การเพิ่มมิติให้กับภาพ

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่ทำให้ภาพถ่ายใบหนึ่ง แตกต่างจากภาพอีกใบหนึ่งที่ถ่ายจากสถานที่เดียวกัน ก็คือ การสร้างมิติของภาพ ซึ่งในความเป็นจริง ฉากที่เราเห็นตอนที่กดภาพถ่ายนั้น เป็นโลก 3 มิติ ที่ถูกบันทึกลงในภาพถ่ายที่สามารถแสดงผลได้เพียง 2 มิติ ดังนั้น การสร้างมิติให้กับภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่างภาพควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในบทความนี้ ผมขอแชร์เทคนิคการสร้างมิติให้กับภาพถ่าย Landscape + Travel รวม 6 วิธีการ ดังนี้:

มิติจากแสง :   

ในภาพถ่ายควรมีส่วนมืด ส่วนสว่าง รวมถึงความเปรียบต่างของแสง เพื่อให้ภาพมีมิติ ไม่แบน โดยปรกติ การไล่สายตาของผู้ชมภาพ จะสะดุดกับ “ส่วนสว่าง” ดังนั้นหากภาพมีแสงเท่าๆ กันหมด ภาพก็ขาดมิติ ดังนั้น เราจึงควรวางจุดสนใจ / ส่วนสำคัญของภาพให้มีแสงสว่างมากกว่าส่วนอื่นของภาพ นอกจากนี้มิติจากแสง ยังรวมไปถึง “ทิศทางแสง” ที่จะขอกล่าวในบทความอื่นๆ ต่อไป

มิติจากสี :   

การผสมผสานระหว่างสีโทนเย็น (เช่น น้ำเงิน คราม เขียว) และสีโทนร้อน (เช่น แดง ส้ม เหลือง) ช่วยทำให้ภาพดูมีมิติขึ้น ผมมักจะไล่โทนจากสีโทนเย็น ไปสีโทนร้อนให้กับภาพถ่ายอยู่เสมอ เช่น การไล่สีน้ำเงินในฉากหน้า (และเป็นส่วนมืดของภาพ) ไปยังสีโทนร้อนในพื้นที่ที่สำคัญ (และเป็นส่วนสว่างของภาพ) นั่นเอง การใช้มิติจากแสง + มิติจากสีร่วมกัน สามารถเพิ่มมิติให้กับภาพถ่ายได้เป็นอย่างดี

มิติจากเส้น :   

ภาพที่แลดู “เคลื่อนไหว” หรือมีลักษณะเป็น “3 มิติ” มักเกิดจากเส้น “ทแยงมุม” เวลาถ่ายภาพ ผมจะหาฉากหน้า หรือฉากกลาง ที่มีลวดลาย เส้นสายแบบเส้นทะแยงมุมที่วิ่งเข้า วิ่งออกจากมุมภาพ เช่น รั้วที่วางมุมทแยงจากมุมภาพเข้าสู่กลางภาพ, การลดหลั่นของนาขั้นบันไดที่มีลักษณะเป็นเส้นทแยงมุม เป็นต้น

มิติจากชัด-ตื้น :  

 เป็นปรกติที่ตาของเราจะไวต่อความชัด มากกว่าความเบลอของภาพ ซึ่งเรานำเทคนิคนี้มาสร้างมิติให้กับภาพได้ง่าย ด้วยการใช้เลนส์ f กว้างๆ เช่น 1.4, 1.8 เพื่อทำให้ฉากหน้าเบลอ แล้วไล่ไปชัดที่ “จุดสนใจ” ของภาพ แต่หากไม่มีเลนส์ f กว้างๆ เราก็สามารถสร้าง effect ชัดตื้นใน Photoshop ได้ไม่ยาก

มิติจากพื้นผิว :   

พื้นผิวขรุขระมักดึงความสนใจของสายตาได้ดีกว่าพื้นผิวราบเรียบ ผมประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ในการมองหาฉากหน้าที่น่าสนใจ หรือแม้แต่การใช้คำสั่ง Clarity ใน Photoshop เพื่อทำให้เกิดความเปรียบต่างของ Midtone ในจุดที่ต้องการให้เกิดพื้นผิวที่น่าสนใจในภาพ

มิติจากเลนส์ :  

 การใช้เลนส์ Ultra-wide เช่น ระยะ 14-24 mm. ด้วยการเข้าใกล้ฉากหน้า ย่อมทำให้ภาพดูมีมิติที่น่าสนใจขึ้นได้

Seiser Alms, Italy

แสง และ ภูมิประเทศ สร้างสรรค์มิติให้กับภาพ ผมชอบถ่ายภาพ “แสงเฉียง” โดยเฉพาะแสงเช้า และเย็น ที่ย้อมโทนของภาพให้สวยงาม และเพิ่มแสง เงา เข้าไปในภาพให้มีมิติมากขึ้น

มิติที่เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ

การแต่งภาพดิจิตอล หัวใจสำคัญคือ ต้องสร้างมิติให้กับภาพโดยการประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ ข้างต้นเข้าด้วยกัน เช่น เพิ่มพื้นผิว (Clarity), เพิ่มโทนสี (Hue, Saturation, Vibrance), เน้นเส้นทแยงมุม (Dodge & Burn) เป็นต้น

Previous
Previous

12 รากฐาน … เพื่อถ่ายภาพ Landscape ให้สวยกว่าที่เคย

Next
Next

ดาวเคลื่อน ดาราคล้อย : บันทึก … เพื่อหยุด “ดาว”