คำถาม-คำตอบ น่ารู้ เพื่อ “ป้องกัน” การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย

… สิ่งหนึ่งที่ผู้ละเมิดมักเรียกร้องหาความเป็นธรรม ก็คือ ทำไปโดยไม่ตั้งใจ และได้ลบภาพที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวออกไปจากสื่อต่างๆ ทั้งหมดแล้ว … ดังนั้นจึงไม่ควรรับผิด!!

จากบทความตอนที่แล้วเรื่อง “ภาพถ่ายกับการละเมิดลิขสิทธิ์” ก็มีผลตอบรับทั้งในทางบวก ที่มีคนเข้าใจสิทธิของผู้ใช้งานภาพถ่าย และลิขสิทธิ์ในภาพถ่ายของช่างภาพมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดฯ และก็มีผลตอบรับในทางลบ จากบางคนที่ยังเข้าใจผิดว่า “ภาพ/วิดีโอจาก Internet คือของฟรี เพราะมาแชร์ในพื้นที่สาธารณะ หาก (ช่างภาพ) ไม่ต้องการให้ (คนชมภาพ) นำไปใช้ต่อ … ช่วยกรุณาเก็บไว้ดูคนเดียวที่บ้าน อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปด้วยเลย !?!

ซึ่งจุดนี้เองผมก็อยากอธิบายเพิ่มเติมว่า

ในฐานะช่างภาพคนหนึ่ง การที่มีคนแชร์ภาพ หรือนำภาพส่งต่อกัน เช่น ภาพทุ่งดอกไม้ ที่มีข้อความสวัสดี ก็ถือเป็นความดีใจของตนเอง ที่มีคนชื่นชมผลงาน สิ่งเหล่านี้เราคงไม่ไปเรียกร้องเก็บเงินค่าละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะถือเป็นการทำไปด้วยความสุจริต ไม่มีผลประโยชน์ทางพาณิชย์ ไม่ดัดแปลง แก้ไข ใส่ลายน้ำตนเองเพิ่มเติม และการแชร์ภาพดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ช่างภาพเสียหาย ขอเพียงให้เครดิต หรือแชร์ภาพโดยตรงจากผมไป แค่นี้ก็นึกขอบคุณแล้วครับ เราจะเรียกกรณีเหล่านี้ว่า งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair use) นำไปใช้ได้ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดครับ แต่สำหรับกลุ่มคน/ร้านค้า online/หรือบริษัทต่างๆ ที่แอบนำไปใช้เชิงพาณิชย์ โดยไม่มีการขออนุญาตจากเจ้าของผลงาน ตรงนี้ผิดเต็มๆ ในด้านการละเมิดฯ ครับผม

การเขียนบทความเรื่อง “ละเมิดลิขสิทธิ์ถ่ายภาพ” นี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ช่างภาพมาจ้องจับผิดคนใช้งาน Interent ทั่วๆ ไป เพราะอย่างไรการแบ่งปันเนื้อหาดิจิตอลถือเป็นการส่งเสริมสังคมทางอ้อมในหลายๆ ด้าน อาทิ การแชร์ภาพดอกไม้สวยๆ ให้คนที่คุณรักทำให้เกิดความอบอุ่นในมิตรภาพ การนำสถานที่ท่องเที่ยวไปประกอบการทำรายงาน หรือการนำเสนอของนักศึกษาก็เป็นการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ดังนั้น ผมสนับสนุนเต็มที่ในการเอื้อเฟื้อแก่กันระหว่างช่างภาพและผู้ใช้งานภาพนะครับ โดยอยากให้มองบทความนี้ในลักษณะ ร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งป้องกันการละเมิดภาพโดยไม่ตั้งใจของผู้ใช้งาน และช่วยรณรงค์ให้มีการใช้งานภาพถ่าย วิดีโอให้ถูกต้อง ไม่เอารัดเอาเปรียบ หรือละเมิดลิขสิทธิ์ผู้สร้างสรรค์ผลงาน อันจะทำให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้น และช่างภาพจะได้มีกำลังใจในการถ่ายภาพสวยๆ ต่อไปครับ

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการละเมิด/ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย และเรื่องน่ารู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผมขออนุญาตเขียนในลักษณะการถาม-ตอบ  (Q & A) ดังนี้ครับ:

  • มีหลายกรณีมากที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ โดยผมขอสรุปประเด็นที่มักเกิดปัญหาการละเมิดฯ ดังนี้:

    • ใช้ภาพถ่ายนั้น หรือบางส่วนของภาพในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ได้ซื้อภาพจากตัวแทน/เจ้าของภาพ

    • แอบอ้างภาพถ่ายนั้นเป็นของตน หรือทำให้คนอื่นเชื่อว่า ภาพนั้นเป็นของตนเอง แม้จะไม่ได้นำไปใช้เชิงพาณิชย์ก็ตาม

    • นำภาพไปกระจาย จ่ายแจก ขายต่อ รวมถึงผลิตซ้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ

    • ซื้อภาพถ่ายจากตัวแทน/เจ้าของภาพ แต่ใช้นอกเหนือจากเงื่อนไขการใช้ภาพที่ได้ตกลงกันไว้ เช่น ติดต่อซื้อเพื่อใช้ในการพิมพ์โบรชัวร์ ระบุจำนวนไม่เกิน 500,000 ชุด แต่นำไปตีพิมพ์ที่ 1 ล้านชุด ถือว่าผิดเงื่อนไขการใช้งานแบบตั้งใจ (ความผิดประเภทนี้ ถือเป็นการตั้งใจ มีโอกาสถูกลงโทษทางแพ่ง + อาญา คูณสอง!!)

    • ใช้ภาพฟรี ที่เจ้าของภาพอนุญาติ ภายใต้เงื่อนไข Creative Common Attribution-NoDerivs ที่ระบุว่าห้ามดัดแปลง แก้ไขภาพ แต่ภายหลังพบว่า มีการดัดแปลง แก้ไข เพิ่มเติม (เช่นลายน้ำของตนเอง) ลงไปในภาพ แม้จะมีการให้เครดิตแก่เจ้าของภาพ ก็ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย (มักพบบ่อยมากใน Facebook ที่เจ้าของ Page นำภาพจากบุคคลอื่นมา upload (รวมถึงใส่ลายน้ำของ Page) แล้วเนียนๆ ใส่เครดิตให้เจ้าของภาพ

    • เจ้าของภาพเอง ก็อาจละเมิดลิขสิทธิ์เสียเอง โดยเกิดขึ้นในลักษณะที่ว่า เราได้ให้สิทธิ์การจำหน่ายภาพแก่ตัวแทนภาพไปแล้ว เช่น Gettyimage.com แต่เมื่อมีผู้ติดต่อซื้อภาพกับเราโดยตรง เราก็จำหน่ายเสียเอง ซึ่งความเป็นจริง เราต้องแจ้งให้ลูกค้า ไปซื้อภาพจาก Gettyimage

  • คนจำนวนมากคิดแบบนี้ และนำภาพไปใช้โดยคิดว่าภาพบนพื้นที่สาธารณะอย่าง Internet นั้น น่าจะฟรี แต่ความจริง ถือเป็นตรรกะที่ผิดโดยสิ้นเชิงครับ ของฟรีไม่มีในโลก ทุกอย่างล้วนมีต้นทุน และให้คิดเสมอว่า “ทุกๆ อย่างบน Internet มีเจ้าของทั้งนั้น รวมถึงภาพถ่าย และวิดีโอด้วย”

    ผมชอบประโยคที่ว่า

    “Copyright is automatically granted to the creator of any image”

    แปลสั้นๆ

    “ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที่ ที่ช่างภาพกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ”

    ดังนั้น แม้เราจะใช้ Google ค้นหาภาพ แล้วพบว่า Google ใจดี แสดงผลค้นหาภาพที่ต้องการหลายร้อยหลายพันใบ … แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะนำภาพเหล่านั้นไปใช้เชิงพาณิชย์ หรือนำไปดัดแปลง แก้ไขได้ เราจำเป็นต้องได้รับอนุญาติ หรือซื้อภาพจากเจ้าของภาพ/ตัวแทนขายภาพ ก่อนเสมอ

