เตรียมเสื้อผ้า … ไปเดิน Trail กันเถอะ

การท่องเที่ยวถ่ายภาพให้สนุก นอกจากกล้อง+เลนส์คู่ใจแล้ว เสื้อผ้าที่สวมใส่ต้องพร้อมรับมือกับสภาพอากาศ โดยเฉพาะการไปเดินเขาในช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือแม้แต่ปลายหนาวต้นร้อน ในสถานที่สุดสวย เช่น Routeburn (NZ), Patagonia (Chili+Argentina) และ Dolomite (Italy) ที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงมาก และมีอุณหภูมิที่หนาวเย็น การเตรียมเสื้อผ้า อุปกรณ์จึงสำคัญมากๆ คงไม่สนุกแน่หากในระหว่างเดินเขา เจอพายุ ฝนตก อากาศเย็น และตัวเราเสียความร้อนจากตัวไปเรื่อยๆ จนทำให้เป็นหวัด ไม่สบาย ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นอุณหภูมิของร่างกายต่ำเกินไป (hypothermia) ดังนั้น ความอบอุ่น และ ความแห้งสบายตัว จึงเป็นปัจจัยหลักในการเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะกับการท่องเที่ยวประเภทนี้

ต้นเหตุสำคัญของความรู้สึกหนาวในการท่องเที่ยวเดินเขานั้น เกิดจากสิ่งเหล่านี้

ความเปียกชื้น ซึ่งอาจเกิดจากเหงื่อที่ออกมาระหว่างเดินเขา หรือความเปียกจากน้ำฝน หรือลำธาร เมื่อเราเหงื่อออก หากเสื้อผ้าที่สวมใส่อมน้ำ เช่น ผ้า Cotton ทำให้แห้งยาก ความชื้นดังกล่าว จะทำให้เรารู้สึกเย็น ดังนั้น เราจึงควรจัดชุดเสื้อผ้าเป็นชั้นๆ (Layers) โดยแต่ละชั้นจะมีหน้าที่ของมันเช่น เสื้อยืดผ้าใยสังเคราะห์ (เช่น เสื้อฟุตบอล) เอาไว้ใส่เวลาเดินเขาช่วงกลางวัน เมื่อเหงื่อออกจะระเหยออกไปได้เร็ว ตัวไม่ชื้น และเมื่อใส่ร่วมกันเสื้อ Jacket ตัวนอก ที่กันน้ำ (Waterproof) กันลม (Windproof) และมีรูระบายอากาศที่ดี (Breathable) จะช่วยป้องกันน้ำจากภายนอก + ช่วยให้เหงื่อระเหยออกจากตัวได้ดีขึ้น

ลมหนาว อย่าชะล่าใจ หากพยากรณ์อากาศระบุความเย็นแค่เลขตัวเดียว เช่น 5 องศาเซลเซียส แล้วเราคิดว่าเสื้อกันหนาวนั้นเอาอยู่! ในความเป็นจริง บนเขานั้นมักจะมีลม ที่ทำให้เรารู้สึกหนาวได้เท่าทวี อุณหภูมิเลขตัวเดียวก็จริงแต่อาจรู้สึกเหมือนติดลบ ดังนั้น เพื่อป้องกันลมไม่ให้ถูกตัวเรา การซื้อ Jacket กันลม+ฝนที่ดีจึงสำคัญมาก ผมเคยประหยัดกับเรื่องนี้เพราะคิดว่า เสื้อตัวในอุ่นพอแล้ว เสื้อตัวนอกเอาแบบธรรมดาก็ได้คงไม่เป็นไร … ผลก็คือจับไข้หวัดนอนซมไป 2-3 วัน เพราะชุดที่เตรียมไปกันลมได้ไม่ดี ลมหนาวซึมเข้ามาถึงตัวเลย หนาวมากๆ จึงอยากแนะนำเพื่อนๆ ให้ลองเลือกซื้อเสื้อ Jacket กันลม/ฝน (ตัวเดียวกัน) ที่มีคุณภาพดีสักหน่อย เช่น  Jacket ที่ผลิตขึ้นจากผ้า Gore-tex® หรือ HyventTM ที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ The North Face® หรืออาจจะเป็นรุ่น Verto Storm ก็ดีเช่นกัน

การสูญเสียความร้อนจากตัว โดยปรกติ เราจะสูญเสียความร้อนไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ถึงแม้จะสวมเสื้อผ้ากันหนาวอย่างดี แต่ความร้อนก็ยังไหลออกจากร่างกายอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงศรีษะ ดังนั้น อย่าลืมหาหมวกไหมพรม หรือหมวกผ้า Marino เพื่อคลุมศรีษะไว้ระหว่างพักในที่มีอุณหภูมิหนาวเย็นนะครับ

การสัมผัสกับความเย็นโดยไม่มีฉนวนป้องกัน โดยเฉพาะเวลานอนในเต้นท์ ถึงแม้เราจะมีผ้าเต้นท์ และถุงนอน ปกป้องเราไม่ให้สัมผัสกับพื้นดิน (ที่หนาวกว่าร่างกาย) โดยตรง แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ความเย็นจะซึมเข้ามา (หรือความร้อนในร่างกายถูกดูดออกไป) ดังนั้น จึงควรมี Sleeping Pad หรือแผ่นรองนอน ปกป้องเราอีกชั้น เพื่อทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกัน + ให้ความนุ่มสบายขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำหนักของ Sleeping Pad และราคาอาจจะสูงเล็กน้อย แต่หากเราไม่ต้องการความสบายนัก + เน้นน้ำหนักเบา ราคาไม่แพง อาจเลือกซื้อ Aluminum Heat Insulation Sheet ความยาว 70×150 cm. (หรือยาวกว่านี้เล็กน้อย) ที่มีขายตามร้านค้าปลีกทั่วไป (เช่น ร้านไดโซะในห้าง) ราคาประมาณ​ 150 บาท  … นอกจากนี้ ถุงมือ ถุงเท้า และรองเท้า ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะถือเป็นฉนวนป้องกันร่างกายไม่ให้สัมผัสความเย็น เราจึงควรเลือกอุปกรณ์ที่ป้องกันน้ำได้ดี เช่น ถุงเท้าผ้า Marino หนา + รองเท้า NorthFace Ultra Fastpack GTX ซึ่งเป็นรองเท้าที่ผลิตขึ้นจากวัสดุกันน้ำ 100% ของ The North Face®

อากาศบนเขาค่อนข้างแปรปรวน ดังนั้น การเตรียมเสื้อผ้ากันหนาว / กันลม และ กันน้ำ ให้พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้าย เป็นสิ่งที่ช่างภาพ Landscape & Travel ต้องให้ความสำคัญมาก ผมยึดหลัก ลงทุนกับอุปกรณ์ที่จำเป็น อาจจะแพงกว่า แต่อุ่นใจเมื่อต้องใช้อุปกรณ์เหล่านั้นยามคับขัน

จากข้อมูลข้างต้น จึงเป็นข้อสรุปในการจัดชุดเสื้อผ้า + อุปกรณ์ คือ ให้ใส่เสื้อผ้าเป็นชั้นๆ แทนที่จะเป็นเสื้อกันหนาวตัวหนาๆ ใหญ่ๆ ตัวเดียว ขอให้เลือกเสื้อผ้าที่แต่ละชั้นทำหน้าที่ของมัน ดังนี้

  • Next to Skin Layer: ปรกติจะนิยมสวมใส่กลางคืน เป็นเสื้อกันหนาว ให้ความอบอุ่นของร่างกาย และไม่ให้ความร้อนในร่างกายกระจายออกสู่ข้างนอก เช่น เสื้อ Long John ผ้า Wool หรือ Marino

  • Base Layer: ทำหน้าที่หลักคือ สวมใส่ และเป็นตัวกลางระบายเหงื่อออกจากผิวหนัง ดังนั้น เสื้อ Cotton จึงไม่เหมาะสมนัก เพราะหนักและอมน้ำ เราจึงควรเลือกผ้าใยสังเคราะห์ เช่น เสื้อฟุตบอล เพราะบาง เบา ไม่อมน้ำ

  • Insulation Layer: ทำหน้าที่หลักคือ รักษาความร้อนของร่างกาย เพื่อให้ความอบอุ่น มักเป็นเสื้อกันหนาวที่ทำจากขนห่าน (Goose down) หรือผ้า Wool

  • Outer Shell Layer: โดยทั่วไปมี 2 แบบคือ Soft Shell (นุ่มๆ กันลม) กับ Hard Shell (ผ้าหนา แข็งขึ้นมาหน่อย มักจะใช้กันลม + กันน้ำ) โดย Outer shell นั้น ทำหน้าที่หลักคือป้องกันไม่ให้ความเย็น + ลม ซึมผ่านเข้ามาโดยร่างกาย และป้องกันไม่ให้เราเปียกชื้น (เช่น จากน้ำฝน หรือจากหิมะ

และในช่วงเวลาต่างๆ ระหว่างอยู่บนเขานั้น มีข้อแนะนำเบื้องต้นในการแต่งตัว ดังนี้ครับ

  • ช่วงกลางวัน ขณะเดินเขา เดินระยะทางไกลๆ: เสื้อที่ใส่ควรเป็นเสื้อยืด ผ้าใยสังเคราะห์ ที่ไม่อมน้ำ และชั้นนอกควรเป็นเสื้อ Jacket กันน้ำ/ลม ที่ระบายอากาศได้ดี

  • ช่วงกลางวัน พักผ่อนเดินเล่นรอบๆ ไม่หนัก: ใส่เสื้อยืด + เสื้อกันหนาวขนห่าน 600 + Fill Down (เช่น The NorthFace Thermoball Jacket) + เสื้อ Jacket กันลม

  • ช่วงกลางคืน พักผ่อนในเต้นท์บนเขา: ควรใส่เสื้อ + กางเกง Long John แบบหนา พร้อมเสื้อยืด และกางเกงขายาว พร้อมใส่เสื้อกันหนาวขนห่าน 600+ Fill Donw หากอุณหภูมิหนาวมาก อย่าลืมปู Sleeping Pad ข้างล่างถุงนอนเสมอ เพื่อทำหน้าที่ฉนวน ไม่ให้ความเย็นจากดินซึมถึงตัว

การจัดเสื้อผ้าเพื่อเดินเขายึดหลักสำคัญคือ “Layers” หรือการสวมใส่เสื้อผ้าทีละชั้น แต่ละชั้นทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น กันลม กันหนาว หรือเพื่อสวมใส่สบายๆ เป็นต้น

Previous
Previous

ระดับ “ความเงิบ” ของมุมในฝัน

Next
Next

บันทึกการซื้อ-การใช้ Tent ที่น่ารู้