บันทึกข้อควรรู้ “การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย”

ทุกอย่างมีราคาของมัน ขอให้จำให้ดี ภาพถ่าย วิดีโอ บน Internet ล้วนมีเจ้าของ อย่ามโนว่า “มันฟรี” แล้วดึงมาใช้งานเชียว

กรณีถูกละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเกิดขึ้นบ่อยมาก ทั้งกับคนใกล้ตัว และกับตัวเอง ย้อนกลับไปกลางปีก่อน มีบริษัทหนึ่งนำภาพถ่ายของผมไปใช้ทางการค้า โชคดีมีน้องที่รู้จักแจ้งเบาะแส จนนำไปสู่การแจ้งความ ปรึกษาทนาย เจรจากับตัวแทนบริษัท และจบลงด้วยการได้รับค่าชดเชยจากการละเมิดฯ จากนั้นก็ได้ยินเรื่องลักษณะนี้บ่อยครั้ง ทั้งถูกละเมิดภาพถ่าย หรือไปละเมิดภาพของคนอื่น จึงอยากเขียนข้อมูลและข้อแนะนำ เพื่อเป็นประโยชน์ในภายหลัง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงศัพท์ สำนวนทางกฎหมาย อีกทั้งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายใดๆ จึงขอเขียนสรุปเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจกัน หากต้องการทราบตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนขึ้น สามารถเข้าไปอ่าน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ครับ

สรุปความ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องกับช่างภาพ

  • มีเป้าหมายคุ้มครองเจ้าของผลงานทุกประเภท ครอบคลุมภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว (เช่น vdo, timelapse) โดยคนที่ละเมิดนั้น อาจเป็นการนำไปใช้แอบอ้าง ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลงเป็นผลงานตัวเอง เช่น ลบลายน้ำ ตัดครอปภาพทิ้ง (โทษปรับ 1 หมื่น – 1 แสน) หรือนำไปใช้เชิงการค้า เช่น เอาภาพคนอื่นที่หามาได้จากอินเตอร์เน็ท เช่น Google, Flick, 500px.com ไปใช้ประกอบ website เพื่อขาย/โฆษณาสินค้าบริการ (ปรับตั้งแต่ 5 หมื่น – 4 แสนบาท และ/หรือจำคุกนาน 3 เดือน – 2 ปี) และหากปรากฎหลักฐานว่ากระทำโดยจงใจหรือมีเจตนาละเมิดฯ ศาลมีอำนาจสั่งปรับเพิ่มขึ้นไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่ระบุไว้สรุปสั้นๆ ป้องกันตนเองจากการไปละเมิดสิทธิ์ ก็คือ ไม่แอบอ้าง (เป็นของตน), ต้องขออนุญาตเจ้าของผลงาน และให้เครดิตเสมอ

  • ส่วนใครต้องการนำภาพไปใช้เพื่อการค้า แนะนำอย่างตรงไปตรงมา จ่ายเงินซื้อเถอะครับ ภาพไม่แพง แต่ค่าปรับแพงกว่ามาก เช่น ซื้อภาพไปประกอบ Website นำเที่ยว ใบนึงอาจจะหลักร้อย – หลักพันต้นๆ ขึ้นกับขนาดภาพและลักษณะการใช้ เช่น ภาพใหญ่ๆ อาจแพงขึ้น หรือซื้อผ่านตัวแทนจะแพงกว่าซื้อตรงจากเจ้าของภาพ ชอบภาพไหน ก็ติดต่อตรงไปเลยครับ ช่างภาพดีใจอยู่แล้วที่เราติดต่อไป

  • ทุกอย่างมีราคาของมัน ขอให้จำให้ดี ภาพถ่าย วิดีโอ บน Internet ล้วนมีเจ้าของครับ อย่ามโนว่า “มันฟรี” แล้วดึงมาใช้งานเชียว ไอ้ข้อความที่มักบอกว่า “รูปที่โพสต์ใน Facebook (หรือ Social networking อื่นๆ) เป็นพื้นที่สาธารณะ ใครจะเอาไปใช้อะไรก็ได้” มันเกรียนแบบเข้าข้างตัวเองเกินไปนะครับ บอกได้เลยว่า ผิดเต็มๆ หรือใครที่อยากใช้ของฟรี แล้วแอบไปเอาภาพจาก Website ต่างประเทศมาใช้ฟรีๆ เตือนกันไว้ก่อนว่า ระวังถูกหวยแดก!! เดี๋ยวนี้มันเช็คกันง่ายมาก ใช้ Google image เช็คดูก็พอรู้ ว่าภาพใบนี้มันไปโผล่ที่ไหนบ้าง ผมเองก็มักสุ่มเช็คภาพตัวเองจาก Google เหมือนกัน โดยไปที่ https://images.google.com แล้วเลือก search by image (ที่มีไอคอนรูป “กล้อง”) ครับ

กรณีศึกษาน่าสนใจ: น้องกล้า (นามสมมุติ) ทำงานเป็นฝ่ายออกแบบ เผลอนำภาพที่ค้นเจอจาก Website มาใช้ จนลูกค้านำไปโฆษณานำเที่ยว งานเข้าเมื่อเจ้าของภาพที่เป็นช่างภาพฝรั่งมาเจอ จึงแจ้งความและจะแต่งตั้งทนายในไทยให้ดำเนินการฟ้องร้อง พอทราบข่าว … น้องกล้าจึงอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ต้องรับผิดชอบ ก็รีบติดต่อทางอีเมล์เพื่อขอโทษ ฝรั่งคนนั้นก็ตอบกลับมาสั้นๆ “คำขอโทษ ชดใช้ความผิดที่ละเมิดไปแล้วไม่ได้” โดยแนะนำให้น้องกล้าเข้าไปกดซื้อภาพของเค้าที่ขายใน online stock เพื่อยุติปัญหาการละเมิดที่เกิดขึ้น พร้อมกับส่ง Link การซื้อภาพนั้นมา คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 15,000 บาท! ทั้งๆ ที่ภาพที่น้องกล้าไปละเมิดนั้น หากติดต่อกับเจ้าของภาพเพื่อขออนุญาติใช้งานให้ถูกต้อง หรือติดต่อช่างภาพคนอื่นที่มีภาพมุมเดียวกัน แสงสีไม่ต่างกันมากนัก ราคาที่ต้องจ่ายถูกกว่าเกินครึ่ง

จุดนี้ผมมองเป็นความโชคดีของน้องกล้า ที่เงินเดือนหายไปแค่ครึ่งเดือน แถมฝรั่งยังเรียกค่าเสียหายไม่สูงนัก … เพราะหากฟ้องร้องกันไป น้องกล้าคงต้องจ่ายค่าบทเรียนนี้ ในราคาแสนแพง! เพราะจากกรณีที่ผ่านมาของคนใกล้ตัว ต่างได้รับค่าชดเชยระหว่าง 3 หมื่น – 1 แสนบาทต่อการละเมิดภาพถ่าย 1 ใบ (กรณีไกล่เกลี่ยไม่ฟ้องร้อง)

 

คำถาม:

แชร์ภาพถ่ายคนอื่นให้กันทาง Faecbook หรือกลุ่ม Line ตรงนี้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่?