    สิ่งหนึ่งที่ผู้ละเมิดมักเรียกร้องหาความเป็นธรรม (แต่ฝ่ายเดียว) ก็คือ ทำไปโดยไม่ตั้งใจ และได้นำภาพที่ละเมิดออกไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรรับผิด! … ผมจึงอยากชี้ชัดๆ แบบนี้ครับ คำขอโทษ หรือการแก้ไขหลังจากกระทำผิด ไม่สามารถชดใช้ความผิดที่ก่อไปแล้วได้ กรณีที่ละเมิดส่วนมากจะโดนปรับมาก-น้อย ตามการไกล่เกลี่ยกับเจ้าของภาพ โชคดีก็ไม่โดนปรับหรือโดนน้อย (หากเจ้าของภาพใจดี) แต่ไม่ควรเอาเหตุผลข้างต้นมาเป็นข้อสรุปว่าจะไม่รับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้นนะครับ

  • เสี่ยงมากที่จะใช้ภาพที่หาได้จาก Internet มาประกอบบทความต่างๆ ของ Blogger นะครับ แม้ว่าเราจะไม่ได้นำภาพมาใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือไม่มีรายได้จากบทความที่นำเสนอผ่าน Blog … แต่ก็ผิดที่เราไม่ได้ให้เครดิต หรือขออนุญาตจากเจ้าของภาพให้ถูกต้องเสียก่อน รวมถึงการใช้ภาพในบทความ อาจทำให้คนที่เข้ามาอ่านบทความนั้น เข้าใจผิดคิดว่า เราคือเจ้าของผลงานถ่ายภาพชิ้นนั้น (เช่น อาจจะมีการพิมพ์ชื่อ website บนภาพ, logo, หรือเขียนตัวอักษรบางอย่าง) ซึ่งทำให้ภาพที่ออกมา เราละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเต็มๆ

    ดังนั้น ทางที่ดี ขอแนะนำให้หาภาพถ่ายที่ระบุเงื่อนไขการใช้ภาพแบบ Creative common Licenses ที่อนุญาติให้ใช้ฟรี แต่ต้องให้เครดิตแก่เจ้าของภาพ (ซึ่งยังคงมีรายละเอียดการใช้งานอีกเล็กน้อย ให้ศึกษาเพิ่มเติม) หรือควรซื้อภาพจากตัวแทนจำหน่ายภาพ หรือติดต่อขออนุญาติใช้ภาพจากเจ้าของภาพทุกครั้ง ก่อนที่จะนำภาพดังกล่าวมาประกอบบทความ … การซื้อภาพไม่ได้แแพงอย่างที่คิด โดยเราสามารถนำภาพมาประกอบบทความได้ (ทั้งในเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม) ในขนาดไม่เกิน 800 x 600 px โดยประมาณ (ซึ่งตัวแทนจำหน่ายภาพแต่ละแห่ง จะกำหนดขนาดภาพสูงสุดที่จะแสดงใน Webiste แตกต่างกันไปครับ)

  • แน่นอนว่าช่างภาพ หรือตัวแทนขายภาพ จะดำเนินการฟ้องร้องกับเจ้าของธุรกิจ และ/หรือผู้จัดการฝ่ายการตลาด/สื่อสารการตลาดก่อน แม้ความจริงเราจะจ้างคนอื่นให้ดำเนินการเรื่องนี้ก็ตาม ดังนั้นก่อนเกิดปัญหา เราควรมั่นใจว่า ภาพที่ใช้ในโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ ของบริษัทในทุกๆ สื่อ มีการขออนุญาติ หรือซื้อจากเจ้าของภาพ/ตัวแทนขายภาพอย่างถูกต้อง และครอบคลุม (พื้นที่การโฆษณา + สื่อที่ใช้ + ระยะเวลาที่ใช้งานภาพนั้นๆ) โดยเราต้องขอใบเสร็จการซื้อภาพจาก Freelance, Advertising Agency เพื่อตรวจสอบ และเก็บไว้เป็นหลักฐานเสมอ อย่าคิดว่า ไว้เกิดปัญหาค่อยตามเรื่อง เพราะบ่อยครั้ง คนที่ทำพลาดไว้ มักไม่อยู่จนถึงวันที่จะต้องรับผิดชอบ สุดท้าย คนซวยคือบริษัท ที่ต้องมาตามเรื่อง และจ่ายค่าปรับการละเมิดฯ ในภายหลัง

