกันกับเลนส์มุมกว้าง สิ่งที่ต้องพิจารณาคือเรื่องน้ำหนักของเลนส์ หากต้องเดินทางแบบ Backpack หรือเดินด้วยเท้าตนเอง + แบกเป้เป็นส่วนใหญ่ ก็ขอแนะนำให้เลือกเลนส์ 70-200 mm., f/4.0 แทนรุ่น f/2.8 เพราะทุกๆ ขีดที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ความสุขในการถ่ายภาพลดลง

ควรเลือกเลนส์ที่มีสเกลบอกระยะบนตัวเลนส์

ซึ่งมักจะพบได้ในเลนส์เกรดดีๆ บางตัวนั้นบอกค่อนข้างละเอียด และตรง! ประโยชน์ก็คือเวลาไปถ่ายภาพ เราไม่จำเป็นต้องหมุนหาโฟกัส เพียงปรับไปที่ f แคบๆ เช่น f/8.0 หรือ f/11.0 แล้วหมุนเลนส์ไปที่ระยะ  Hyperfocal เช่น ถ้าใช้เลนส์ 14mm. (fullframe) ที่ f/11.0 หมุนเลนส์ไปที่ระยะ 0.80 m. ก็จะได้ฉากหน้าชัดไปจนถึงฉากหลัง แต่หากต้องการเปิดแสงมากขึ้นที่ f/8.0 ต้องหมุนเลนส์ไปที่ระยะ 1.0 m. เป็นต้น ซึ่งการมีสเกลบอกระยะบนกระบอกเลนส์จะช่วยให้สะดวกขึ้นครับ

ตัวไหนดีระหว่าง Nikon 20 mm. f/1.8 กับ Nikon 24 mm. f/1.4?

เห็นถามกันมาตั้งแต่ได้ยินข่าวลือเรื่องเลนส์ตัวใหม่ของ Nikon ที่ทำออกมาเพื่อขยี้คู่แข่งขัน อย่าง Canon และ Sigma … คุณภาพเลนส์ 20 mm.  และ 24 mm. นี้ แม้จะไม่มี Website ไหนเอามาชนกันตรงๆ (Update: 22 มกราคม 58) แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า คุณภาพไม่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ข้อดีของ Nikon 20 mm. ตัวใหม่นี้ คือ น้ำหนักเบา ระยะโฟกัสใกล้มาก เลนส์สว่าง และค่าตัวไม่แรง ส่วนข้อเสีย ที่เห็นคงเป็น Vignette ที่ f กว้างสุด ค่อนข้าง Drop มากไปหน่อย และการหยิบจับเหมือนเลนส์ก๊องแก๊งอย่างไรไม่รู้

ส่วน Nikon 24 mm. ได้เปรียบเรื่อง เลนส์ที่สว่างกว่า 2/3 Stop และ Vignette น้อยกว่า ผมยังไม่เคยเช็คการ “ละลายฉากหลัง” ของเลนส์ 20 mm. ว่ามี Character อย่างไร แต่ที่เคยยิงภาพจาก Nikon 24 mm. นั้น ที่ f/1.4 การละลายฉากหลังทำได้เนียนนุ่ม Creamy มากๆ … ทีนี้ ตัวไหนดีกว่า? … เอาตรงๆ หากถ่าย Portrait ตัว 24 mm. เหมาะกว่า แต่หากต้องการไปถ่ายภาพดาวในสถานที่กันดาร (ต้องเดินทางเท้าเข้าไป) น้ำหนักเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น 20 mm. เหมาะสมกว่า เพราะหนักน้อยกว่ากันครึ่งๆ เลย (355 g. กับ 620 g.) แต่มีข้อแม้อย่างเดียว ภูมิอากาศต้องไม่แปรปรวน มีลมได้ แต่ห้ามมีฝน หรือหิมะ ไม่งั้นจบข่าว เพราะ 20 mm. ตัวนี้ไม่มีระบบ Sealing กันน้ำ (หรือละอองน้ำ) เหมือน 24 mm. ครับ

สุดท้าย … แล้วระหว่าง Nikon 70-200 mm. f/2.8 (+ข้อต่อ 1.4, 1.7  หรือ 2.0) กับ Nikon 80-400 mm.?

เป็นคำถามที่ตอบยาก มากๆ ครับ ส่วนตัวผมชอบเลนส์สว่างๆ ดังนั้น 70-200 mm. f/2.8 จึงมีภาษีดีกว่า และนิสัยของผมที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้ถ่ายภาพเจาะเท่าใดนัก และระยะ 200 mm. ก็ค่อนข้างเจาะมากแล้วสำหรับผม (อย่างที่บอก … ภาพกว่า 80% ใน Portfolio ถ่ายจากเลนส์ Ultra-wide) ดังนั้นให้เลือกเอาเลนส์เดียว ผมคงจะขอใช้ 70-200 mm. ยิ่งถ้าใช้กับ Nikon D800e, D810 ที่มี Censor ขนาดใหญ่ และขี้ฟ้องแล้วนั้น การมี f กว้างๆ ช่วยให้ผมเปิด Shutter Speed ได้มากขึ้น ลดการสั่นไหวของภาพ

หากจะมีข้อยกเว้น ที่จะเลือก 80-400 mm.  ก็คือ รู้ล่วงหน้าว่าจะเจอวัตถุระยะไกลให้ยิงในระหว่างออกทริปถ่ายภาพ เช่น การไปเที่ยวพม่า มี 2 วัน ที่จะมีโอกาสขึ้นเจดีย์เพื่อถ่ายภาพ Balloon ลอยเหนือทะเลเจดีย์ ด้วยโจทย์ดังกล่าว ผมจึงไม่ลังเลที่จะหยิบ 80-400 mm. ไปแทน 70-200 mm. เพราะโอกาสในการถ่ายภาพมากกว่า และเราสามารถใช้ขาตั้งกล้อง เพื่อลดการสั่นไหวในภาพได้ … ส่วนเรื่องความคม ก็มักสอบถามเข้ามาเช่นกัน ก็อยากจะบอกให้สบายใจว่า ความคมของ 80-400 mm. ที่ระยะ 200 – 400 mm. นั้น คุณภาพดีกว่า 70-200 mm. (ที่สวมข้อต่อเพื่อเพิ่มระยะ) ในระยะที่เท่ากัน ..​ สรุปคือ คมกว่า นั่นเอง รวมถึง Micro contrast ด้วย ที่ให้ภาพดูมีมิติ รายละเอียดดีกว่าครับ

Previous
Previous

เลนส์ชิ้นโปรด : Nikon 24-120 mm. f/4 Nano