คำตอบ:

การแชร์ให้กันโดยไม่มุ่งหวังประโยชน์/ผลตอบแทนในการใช้งาน เข้าข่าย “FAIR USE”

การนำภาพ/วิดีโอ ไปส่งต่อๆ กันใน Social networking เช่น การส่งภาพดอกไม้ทักทายกัน การส่ง Link หรือแชร์วิดีโอไปให้เพื่อนทาง Line ที่ไม่ได้ทำเพื่อการค้า และไม่ได้ทำให้เจ้าของภาพได้รับความเสียหาย ก็อาจมองว่าเป็นงานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) จะไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ครับ อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำควรอ้างอิงที่มา หรือให้ “เครดิต” แก่เจ้าของผลงานทุกครั้ง จะดีที่สุดครับ

 

สำหรับใครที่เป็นเจ้าของภาพ แล้วพบว่า มีภาพของเราถูกละเมิดใน Website เพื่อการค้า ผมขอสรุปขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้ครับ:

ขั้นตอนการเตรียมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย กรณีถูกละเมิดสิทธิ์ในภาพถ่าย

1. เก็บข้อมูลภาพที่ถูกละเมิดให้มากที่สุด

Save หน้า Website, Capture หน้าจอ, และ Save – Source code ของ Website นั้นเก็บไว้ (บางทีการละเมิดอาจเกิดใน Social Networking อื่น เช่น Instragram, Line ดังนั้น แนะนำให้บันทึกทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอไว้ แนะนำให้แสดง วัน-เดือน-ปี ที่บันทึกข้อมูลไว้ด้วยนะครับ)

2. หาข้อมูลผู้ละเมิด (หรือผู้รับผิดชอบ)

เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ หากคู่กรณีเป็นหน่วงงาน หรือบริษัท ให้หารายชื่อเจ้าของบริษัท, ผู้จัดการการตลาด หรือผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด (อาจมีชื่อเรียกต่างกันไป) หากไม่แน่ใจให้ติดต่อเข้าไปในบริษัทนั้น เพื่อสอบถามถึงผู้รับผิดชอบในส่วนการสื่อสารการตลาด แล้วบันทึกรายละเอียดไว้ให้เรียบร้อย (แต่อย่าเพิ่งแจ้งข้อมูลการละเมิดให้คู่กรณีทราบ จนกว่าจะแจ้งความ และปรึกษาทนายแล้วเสร็จ)

3. แจ้งความ (หากต้องการดำเนินคดีอาญา) พร้อมติดต่อคู่กรณี

ปรกติ การฟ้องละเมิดฯ ทางแพ่ง (เพื่อรับค่าชดเชยความเสียหาย) ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความครับ สามารถรวบรวมหลักฐานแล้วยื่นคำฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาลแพ่งได้เลย แต่หากต้องการเตรียมฟ้องทั้งทางแพ่ง + อาญา ควรไปแจ้งความเอาไว้ก่อน โดยให้พิมพ์ ถ่ายสำเนา หรือคัดลอกหลักฐานทั้งหมดไว้ แล้วนำหลักฐานไปแจ้งความดำเนินคดี ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน จากนั้น ติดต่อทนายความ เพื่อให้ทราบข้อมูล พร้อมติดต่อไปยังคู่กรณีให้ทราบถึงการละเมิดฯ ที่เกิดขึ้น โดยให้หยุดการละเมิดฯ ทันที พร้อมชำระค่าเสียหาย

ในขั้นตอนนี้ ควรระบุค่าเสียหายที่ต้องการ เพื่อให้เรื่องต่างๆ ยุติก่อนดำเนินการฟ้องร้อง โดยควรกำหนดให้ดำเนินการภายใน 7-15 วัน หากพ้นจากนั้นควรดำเนินการขั้นต่อไปทันที (อายุความการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ทางแพ่งคือ ภายใน 3 ปี นับแต่ทราบการละเมิด หรือ 10 ปี นับแต่การละเมิด แต่อายุความการฟ้องทางอาญา (ฟ้องให้ติดคุก) มีเพียง 3 เดือนนับแต่ทราบการละเมิด เพราะความผิดส่วนนี้เป็นความผิดต่อส่วนบุคคลที่สามารถยอมความกันได้ จึงกำหนดอายุความไว้ค่อนข้างสั้นครับ)

4. เมื่อพ้นกำหนด หากไม่สามารถเจรจากันได้ ควรแต่งตั้งทนาย พร้อมมอบอำนาจให้ดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล และสุดท้าย อาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในภายหลังต่อไป

ก่อนจบ ขอทิ้งท้ายไว้นิดนึง 

  • การ embed วิดีโอของ Youtube มาใส่ใน Website เรา หมิ่นเหม่ผิดลิขสิทธิ์นะ ควรทำภาพนิ่งแล้วใส่ Link ไปยังวิดีโอนั้น จะปลอดภัยกว่า

  • หากจะใช้ภาพ หรือวิดีโอ จาก Internet ที่ไม่ใช่การค้า ควรลองหาต้นกำเนิดของภาพนั้นก่อน เพื่อขออนุญาติ และให้เครดิตกับเจ้าของภาพ

  • เมื่อเจอภาพที่ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ควรพิจารณา “เจตนา” เป็นที่ตั้งก่อน เพื่อดูว่าสมควรเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดฯ นั้นหรือไม่ อย่างไร?

  • อย่าเพิ่งให้คู่กรณีที่ละเมิดภาพถ่ายของเรารู้ตัว ก่อนจะเก็บหลักฐาน และปรึกษาทนายแล้ว

  • ระดับของค่าเสียหายที่ควรได้รับจากการละเมิดฯ แต่ละกรณีไม่เท่ากัน ต้องพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ประกอบ เช่น เจตนา ระยะเวลาการเผยแพร่ จำนวนผู้ชมที่เห็นงานชิ้นนั้นๆ โดยเราต้องทำการบ้านให้ดี ด้วยการเก็บข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วปรึกษาทนายที่มีประสบการณ์ในด้านนี้อย่างถี่ถ้วน

  • หากเราต้องการเรียกร้องค่าละเมิด เช่น คู่กรณีนำภาพไปใช้เชิงพาณิชย์ แล้วไกล่เกลี่ยกันลงตัวที่เงินก้อนนึง ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า เงินก้อนนั้นจะต้องจ่ายภาษี เช่น หากเราพอใจที่ค่าชดเชย 5 หมื่นบาท ขอให้แจ้งคู่กรณีเลยว่า ขอ Net ที่ 1 แสนบาทหลังหักภาษีแล้ว เพราะหากไม่ตกลงกันแบบนั้น เราจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย โดยขอเล่ากรณีของผมนะครับ เมื่อปีก่อน เกิดปัญหา คู่กรณีนำภาพไปใช้ แต่เป็นบริษัท จดทะเบียนในไทย แต่สนง. ใหญ่อยู่ ตปท. คุยกันไปมาหลายที หวิดๆ จะฟ้องอยู่แล้ว ถ้าไม่ติดว่าขี้เกียจขึ้นโรง ขึ้นศาล สุดท้ายไกล่เกลี่ย ตัวแทนในไทยยอมจ่ายค่าชดเชยกรณีละเมิดฯ ภาพถ่ายของผม โดยลืมคุยกันเรื่องภาษี เห็นบอกแค่ว่าจะมีหักภาษีนิดหน่อย ไปๆ มาๆ เงินถูกโอนเข้าบัญชี โดยมียอดเงินหายไป 15% !! พอทักท้วงไป ฝ่ายบัญชีของบริษัทก็อ้างเรื่องภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ตอนนั้นก็เซ็งเหมือนกัน แต่ไม่ไหวหล่ะ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่ก็อยากจะเขียนเตือนเป็นอุทาหรณ์นะครับ

ข้อมูลอ้างอิง:

http://hilight.kapook.com/view/124327

http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000087816

http://topicstock.pantip.com/camera/topicstock/2010/01/O8816260/O8816260.html

http://www.it24hrs.com/2015/question-copyright-online/

http://www.dek-d.com/board/view/2188121/

Previous
Previous

คำถาม-คำตอบ น่ารู้ เพื่อ “ป้องกัน” การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย

Next
Next

เลนส์ชิ้นโปรด : Nikon 24-120 mm. f/4 Nano