  • มี 3 ทาง คือ

    1) หาภาพฟรีจาก Free Public Domain:

    สิ่งสำคัญคือ ขอให้แยกความแตกต่างระหว่างภาพจาก Internet และภาพจาก Free public domain ออกจากกันนะครับ ภาพจาก Internet มีทั้งที่ใช้งานได้ฟรี และไม่ฟรี ส่วนภาพใน Free public domain นั้นสามารถใช้งานได้ฟรีภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันที่เจ้าของภาพอนุญาติไว้ โดยให้เลือกประเภทภาพแบบ Free to use, share, or modify, even commercially (อาจมีชื่อเรียกต่างกันไป ขอให้ศึกษาเพิ่มเติม) ซึ่งประเภทภาพดังกล่าวถือเป็นการให้สิทธิ์แบบ Creative Common licenses ครับ ตัวอย่าง Website ที่สามารถหาภาพมาใช้งานได้ฟรี**:

    https://images.google.com โดยต้องกำหนดระดับการค้นหาขั้นสูง แล้วเลือก Usage right: Free to use or share …

    http://www.freeimages.com

    https://www.flickr.com/commons

    https://commons.wikimedia.org/wiki/Main_Page

    https://picjumbo.com

    (Note**: แต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม แตกต่างกัน ขอให้ศึกษารายละเอียดจาก Agreement ของแต่ละ Website ด้วยนะครับ)

    2) ซื้อจากเจ้าของภาพโดยตรง:

    ในกรณีนี้เราจะได้ภาพที่ถูกใจเพื่อมาใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ แถมราคาซื้อภาพโดยตรงนี้จะถูกกว่าการซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย ซึ่งควรระบุขอบเขตการใช้ ประเภทสื่อ และระยะเวลาการใช้ให้ครอบคลุม แนะนำให้ติดต่อซื้อแบบปลอดค่าลิขสิทธิ์ (Royalty-free licensing หรือ RF) แต่หากเจ้าของภาพได้ให้สิทธิ์กับตัวแทนขายภาพไปแล้ว เราจะต้องไปซื้อผ่านตัวแทนขายภาพแทน

    3) ซื้อจากตัวแทนขายภาพ:

    อาทิ http://www.gettyimages.com, http://www.shutterstock.com เป็นต้น โดยแต่ละที่จะมีสิทธิ์ในการนำไปใช้แตกต่างกันขึ้นกับ “ประเภท” ที่สมัครไปครับ

  • การให้สิทธิ์ในการใช้ภาพแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (ฟรี) แต่ต้องระบุที่มา/เจ้าของภาพเสมอ (หรือให้ Credit นั่นเอง) โดยจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันตามการให้สิทธิ์ในการใช้แบบฟรีๆ ยกตัวอย่างเช่น

    • CC Attribution-NonCommercial-NoDerivs : ให้สิทธิ์ในการแบ่งปันกับเพื่อนๆ คนรู้จัก ที่ไม่มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ แต่ห้ามดัดแปลง แก้ไขภาพถ่ายนั้นๆ

    • CC Attribution-NonCommercial : กรณีนี้เหมือนข้อ 1 แต่ต่างกันที่ ผู้ใช้สามารถแก้ไข ดัดแปลงภาพนั้นๆ ได้

    • CC Attribution : ให้สิทธิ์แก่ผู้ใช้ทั้งการดัดแปลง แก้ไข รวมถึงการใช้ในเชิงพาณิชน์ ถือเป็น CC ที่ใจดีมากๆ เสมือนกับการขายลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้ใช้ แต่ไม่คิดตังค์

  • ผมขอยกกรณีตัวอย่างของการซื้อภาพจาก Shutterstock.com นะครับ ซื้อในคู่มือข้อตกลงการใช้งาน ระบุรายละเอียดเยอะแยะไปหมด จึงขอสรุปคร่าวๆ ดังนี้:

    หากเราสมัครซื้อภาพแบบมาตรฐาน (Standard License) เราสามารถนำภาพไปใช้ในงานโฆษณาแบบ online เช่น ภาพประกอบบทความ โฆษณาบน website โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ขนาดภาพต้องไม่เกิน 800x600px, สามารถนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์ วิดีโอ โฆษณา สื่อมัลติมีเดีย ที่มีงบการผลิตไม่เกิน 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในงานโฆษณาแบบ offline เช่น การพิมพ์ Posters ใช้บนหัวจดหมาย นามบัตร โบรชัวร์ พวกสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ แต่มีข้อแม้ว่าปริมาณการพิมพ์นั้นต้องไม่เกิน 500,000 ชุด

    หากเราต้องการพิมพ์เกินกว่านั้นควรสมัครซื้อภาพแบบเพิ่มเติม (Enhanced License) ที่ภาพถ่ายจะมีราคาแพงกว่าเดิม แต่ก็มีสิทธิ์ในการใช้ต่างๆ มากขึ้น

  • การซื้อขายภาพเพื่อนำไปใช้ต่อนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทที่สำคัญ คือ

    แบบจำกัดสิทธิ์การใช้งาน (Rights managed licensing ตัวย่อ RM)

    ที่จะระบุประเภทสื่อ, พื้นที่ที่จะใช้ภาพ (เช่น เฉพาะในไทยเท่านั้น) ที่ละเอียด เฉพาะเจาะจง และมีระยะเวลาใช้งานที่จำกัด เช่น 1 เดือน, 6 เดือน หรือ 1 ปี ข้อดีของการซื้อแบบนี้คือ จะได้ภาพที่มีราคาถูกกว่า

    แบบปลอดค่าลิขสิทธิ์ (Royalty-free licensing ตัวย่อ RF)

    เปิดกว้างให้ใช้งานภาพได้อย่างไม่จำกัด (ภายใต้เงื่อนไขการใช้งาน) ทั้ง online, offline, พื้นที่การกระจายข้อมูล และรวมถึงระยะเวลาที่ใช้ ที่ใช้งานได้ตลอดไป (Perpetual usage) ด้วยการซื้อเพียงครั้งเดียว

    ดังนั้น การซื้อภาพ ควรดูวัตถุประสงค์การใช้งาน หากใช้ชั่วคราว จำกัดเฉพาะสื่อ ควรเลือกแบบ RM แต่หากวางแผนใช้นานๆ ให้ครอบคลุมก็เลือกแบบ RF และแนะนำว่า การติดต่อเพื่อซื้อภาพจากช่างภาพ ควรระบุการใช้งานแบบ RF จะดีกว่า โดยอาจยึดราคาจาก Online Stock Photo เป็นราคาฐาน แล้วปรับลดตามความพอใจของทั้งสองฝ่าย

  • ตัวแทนจำหน่ายภาพแต่ละแห่งมีเงื่อนไขการใช้และมีข้อห้ามที่แตกต่างกัน แนะนำให้ศึกษาจากคู่มือการให้สิทธิ์ (License agreement – Terms of service) โดยผมขอสรุปภาพรวมที่มีลักษณะที่คล้ายกันคร่าวๆ ดังนี้

    • ห้ามนำไปใช้ในเชิงลามก อนาจาร หลวกลวง หมิ่นประมาท ใส่ร้าย ผิดศิลธรรม และผิดกฎหมายใดๆ

    • ห้ามนำไปเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าและตรายี่ห้อ

    • ห้ามนำภาพไปกระจาย จ่ายแจก ผลิตซ้ำ หรือขายสิทธิ์ต่อยังบุคคลอื่น

    • ห้ามนำภาพไปใช้ผิดประเภท เช่น หากภาพระบุว่าเป็นบทความข่าว (Editorial use only) ก็ห้ามนำภาพนี้ไปใช้เชิงพาณิชย์

Previous
Previous

บันทึกการซื้อ-การใช้ Tent ที่น่ารู้

Next
Next

บันทึกข้อควรรู้ “การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย”