บันทึกการซื้อ-การใช้ Tent ที่น่ารู้

การผจญภัยในป่าเขา ดูจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และน่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ แม้เราจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่การได้ไปใช้ชีวิตดิบๆ ในธรรมชาติกับผองเพื่อน ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษสุด และเป็นความฝันของใครต่อใคร รวมถึงตัวผมด้วยเช่นกัน ใครจะไปรู้ว่าอุปกรณ์เดินป่านั้น มีมากมายยิ่งกว่าการเลือก Application ใน App Store และอุปกรณ์ชิ้นสำคัญคงหนีไม่พ้นการเลือกซื้อถุงนอน (Sleeping bag) และเต้นท์ (Tent) เพราะด้วยขนาดที่ใหญ่ น้ำหนักมาก รวมถึงราคาค่อนข้างสูง อุปกรณ์สองชิ้นนี้จึงมีนัยสำคัญต่อน้ำหนักบนหลังอย่างเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่า หากเราต้องการ “ความเบาหวิว” ก็ต้องแลกมาด้วย “ราคาที่แสนโหด” ซึ่งหากเราไม่ได้มีแผนเดินทางท่องธรรมชาติบ่อยนัก หรือนานๆ ไปที ก็อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนกับถุงนอน และเต้นท์มากนัก แต่หากคิดการใหญ่ จะลงทุนกับสิ่งเหล่านี้เพื่อใช้ในทริปถ่ายภาพต่อๆ ไปที่จะตามมา ก็มีเรื่องต้องคิด …​ ก่อนตัดสินใจซื้อมากมาย

[ภาพประกอบ: การนอนเต้นท์ท่ามกลางธรรมชาติเป็นช่วงเวลาพิเศษที่นักท่องเที่ยว และนักถ่ายภาพแทบทุกคนใฝ่ฝัน – ในภาพคือจุดชมวิวแห่งในบริเวณ Mt. Cook, New Zealand]

ก่อนเลือกเต้นท์เพื่อนำไปใช้งาน ลำดับแรกที่ต้องพิจารณาก่อนคือ การขนย้ายเต้นท์เพื่อไปท่องเที่ยว หากท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ หรือจุดกางเต้นท์ไม่ไกลมากนัก เดินทางสะดวก น้ำหนักของเต้นท์จึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อ แต่หากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ (Backpacking) ปั่นจักรยานท่องเที่ยว หรือพายเรือ Kayak ที่ต้องแบกเต้นท์ติดตัวไปตลอด  น้ำหนักของเต้นท์ถือเป็นเรื่องสำคัญสุดๆ เลย และในช่วงต้นปี 2558 นี้ ผมมีแผนจะเดินทางแบกเป้ท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ จึงได้หาข้อมูลในการเลือกซื้อ-ใช้เต้นท์ ขนาดเล็ก เบาๆ สำหรับ 1-2 คน จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พนักงานขาย หรือข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังสนใจ จึงขอนำข้อมูลมาบันทึกไว้ให้ได้อ่านกัน ดังนี้ครับ:

เต้นท์ (Tent)

  • เต้นท์ที่วางขายในประเทศไทยมีหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อจะมีคุณภาพและราคาแตกต่างกัน เช่น เต้นท์ Karana เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่ที่ชอบการเดินป่า คุณภาพปานกลาง ราคาไม่แพง ขณะที่เต้นท์ MSR, Northface, หรือ MSR นั้น คุณภาพดี มีน้ำหนักเบา และราคาสูง

  • ทุกๆ ยี่ห้อ จะมีขนาดเต้นท์ให้เลือกตามจำนวนคนที่สามารถเข้าไปนอนในนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นขนาด 1,2, 3 และ 4-6 คน เช่น ยี่ห้อ MSR มีรุ่น Hubba (สำหรับ 1 คน), Hubba Hubba (สำหรับ 2 คน), Mutha Hubba (3 คน) และ Papa Hubba (ขนาด 4 คน) เป็นต้น

  • เต้นท์ขนาด 1 คน มีน้ำหนักเบากว่าเต้นท์ขนาด 2 คนไม่มากนัก พนักงานขายจึงมักแนะนำให้ซื้อเต้นท์ขนาด 2 คน โดยจ่ายเพิ่มอีกนิด แต่ได้ประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น

  • อย่าเลือกเต้นท์ใหญ่เกินไปนะครับ อย่างที่บอก น้ำหนักเป็นตัวแปรสำคัญของการเดินป่า หากไปมากกว่า 3-5 คน ควรเลือกเต้นท์ขนาด 1-2 คน และให้ดี แต่ละคนควรพกเต้นท์ของตนเองไปเลยครับ เพราะเต้นท์ใหญ่ ขนาด 3-6 คน หาที่กางลำบาก เพราะต้องใช้พื้นที่มาก แถมตอนเก็บยังลำบาก เสียเวลาพอสมควร

  • เต้นท์ ก็เหมือนบ้าน หากไม่ได้ลองกางเต้นท์ที่จะซื้อเอง หรือไม่ได้เข้าไปสัมผัสภายในเต้นท์ว่าโปร่ง โล่ง สบายหรือไม่ ขอแนะนำว่าอย่าซื้อเด็ดขาดครับ

  • เต้นท์เล็กขนาด 1-2 คนนั้น ควรเลือกที่เป็น Free Stand คือกางแล้วจะเป็นทรงเต้นท์ขึ้นมาเลย โดยเสาของเต้นท์ (หรือโครง) มีทั้งแบบโครงเดียว, 2 เสา และ 3 เสา ให้ทดลองกางเต้นท์ก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อดูความยากง่าย ความแข็งแรง การเข้าออก พื้นที่ภายใน การออกแบบ และการระบายอากาศด้วยนะครับ

  • น้ำหนักของเต้นท์กว่าครึ่งนึง จะมาจากเสาเต้นท์ โดยทั่วไปเต้นท์ราคาถูกจะใช้เสาไฟเบอร์กราส ที่มีน้ำหนักพอควร แต่หากเต้นท์ราคาสูง จะใช้เสาอลูมินั่ม ที่เบา และแข็งแรง ทำให้น้ำหนักเต้นท์เบาขึ้นมาก

  • การเลือกเต้น ต้องดูภูมิอากาศของจุดหมายปลายทางที่เราจะไป หากเป็นหน้าร้อน ควรเลือกซื้อเต้นท์แบบ 3 ฤดู เพราะจะเบาและถูกกว่า (เช่น MSR Hubba Hubba NX2 หนัก 1.7kg)
    แต่หากต้องเดินทางไปหน้าหนาว อุณหภูมิติดลบ รวมถึงมีโอกาสเจอหิมะ หรือลมกรรโชกแรง เต้นท์แบบ 4 ฤดูจะเหมาะสมกว่าครับ (เช่น Mountain Hardwear EV2 หนัก 2.3kg)

  • การเข้าออกเต้นท์ขนาด 2 คน อาจจะไม่สำคัญนักที่มีทางเข้าแค่ทางเดียว เพราะเราสามารถขยับให้กันและกันเพื่อเข้าออกเต้นท์ แต่บางรุ่น บางยี่ห้อ ออกแบบให้มีทางเข้า 2 ฝั่ง จึงเพิ่มความสะดวกมากขึ้น ลองนึกถึง การปวดท้องกลางดึก แล้วเรานอนในสุด ต้องออกจากเต้นท์ที่มีทางออกทางเดียว คงไม่สนุกแน่นอน

  • เต้นท์ที่ไม่มีที่ระบายอากาศ อาจจะเกิดการควบแน่น ระหว่างอากาศภายนอก (ที่เย็น) และอากาศภายในเต้นท์ (ที่อุ่นกว่า) เกิดการกลั่นตัวของหยดน้ำภายในเต้นท์ แม้ภายนอกจะมีผ้าเต้นท์ที่มีสารเคลือบกันน้ำอยู่ก็ตาม แต่เมื่อมีการกลั่นตัวดังกล่าว ถึงไม่รั่ว เราก็มีโอกาสเปียกอยู่ดีครับ ดังนั้น จึงควรเปิดช่องระบายอากาศไว้เสมอ เช่น เปิดหน้าต่าง หรือทางเข้าไว้ ให้อากาศถ่ายเท ซึ่งลดการควบแน่นนี้ได้ ดังนั้น ควรเลือกซื้อเต้นท์ที่ออกแบบให้มีหน้าต่างจะดีกว่าเต้นท์ที่มีเฉพาะทางเข้า ออกครับ

  • เทคนิคบ้านๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันน้ำฝัน คือ ให้กางผ้าเต้นท์ แล้วใช้เทียนไขถูตามตะเข็บรูฝีเข็ม เพื่อให้เนื้อเทียนเข้าไปอุดตามรูเล็กๆ จะช่วยกันน้ำได้เพิ่มขึ้น แต่หากเป็นเต้นท์ที่ราคาสูง มักจะมีการเคลือบตะเข็บเต้นท์ให้แล้ว (Seam sealing tent)

  • ควรทำให้เต้นท์แห้งเสียก่อนที่จะเก็บ เพื่อไม่ให้เต้นท์ขึ้นรา อาจใช้ผ้าเช็ด หรือผึ่งให้แห้งก็ได้ครับ

ที่รองนอน (Sleeping Pad)

  • เป็นแผ่นโฟมหนาประมาณ 2/3 ถึง 1 นิ้ว ที่ช่วยเพิ่มความนุ่มสบาย ในการนอน โดยเฉพาะการกางเต้นท์บนพื้นดินขุรขระ มีหิน มีรากไม้อยู่ข้างใต้ เราคงจะนอนไม่สบายเป็นแน่ นอกจากนี้มันยังช่วยทำหน้าที่เป็นฉนวน ป้องกันความเย็นจากพื้นดินซึมเข้าตัวเรา อย่าชะล่าใจว่ามีถุงนอนแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ Sleeping Pad ก็ได้นะครับ เพราะการกางเต้นท์ในแถบที่มีอากาศหนาวมาก อุณหภูมิเลขตัวเดียว ถึงติดลบนั้น ช่วงกลางคืนอุณหภูมิจะลดลงมาก ถุงนอนขั้นเทพ ก็เอาไม่อยู่ครับ

  • ที่รองนอนมีตั้งแต่ราคาหลักร้อย จึงถึงหลักหลายพันบาท มีหลายรุ่น หลายแบบ เช่น แบบโฟม แบบเป่าลมเอง และแบบที่สูบลมอัตโนมัติ ส่วนตัวผมเลือกแบบโฟม ราคา 700 กว่าบาท ถึงแม้ขนาดจะใหญ่ไปสักหน่อย (ขนาดพอๆ กับเสื่อโยคะ) ซึ่งก็ประหยัดเงินไปได้มาก เมื่อเทียบกับรุ่นกระทัดรัด ที่สามารถพับได้เล็กลงมาสักครึ่งนึง มีที่เป่าลมอัตโนมัติ และทำหน้าทีเป็นฉนวนได้ดีกว่า (โดยการวัดจาก R-Value ยิ่งสูงยิ่งดี) แต่ราคาแพงพอสมควร ราวๆ 4 พันบาท

อุปกรณ์เสริมอื่นๆ

  • เต้นท์ทุกหลังจะมาพร้อมสมอบก สำหรับปักลงพื้นดินเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับเต้นท์ แต่หากคุณเน้นเรื่องความเบา สามารถแยกซื้อสมอบกแบบ Carbon หรือ Titanium เพิ่มเติมได้ภายหลัง เบาแค่ไหนขึ้นกับยี่ห้อ อย่างเช่น Terra Nova Titanium หนักเพียง 1 กรัมต่อชิ้น (6 ชิ้น @ 400 บาท)

  • การไปเที่ยวป่า เที่ยวดอยในเมืองไทย ควรเลือกเต้นท์ที่มีมุ้งในตัว (มักจะมี ผ้าไนล่อนที่เคลือบ PU เพื่อกันฝน/น้ำค้าง หรือที่เรียกว่า Flysheet แยกออกมาอีกผืน เพื่อกางทับด้านบน) เพราะนอกจากจะสามารถป้องกันแมลง/ยุง บินเข้าเต้นท์ เรายังสามารถเปิดอ้า Flysheet เพื่อรับลม นอกจากนี้ อาจต้องหาผ้าใบเพิ่มสักผืน เพื่อกางเหนือเต้นท์ เนื่องจากน้ำค้างตอนกลางคืนจะเยอะมากครับ Flysheet อาจเอาไม่อยู่

  • ผ้าคลุมเต้นท์ Flysheet จะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี หลังจากนั้น สารเคลือบกันน้ำเสื่อมสภาพ ซึ่งแก้ไขได้โดยการหา Flysheet ผืนใหม่ทดแทนของเดิม

  • แผ่นปูรองเต้นท์ (Footprint) คือผ้ายางหนาที่ปูใต้เต้นท์เพื่อป้องกันน้ำซึมและทำให้เต้นท์สะอาด แผ่นปูรองควรมีขนาดกว้าง x ยาวเท่ากับเต้นท์ หรือใหญ่กว่านิดหน่อย และควรทำจากวัสดุกันน้ำ เช่น ผ้าร่มกันน้ำ หรือพลาสติก PE เคลือบกันน้ำ หากต้องการน้ำหนักเบาๆ เราอาจหาแผ่นอลูมินั่มฟอยล์แบบหนา ที่มีน้ำหนักเบา มาปูด้านล่างแทนได้ครับ

สุดท้ายของถูกไม่มีดี ของดีไม่มีถูก เลือกเต้นท์คุณภาพที่ดีขึ้นมาสักหน่อย เบาขึ้นมาสักนิด (หรือเบาๆ ไปเลยก็ได้ถ้างบถึง) และดูว่าเราจะมีทริปท่องเที่ยว ขึ้นดอย ที่จำเป็นต้องใช้เต้นท์บ่อยไหม หากใช้บ่อยๆ อาจลงทุนซื้อเต้นท์คุณภาพดีๆ สักหลักก็สมเหตุผล แต่หากนานๆ จะมีทริปนอนเต้นท์สักที แนะนำให้ยืม /หรือเช่า จะประหยัด คุ้มค่ากว่า  และหวังว่าบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆ นะครับ ไว้คราวหน้าจะหาเวลาบันทึกเรื่อง “ถุงนอน (Sleeping Bag)” ให้ได้อ่านกัน ขอบคุณที่ติดตามครับ

Previous
Previous

เตรียมเสื้อผ้า … ไปเดิน Trail กันเถอะ

Next
Next

คำถาม-คำตอบ น่ารู้ เพื่อ “ป้องกัน” การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย