ระดับ “ความเงิบ” ของมุมในฝัน

ทุกการเดินทางเริ่มต้นด้วยความฝัน โดยเฉพาะช่างภาพและนักท่องเที่ยวที่มักจะมีภาพในฝัน ที่สักครั้งในชีวิต ขอไปย่ำรอย กดภาพมุมในฝันด้วยมือตัวเอง ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เห็นภาพสวยๆ ก็ร้องซีดสส์ แล้วรีบ Save ภาพ พร้อมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับภาพนั้นไว้ในแฟ้ม “ก่อนตายกูต้องไปให้ได้” และไม่ลืมที่จะตั้งชื่อภาพในฝันเหล่านั้นตามประเทศ และชื่อสถานที่ เช่น Dolomite – Italy, Patagonia – Argentina, หรือ Lake Tekapo – New Zealand เพื่อง่ายแก่การสืบค้นภายหลัง และเฝ้ารอว่า เมื่อเงิน และเวลาพร้อม เราได้เจอกันแน่ๆ … มุมในฝันช่างสวยงามเสมอ และมักสิ้นสุดลง เมื่อเราได้เจอกับมันจริงๆ ใช่แล้ว

หลายคนต้องมีประสบการณ์เงิบแบบนี้มาก่อน มุมสวยๆ ที่เห็นในภาพ กับสถานที่จริงมันช่างต่างกันจริง เสมือนเจอนางในฝันตอนกลางวัน แล้วมาพบความจริงตอนล้างหน้าก่อนนอน >_< เงิบหนักจนขนาดที่มีคนให้ข้อคิดว่าทำนองว่า อย่าเชื่อภาพถ่ายสวยๆ ที่เห็น ทั้งภาพถ่าย Profile ใน Social Networking โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพถ่ายสาย Landscape ที่มักแต่งภาพกันเกินจริง โยกฟ้า เพิ่มขนาดภูเขา ใส่ดาวหมุน อัดสีดอกไม้ รวมถึงจัดฉากเอาโน่นนี่นั่นเข้ามาใส่ให้ดูเว่อร์กว่าต้นฉบับ ก็ขำขำกันไปนะครับ ผมคิดว่ามีหลากหลายเหตุผลที่เราไปมุมในฝันแล้วต้องผิดหวัง ไม่เห็นสิ่งที่ตั้งใจไว้ ลองไล่เรียงดูก็มีหลายข้อด้วยกัน ดังนี้ครับ:

เมื่อมองภาพวิว ทิวทัศน์สวยๆ จากนิตยสาร หรือบน Internet เรามักคาดหวังสวยหรูที่จะได้เจอกับความงามอลังการแบบนั้น แต่แท้จริง มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลให้ภาพในฝัน แตกต่างจากของจริง เช่น สภาพแสงที่เราไปเจอ, การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์โดยรอบ รวมถึงอุปกรณ์/มุมกล้องที่เลือกใช้ เป็นต้น

  • ไม่แปลกที่เรามักจะเห็นภาพที่สีสดสวยเกินจริงของสถานที่ต่างๆ เพราะสายตาของเราจะไวต่อสีสวยสด มากกว่าสีซีดๆ ดังนั้น เมื่อถ่ายภาพมา ช่างภาพโดยทั่วไปมักเร่งสีขึ้นไป อย่างน้อยๆ ก็ Sat 15-20 ขึ้นไป เราจึงเห็นสีสันในภาพ เช่น สีเขียวของต้นไม้ สีแดงของดอกไม้ หรือแม้แต่สีฟ้าของท้องฟ้า สวยเข้มกว่าของจริง

    นอกจากเร่งความอิ่มตัวของสีแล้ว การเปลี่ยนสีสันของสิ่งแวดล้อมในมุมนั้นๆ ยังทำให้เราเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ เช่น ภาพต้นไม้รอบๆ น้ำตกถูกเปลี่ยนเป็นฤดูใบไม้ผลิ (สีเหลือง-ส้มแดง) หรือสีของน้ำทะเล ก็ปรับสีสันให้อมสีฟ้าคราม หรือเขียวมรกติ หรือแม้แต้สีของน้ำตก ก็ย้อมสีให้ติดโทนเย็นเพื่อให้ภาพน่าสนใจขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ย่อมทำให้คนทั่วไปที่บังเอิญมาเห็นภาพเกิดความเข้าใจผิด และคาดหวังว่าเมื่อไปยังสถานที่นั้นๆ จะพบเห็นสิ่งต่างๆ ใกล้เคียงกับภาพดังกล่าว

  • ทุกอย่างลงตัวแล้ว ทั้งสถานที่ และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บภาพ แต่ทำไม? ทำไมภาพที่ได้ไม่สวยอลังการเหมือนภาพถ่ายที่เห็น? คำตอบอีกอย่างคงเป็นเรื่องของ

    (1) มุมแตกต่างกันตามการวางองค์ประกอบภาพของช่างภาพ ที่มักเลือกนำเสนอมุมที่น่าสนใจของสถานที่นั้น และปกปิดจุดด้อยไม่ให้ปรากฎในภาพ เช่น ผมเคยตามรอยไปถ่ายภาพนิทรรศการริมหาดใน Sydney หรือที่รู้จักกันในนาม “Sculpture by the sea” ที่จะจัดประจำทุกปี ผมได้แรงบันดาลใจถ่ายภาพจากปีก่อนๆ ที่มีมุมประติมากรรม งานปั้น งานออกแบบ สวยๆ วางริมหาด มีนักท่องเที่ยวยืนมอง ถ่ายภาพ แบบเก๋ไก๋ แต่พอไปถึงงานจริงๆ แทบจะไม่มีมุมอะไรให้ถ่ายเลย ชิ้นงานถูกจัดวางกระจายกันออกไปก็จริง แต่รอบๆ มีรั้วกั้น ม้านั่ง คนเดินไปมา รวมถึงเศษขยะจากนักท่องเที่ยว สุดท้ายมุมที่มโนว่าจะถ่ายก็เป็นหมันก่อนกดชัตเตอร์ด้วยซ้ำ

    (2) มุมแตกต่างกันตามการเลือกใช้เลนส์ที่ต่างกัน ภาพสวยๆ ของช่างภาพมืออาชีพที่คนทั่วไปเห็นนั้น มักจะถ่ายผ่านเลนส์ Wide อาทิ 16 – 35 mm. หรือเลนส์ Tele อาทิ 70-200 mm. ซึ่งมุมภาพที่ได้ย่อมต่างจากการมองด้วยตาเปล่า เช่น ฉากหน้าที่มีก้อนหินก้อนใหญ่ที่มีสีสันและลวดลายสุดสวย อาจเป็นเพียงก้อนหิน เล็กๆ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเลนส์ช่วง 16 mm. ที่ทำให้วัตถุที่อยู่ใกล้เลนส์มีรูปร่างใหญ่โตขึ้น หรือ ภาพจากจุดชมวิวที่เห็นภูเขาหิมะด้านหลังใกล้เข้ามากว่าที่สายตาปรกติมองเห็น ก็เป็นเพราะช่างภาพเลือกใช้เลนส์ Tele ดึงฉากหลังเข้ามานั่นเอง จึงไม่แปลกใจ หากนักท่องเที่ยวบางส่วนมักบ่นว่า ภาพสวยๆ ที่เคยเห็นจากมุมนั้น มุมนี้ ไปเห็นของจริงไม่เห็นสวยเลย นั่นก็เพราะเรา “มองต่างมุม” กับช่างภาพนั่นเอง

  • มุมเดียวกัน แต่มีสภาพแสงและสภาพอากาศแตกต่างออกไป มุมในฝันที่เรามองผ่านภาพถ่ายแสนสวยของคนอื่นๆ ที่เคยไปมา ย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริง ภูเขาที่ดูอลังการ อาจจะแบนไปถนัดตาเพราะขาดแสงสีทองสาดด้านข้าง หรือน้ำตกที่ยิ่งใหญ่ น้ำใสไหลเย็น พร้อมดอกไม้สวยๆ ริมน้ำตก อาจจะกลายเป็นน้ำตกง่อยๆ ที่มีน้ำขุ่นๆ และกอไม้เหี่ยวๆ อยู่รายรอบ หรือภาพทะเลดุ ๆ น้ำทะลักทะล้นในภาคใต้ที่เห็นกันชินตา แต่เมื่อไปถึงกลับเงิบงาบ น้ำนิ่งยิ่งกว่าพัทยาใต้ หวังว่าจะไปเจอคลื่นซัดตูมตู้ม

