12 รากฐาน … เพื่อถ่ายภาพ Landscape ให้สวยกว่าที่เคย

ด้วยเทคโนโลยีกล้องปัจจุบันได้เอื้อประโยชน์ให้นักถ่ายภาพให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดการถ่ายภาพในยุคก่อนได้มากมาย เช่น กล้องรุ่นใหม่มี High dynamic range ที่กว้าง, มี High iso ที่สูงถ่ายภาพในที่มืดได้ดี รวมถึงการถ่ายคร่อมแสง (-,0,+) หรือแม้แต่การคร่อมโฟกัส (Focus stack) อย่างไรก็ตาม คำถามเดิมๆ ก็ยังได้ยินเสมอ ทำอย่างไรจะสามารถถ่ายภาพได้สวย น่าสนใจ และแตกต่างอย่างสร้างสรรค์?

สำหรับคนที่ถ่ายภาพมานาน ทุกคนเหมือนจะมีคำตอบรางๆ ในหัว และตอบสนองแบบอัตโนมัติในทันทีที่ลงภาคสนาม แต่สำหรับนักถ่ายภาพรุ่นใหม่แล้ว ยากเหลือเกินที่จะเข้าใจกลไกการถ่ายภาพให้สวยในระยะเวลาอันสั้น แม้จะมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย แต่ประสบการณ์ในการดูภาพ และถ่ายภาพที่ไม่มากนัก ทำให้ไม่อาจเห็นภาพรวม “องค์ประกอบ” ของการสร้างสรรค์ภาพ Landscape สวยๆ เหมือนมืออาชีพ

จากประสบการณ์ถ่ายภาพ Landscape ที่เริ่มหัดถ่ายภาพอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2553  พี่นันท์ได้สรุปรากฐาน 12 “องค์ประกอบ” ที่สำคัญของภาพถ่าย Landscape โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่หนึ่ง : ช่างภาพ/อุปกรณ์  ได้แก่ ภาพในใจ (Pre-visual), กล้อง/เลนส์ (Camera gears), และทักษะ (Skill)

กลุ่มที่สอง : สภาพแวดล้อม ได้แก่ สถานที่ (Location), ภูมิอากาศ/ฤดูกาล (Weather & seasons), และแสง (Light)

กลุ่มที่สาม : องค์ประกอบศิลป์ ได้แก่ เส้น (Line), รูปร่าง (Shape), รูปทรง (Form), รูปแบบ (Pattern), พื้นผิว (Texture) และสีสัน (Color)

รวมทั้งหมด 12 ข้อ โดยพี่นันท์ขอพูดภาพรวมคร่าวๆ ดังนี้ครับ 

ภาพในใจ (Pre-visual):

ในการออกทริปถ่ายภาพ Landscape เราอาจมีภาพในใจของสถานที่ที่จะไปถ่ายตั้งแต่รู้ตัวว่าจะออกทริปโดยการหาข้อมูลและภาพตัวอย่างของสถานที่ที่เราจะไปผ่าน Google image, Webstie นำเที่ยว, Youtube หรือหนังสือนำเที่ยวของสถานที่นั้นๆพี่นันท์มักจะค้นหา “ชื่อสถานที่” จาก Google เพื่อค้นหาภาพที่เกี่ยวข้องเช่นจะไป Funes, Italy พี่นันท์ก็จะใช้ keyword “Funes Italy” เพื่อค้นหาภาพใน website: 500px.com หรือใน instragram.com  ซึ่งมักมีภาพตัวอย่างเป็นร้อยเป็นพันให้เราได้ศึกษา … รวมถึงใช้ Google map เพื่อดูทำเลที่ตั้ง ทิศทางแสง มุมที่น่าสนใจล่วงหน้า จะทำให้เรามีภาพในใจ และเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ เราอาจมีภาพในใจ ณ ขณะที่ไปถึงจุดถ่ายภาพ อยากให้ภาพถ่ายของเราเป็นยังไง อยากได้มุมไหน มีอะไรในภาพบ้าง ฉากหน้า/ฉากหลังยังไง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์ ดูภาพเยอะๆ และต้องเผื่อเวลาสักหน่อย ไปถึงหน้างานให้เร็วขึ้น เพื่อมองหา “มุม” ที่พอใจเรามากที่สุด 

กล้อง/เลนส์ (Camera gears): 

ไม่ว่าจะเป็นกล้อง APSC, Fullframe 135 หรือใหญ่ขึ้นไปถึง Medium – Large format สิ่งที่ทำให้ได้ภาพวิวทิวทัศน์ที่ต่างกันคือ การเลือกใช้งานเลนส์ และอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม (เช่น Filter GND)  ทั้งนี้ สำหรับกล้องตัวกล้องเองนั้น … คงต้องแล้วแต่ความถนัด/คุ้นเคยของแต่ละคน  ส่วนตัวพี่นันท์ใช้กล้องยี่ห้อ Nikon มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยเพราะเริ่มฝึกหัดถ่ายภาพ Landscape ด้วยกล้อง Nikon D700 และใช้ต่อเนื่องมายาวนาน  ดังนั้นการปรับตั้งค่า การถ่ายภาพต่างๆ จึงค่อนข้างคุ้นเคย … นิ้วไหนคุม functions อะไร จำได้และปรับได้ไว ทำให้ในภาคสนาม เราไม่ต้องมาควานหาปุ่มให้เสียเวลา แม้ในที่มืดก็สามารถกำหนดค่าต่างๆ ได้ตามต้องการ (สิ่งนี้คือ การรู้จัก และเชื่อใจในอุปกรณ์ที่เราใช้ จะยี่ห้ออะไร เราควรจะทำความรู้จักกับมันให้มากที่สุด)

ต่อมาคือการเลือกเลนส์ ซึ่งมีส่วนสำคัญให้ภาพที่กำลังจะถ่ายนั้น มีความแตกต่างกันออกไป มุมเดียวกัน ใช้เลนส์คนละช่วง ก็ถ่ายทอดความงามออกมาได้คนละแบบ … สำหรับ Landscape เลนส์หลักที่ผมใช้กว่า 65% คือ ระยะ 14-24 mm. รองลงมา 25% ใช้ระยะ 24-70 mm. และมีเพียง 10% เท่านั้นที่ใช้ระยะมากกว่า 70 mm. ขึ้นไป ที่ชื่นชอบเลนส์ Ultra-wide อย่าง Nikon 14-24 mm. เพราะให้มุมมองที่กว้างกว่าตาของเรา ทำให้ฉากหน้าโดดเด่นขึ้น ดูแปลกตา น่าสนใจ … เมื่อเราเข้าหามุมถ่ายภาพ ให้ลองมองภาพจาก Live view บนจอ LCD ผ่านเลนส์ที่เราเลือกใช้ เราจะเห็นมุมมอง และ Perspective ที่หลากหลายขึ้น  สุดท้ายอุปกรณ์เสริม ในสายถ่ายภาพ Landscape อุปกรณ์เสริมสำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์ภาพ ก็คือ GND และ ND Filter ที่ใส่หน้าเลนส์เพื่อลดแสงเข้าเลนส์  พี่นันท์ใช้ของยี่ห้อ Nisi ด้วยคุณภาพสมกับราคา แม้บางคนจะเห็นว่า Filter ไม่สำคัญเนื่องจากเราสามารถ่ายคร่อมได้ และไม่ต้องแบกไปด้วยเมื่อออกทริป แต่หากใครสนใจพัฒนาตัวเอง โดยพยายามเก็บภาพมาให้จบหลังกล้องมากที่สุด รวมถึงชอบถ่าย Seascape, Timelapse หรือ วิดีโอ ควรต้องมี Filter เหล่านี้ไว้ เพื่อให้ทำงานได้ออกมาดีที่สุดครับ

ทักษะ (Skill): 

สิ่งที่ช่างภาพ Landscape จะประสบความสำเร็จในการสร้างผลงานที่สร้างสรรค์ น่าสนใจ พี่นันท์สรุปว่าเกิดจากทักษะสำคัญ 3 ด้าน คือ

  1. ทักษะในการวางแผนเพื่อถ่ายภาพ เช่น การหาข้อมูลประกอบ การเดินทาง ข้อมูลทิศทางแสง พระอาทิตย์หรือพระจันทร์ขึ้น/ลง เป็นต้น การวางแผนที่ละเอียดย่อมเพิ่มโอกาสให้ได้ภาพถ่ายตามที่ต้องการ

  2. ทักษะในการถ่ายภาพที่ต้องแม่นในเทคนิคพื้นฐาน (เช่น ควบคุมปริมาณแสงเข้ากล้องให้พอเหมาะผ่าน f/stop, speed shutter, และ iso) และเทคนิคขั้นสูง (เช่น การถ่ายภาพคร่อมแสง, คร่อมโฟกัส, Hyperfocal, การถ่ายแบบลาก Speed shutter, การถ่ายภาพซ้อน เป็นต้น)

