เลนส์ชิ้นโปรด : Nikon 24-120 mm. f/4 Nano


ขอสรุปสั้นๆ สำหรับคนที่ขี้เกียจอ่านข้อความเกิน 1 บรรทัด

หากหาเลนส์ตัวเดียว เที่ยวทั่วโลก แนะนำตัวนี้เลย 24-120 mm. คุณภาพเยี่ยม คุ้มค่า คุ้มราคา เบา และเอนกประสงค์สุดๆ ครับ

[ภาพประกอบ: การนอนเต้นท์ท่ามกลางธรรมชาติเป็นช่วงเวลาพิเศษที่นักท่องเที่ยว และนักถ่ายภาพแทบทุกคนใฝ่ฝัน – ในภาพคือจุดชมวิวแห่งในบริเวณ Mt. Cook, New Zealand]

เลือกเลนส์ไปเที่ยว Tele Zoom ตัวไหนดี?

ด้วยความที่ชอบเลนส์ Prime เช่น 24, 35, และ 50 มม. เลนส์พวก f แคบๆ แทบไม่เคยมอง จนเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ออกเดินทางบ่อยๆ และเริ่มแบกอุปกรณ์ไม่ไหว ผมจึงเริ่มมองหาเลนส์ที่มีคุณภาพดี น้ำหนักเบา และเอนกประสงค์ เพื่อให้ผมได้มีพลังเหลือไปถ่ายภาพมากกว่าที่จะมาแบกเลนส์หนักๆ แล้วหมดพลังหามุมถ่ายภาพ ปลายปีก่อน ได้วางแผนจะไปเที่ยวพม่า ผมจึงคิดหนักว่าจะเลือกซื้อเลนส์ช่วงไหนเข้ามาประจำการดี ในใจตอนนั้นมีตัวเลือก 2-3 ช่วง ได้แก่ Nikon 24-70mm., 28-300 mm., 70 – 300 mm., และม้านอกสายตาที่ขณะนั้นมีขายมือสองกันเกลื่อนตลาด ก็คือ Nikon 24-120 mm

หลังจากอ่านข้อมูล สอบถาม และลองนำเลนส์ของเพื่อนไปลองถ่ายภาพดู สุดท้าย ผมตัดสินใจเลือกซื้อ Nikon 24-120 mm. ด้วยตอนนั้นคิดว่าเป็นเลนส์รุ่นใหม่ มี VR มี Nano ราคาไม่แรง ใช้แล้วไม่ชอบ จบทริปมาขายทิ้งก็ขาดทุนไม่มาก และช่วงนั้นเห็นคนปล่อยเลนส์ตัวนี้เยอะมาก จากการถอดขายจากชุด Kit ของ Nikon D750 กับค่าตัวที่ได้มาตอนนั้น 25,000 บาท ถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับราคาของใหม่ที่สามหมื่นกลางๆ ผมมีโอกาสได้ใช้เลนส์นี้ในทริปพม่าไม่มากนัก ภาพส่วนใหญ่ประกบกับกล้อง Nikon D810 แล้วยิงจากในรถบัส แต่พอลงรถเพื่อเข้าวัดวาอารามที่นั่น มักจะใช้เลนส์ 14-24 mm. มากกว่า รูปที่ถ่ายได้จึงมีไม่มาก

จนมาถึงทริปเที่ยวประเทศชิลี และอาร์เจนตินา เมื่อต้นเดือนเมษายน คราวนี้ ต้องมีเดินเขา น้ำหนักเป็นเรื่องสำคัญ ผมจึงเลือกเลนส์ 24-120 mm. ติดตัวไปด้วยโดยไม่ลังเล ในใจคิดว่า ภาพหลักคงมาจากเลนส์ Zeiss 15 mm. ที่ใช้อยู่ ส่วนเลนส์ตัวนี้เอาแค่เก็บบรรยากาศทั่วไป และนั่นก็เป็นความคิดที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง เพราะภาพส่วนใหญ่ในทริปนี้ กว่า 80% มาจากเลนส์ม้านอกสายตาตัวนี้ 24-120 mm. ที่หนักเพียง 7 ขีด (*เบากว่า 28-300 เกือบขีด) มันเยี่ยมจนอยากเขียน Review เพื่อป่าวประกาศให้โลกรู้ ตั้งแต่อยู่บนเครื่องบินขากลับเลยด้วยซ้ำ

ที่ระยะ 24 mm. ก็กว้างพอที่จะเก็บวิวเมือง El Chalten คู่กับไฟรถและแสงดาว และ f ตั้งต้นที่ 4.0 ก็ไม่เป็นอุปสรรคหากต้องการถ่ายภาพดาวหมุน

ภาพนี้ถ่าย่ที่ : f/5.6, 65 sec., iso 100

น้ำตกสวยๆ หน้า Fitz Roy ยิงจากระยะ 24 mm. เปิดหน้ากล้องนาน 0.5 วินาที ที่ f/11.0, iso 64 WB auto

ต้องออกตัวตรงนี้ก่อนที่จะอ่านกันต่อไป ผมไม่ใช่มืออาชีพที่วัดความคม/ความชัดของเลนส์ในระดับ Pixels แบบขอบชนชอบ ดังนั้นผมจะข้ามข้อมูลวุ่นวายเรื่องสเปคของเลนส์ไป (ซึ่งเราสามารถหาอ่านได้มากมายใน Internet) ผมจะขอนำเสนอด้านความรู้สึกต่อการใช้งานและภาพที่ได้แทนครับ (ทั้งจากที่ตกแต่งภาพมาแล้ว และภาพดิบจากกล้อง)

จากข้อมูลที่ได้อ่านมา Nikon 24-120 mm. ตัวใหม่นี้มีคุณภาพดีกว่ารุ่นก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด แม้กูรูนักถ่ายภาพหลายท่านจะยก 28-300 mm. ว่าสะดวกและเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า แต่ผมชอบมุม 24 mm. ที่กว้างกว่า 28 mm. พอสมควร อีกทั้งภาพส่วนใหญ่ใน HDD ที่เคยถ่ายมา มักจะถ่ายที่ระยะไม่เกิน 150 mm. ทำให้ตัวเลือก 24-120 mm. จึงเหมาะสมกับสไตล์การถ่ายภาพของผมเป็นอย่างมาก แต่หากระยะที่ถ่าย 120 mm. นั้นไม่พอ ผมก็จะนำมา Crop ในภายหลัง เพราะไฟล์จากกล้อง D800e ที่ใช้ สามารถ Crop ภาพเจาะเข้าไปได้สบาย แม้จะไม่เท่ากับใช้เลนส์ Tele ดึงเข้ามา ก็พอถูไถครับ

คุณภาพโดยรวม

เลนส์ตัวนี้คมในระดับที่รับได้ครับ โดยเฉพาะ f5.6 ขึ้นมานี่ เหลือกินเหลือใช้ ส่วนที่ f4.0 หากโฟกัสเข้านี่ก็คมหายห่วง แต่ไม่ถึงขนาดที่ว่า “คมขอบชนขอบ” หรอกนะครับ มุมขอบภาพมีฟุ้งนิดหน่อย ไม่ Zoom 100% คงไม่เห็นอะไร และยิ่งซื้อกล้อง ซื้อเลนส์มาเพื่อถ่ายภาพลง Website, Social Networking ด้วยแล้วไม่ต้องพูดถึง  การบวมของภาพก็แทบไม่มีให้เห็นครับ ระยะ 24mm. ที่ถ่ายออกมา มีบวมพอสมควร ส่วนระยะที่ไกลกว่านั้น เช่น ที่ 28-35 mm. ดีขึ้น ไม่ค่อยเห็นอาการบวมแล้วครับ ส่วนการเกิดขอบมืดเมื่อเปิด f  กว้างสุดก็มีบ้างเล็กน้อยครับ ผมถือว่าเป็น Character ปรกติของเลนส์ กด Auto แก้ไขภาพใน ACR ทีเดียวหายหมด ไม่ใช่ประเด็นอะไรครับ

จากที่ถ่ายภาพด้วยเลนส์ตัวนี้มา 20 วันเต็มๆ ที่ทริป Patagonia คุณภาพของเลนส์ในเรื่องของความคม ผ่านสบายๆ ครับ นอกจากนี้ ความเร็วในการโฟกัสก็จัดว่าเร็วและแม่นกว่า 28-300 mm. ที่เคยลอง  โดยเฉพาะสำหรับคนที่ใช้แต่เลนส์มือหมุนแบบผม ถือว่าเลนส์ตัวนี้โฟกัสไวมากๆ  กดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่ง เลนส์หมุนติ้วๆ วิ่งเข้าจุดโฟกัส ไวจริงๆ ถ่ายด้วยเลนส์ 24-120 mm. จนลืมเจ้า Carl Zeiss 15 mm. ที่นอนขดตัวในกระเป๋ากล้องไปเลย

สุดกระบอก 120 mm. คมจัดขอบชนขอบที่ f/8.0, 1/250 sec., iso 64 VR on

ข้อเสีย

ขอติเรื่อง Hood พลาสติก (HB- 53) ที่ดูไม่ค่อยหล่อ แฉกของเลนส์ไม่งามเท่าที่ควร (แต่ก็ดีกว่า Nikon 16-35 mm. มากโข) และการปรับระยะเลนส์ที่ยื่นยาวออกมาด้านนอก ทำให้เวลาที่หมุนมาที่ระยะ 120 mm. มันยาวไปหน่อย ส่วนอีกประเด็นคือ อยากให้มีวงแหวนปรับรูรับแสงบนกระบอกเลนส์ เข้าใจว่าเป็นเลนส์ที่ออกแบบมากับกล้อง Digital แต่เพราะผมมีกล้องฟิล์มของ Nikon หลายตัว ก็รู้สึกอยากได้เลนส์ตัวนี้ไปใช้กับกล้องฟิล์มได้ครับ

ในเรื่องระบบกันสั่น + ตัวเคลือบ Nano สรุปสั้นๆ ได้ว่า ของเค้าดีจริงๆ ระบบกันสั่นทำหน้าที่ได้ดีมากครับ ผมใช้ยิงภาพด้วยระยะ 120 mm. โดยใช้ Shutter speed เพียง 1/30 – 1/60 sec. ก็ได้ภาพที่ชัด แต่จริงๆ อยากแนะนำให้เปิด และเพื่อความมั่นใจว่าจะไม่พลาด Shot สำคัญ ยังคงแนะนำให้เปิดที่ 1/125 + sec. ขึ้นไปจะดีที่สุดครับ ส่วนการยิงภาพตามแสง ย้อนแสง ยิงสวนพระอาทิตย์ ภาพที่ออกมาก็สดใส สีฟ้า สีเหลือง สีเขียวที่ได้จากเลนส์ สดใสสมจริง เป็นธรรมชาติ และไม่ค่อยมีปัญหาแสงฟุ้ง แสงแฟลร์มากนักครับ

ข้อแนะนำในการใช้เลนส์ 24-120 mm.

ใส่ Hood เสมอ เพื่อป้องกันแฟลร์ที่อาจเกิดขึ้นจากการยิงย้อนแสง

หาฟิลเตอร์ CPL ขอบบาง หน้า 77 mm. มาใส่แทนฟิลเตอร์ UV นอกจากช่วยปกป้องผิวเลนส์แล้ว ยังช่วยตัดแสงสะท้อน ทำให้สีฟ้าสดขึ้น และลดแสงลงได้ 1-2  stops

แม้การถ่ายภาพที่ f กว้างสุดของเลนส์ตัวนี้จะมีคุณภาพที่รับได้ แต่เมื่อเราลดรูรับแสงลงจาก f4.0 (กว้างสุดของเลนส์ตัวนี้) ไปที่ f5.6 คุณภาพของภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน

การถ่ายภาพที่ระยะ 100+ mm. บนกล้อง FF ที่มี Sensor รับภาพขนาดใหญ่ เช่น Nikon D800, D810 แนะนำให้ใช้ค่า Shutter speed ขั้นต่ำที่ 1/250 sec.

เมื่อตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องเพื่อลาก Shutter speed อย่าลืมปิด VR function บนเลนส์นะครับ

เมื่อประกบกับกล้องตัวคูณ กลายเป็นระยะสังหารของ Street ที่ผมชอบเลยคือช่วง 35 – 180 mm. ยิงภาพกันสนุกเลย

ข้อแนะนำสุดท้าย หากใครยังไม่ได้เป็นเจ้าของเลนส์ตัวนี้ ผมขอให้รีบไปสอยเลนส์มือสองมาเก็บด่วนๆ ราคาตอนนี้ต่ำมากๆ เห็นขายกัน 19-20k ถือว่าถูกมากจริงๆ คุ้มค่า คุ้มทุกสตางค์เลยครับ

สัตว์พื้นเมือง Guanaco ยิงที่ระยะ 100 mm. f/5.6, 1/750 sec., iso 80 VR on

Previous
Previous

บันทึกข้อควรรู้ “การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย”

Next
Next

ข้อคิด…เลือกเลนส์ถ่ายภาพ Landscape