    แต่ได้ยินเพียงเสียง “เซาะแซะ .. เซาะแซะ” เบาๆ ให้เงียบเหงาก็เป็นได้ครับ ไปถูกที่ก็จริง แต่คนละเวลา คนละภูมิอากาศ และสภาพแสง ทำให้ภาพแสนสวยในมโน เงิบง่อยได้จริงๆ นอกจากนี้ มักได้ยินเสียงบ่นจากพี่น้องที่สนิท (แต่ไม่ได้เป็นช่างภาพ) หลายคนว่า ตามรอยภาพสวยๆ แต่ไปถึงทำไมไม่สวยแบบนั้น แล้วเอาภาพ Postcard ใบนั้นมาให้ดู ผมก็ถึงบางอ้อ ก็ภาพถ่ายนั้นเค้าถ่ายช่วง Twilight แต่พี่ไปตอนเที่ยง แดดเปรี้ยงๆ จะสวยยังไงครับ? พร้อมแนะนำว่าหากอยากเห็นมุมนี้สวยๆ พาผมไปนะ ผมจะพาไปนั่งเฝ้าสัก 2-3 วัน วันใดฟ้าระเบิดรับรองมุมนี้สวยกว่าใน Postcard แน่นอน

  • ระดับสูงสุดของเหตุผลที่ทำให้เราไปมุมในฝันแล้วเงิบงาบกับความเป็นจริงที่ ปรากฎตรงหน้า ผมพบว่า ภาพจำนวนหนึ่งที่ชื่นชอบ + ตั้งใจไปตามรอยนั้นไม่มีอยู่จริง! หรือมีส่วนประกอบที่มีอยู่จริงแค่บางส่วน! ภาพเกินจริงเหล่านี้มักเกิดจากการใช้โปรแกรมตัดต่อ/ตกแต่งภาพในลักษณะ Creative retoucing หรือการดัดแปลงภาพถ่ายเพื่อการสร้างสรรค์ผลงานตามความต้องการของช่างภาพ เช่น ภาพวิว Opera House สะท้อนน้ำใต้แสงจันทร์ แต่แท้จริงแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นเงาสะท้อนน้ำของ Opera House เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นน้ำทะเลหนุนเข้ามาในอ่าว และมีคลื่นลมอยู่เสมอ หรือแม้แต่มุมในฝันที่เป็นวัด และโบสถ์สวยๆ มีดาวหมุนควงสว่านด้านบน แต่เมื่อไปถึงก็พบว่า มุมดังกล่าวอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไม่ใช่ทิศเหนือ (ที่มีดาวเหนือเป็นจุดหมุน) เป็นต้น

    ประเด็นเรื่องการถ่ายภาพดาวหมุนในทิศจริงๆ ไม่ค่อยปรากฎเป็นดราม่าเท่าไหร่ แต่จะพบประเด็นดาวหมุน หรือ ทางช้างเผือกที่อยู่ผิดทิศผิดทางนี่ค่อนข้างมาก และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของมุมในฝัน … ที่ไม่มีจริง นอกจากนี้ ยังมีกรณีของการซ้อนภาพอื่นเข้ามา เช่น ย้ายภูเขาจากที่นึงเข้ามาซ้อนใส่น้ำตก หรือไม่ต้องถึงขนาดซ้อนภาพอื่นก็ได้ แค่ขยายบางส่วนของภาพให้ใหญ่ ยาว หรือกว้างกว่าความเป็นจริง ก็ส่งผลต่อความเงิบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว

Previous
Previous

ที่สุดแห่งกล้อง DSLR – Nikon D850: I am the different maker

Next
Next

เตรียมเสื้อผ้า … ไปเดิน Trail กันเถอะ