  3. ทักษะในการแต่งภาพดิจิตอล ที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้งาน Lightroom รวมถึงการใช้งานขั้นสูงผ่าน Photoshop โดยเทคนิคที่แนะนำมากที่สุด คือ การควบคุมสีของภาพ (เช่น Color balance, WB) การควบคุม/ปรับปรุงแสงในโทนต่างๆ (Shadows, Midtone, and Highlight) และแก้ไขปรับปรุงพื้นที่เฉพาะผ่านการเลือกขั้นสูง (เช่น Quick selection และ Luminosity mask)

ภาพนี้ใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อเก็บบรรยากาศของวิวทิวทัศน์ โดยเลือกกดกล้องต่ำ เพื่อให้สามารถบันทึกภาพฉากหน้า (บันได) และฉากหลัง (เทือกเขา Mt.Cook) โดยบันไดคดเคี้ยวทำหน้าที่เหมือน “เส้น” นำสายตาเข้าสู่กลางภาพ ขณะที่นักท่องเที่ยว ช่วยเติมเต็มเรื่องราวของภาพนี้ให้สมบูรณ์

สถานที่ (Location): 

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างถ่ายภาพ Landscape และ Portrait ก็คือ หากเรามีนางแบบที่รูปร่าง หน้าตาสะสวยตั้งแต่ต้น ย่อมทำให้ภาพถ่าย Portrait ออกมาดูสวยงามในเบื้องต้น ดังนั้น การเลือกสถานที่ในการถ่ายภาพ หากเป็นวิว ทิวทัศน์ที่มีความงามอยู่แล้ว ย่อมได้ภาพที่สวยแน่นอน แต่นั่นอาจเป็นเพียง ภาพจากมุมอลังการแบบมหาชน เราต้องใส่มุมมองที่แปลกใหม่ เลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมในการบันทึกภาพ รวมถึงการปรับแต่งภาพดิจิตอล ให้สวยตามที่เราต้องการนำเสนอ … ทั้งนี้ในบรรดาสถานที่ที่พี่นันท์เคยไปถ่าย Landscape ต้องยกให้ Patagonia ในประเทศอาร์เจนตินา + ชิลี คือสถานที่สวยงามอันดับ 1 ส่วนสถานที่ที่สวยงามรองลงมา ต้องนี่เลย Lofoten ใน Norway, เขตชายฝั่งทะเล และ Highland ใน Iceland, เขตเทือกเขา Dolomites ใน Italy, และเกาะใต้ ของ New Zealand ทุกที่ที่เอ่ยมา งามระดับนางฟ้า เพียงยกกล้องเก็บภาพวิวที่เราขับรถผ่าน ขวัญกำลังใจก็เพิ่มพูน … วิวสวย มีชัยไปกว่าครึ่งจริงๆ

ภูมิอากาศ/ฤดูกาล (Weather & seasons): 

ธรรมชาติถือหุ้นเกินครึ่ง ความจริงนี้เป็นที่รับรู้กันในหมู่ช่างภาพ Landscape เพื่อให้ได้ภาพถ่ายสวยๆ ช่างภาพต้องเช็คสภาพอากาศก่อนทุกครั้งที่จะออกทริปถ่ายภาพ และลุ้นกันว่า เราจะมีโอกาสได้ฟ้าสวยๆ แสงเช้าแสงเย็นงามๆ ไหม มี Application หลายตัวที่ช่วยเช็คสภาพอากาศ เช่น Aurora Pro (พยากรณ์การเกิด Aurora); Weather (บอกอุณหภูมิ สภาพอากาศคร่าวๆ); Tide charts near me (รายงานสถานะระดับน้ำ และความแรงของคลื่น – สำหรับสาย Seascape) นอกจากนี้ ฤดูกาลต่างๆ ก็ส่งผลต่อความงามของภาพ เช่น หน้าฝนเข้าหน้าหนาว ฟ้าสวย อากาศเย็น มีลุ้นเมฆหมอก หรือการเดินทางไปต่างประเทศ เช่น อิตาลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ในฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ก็จะมีความงามอีกแบบ แตกต่างจากการไปเที่ยวในหน้าหนาว ที่จะมีหิมะขาวโพลน เป็นต้น

แสง (Light): 

ภาพมีได้ต้องมีแสง ไม่ว่าจะเป็นคืนเดือนมืดสนิท ก็ยังมีแสงจากดวงดาวให้เราได้ถ่ายภาพ วิวทิวทัศน์แต่ละสถานที่ เวลาเปลี่ยน แสงเปลี่ยน ก็จะมีความสวยงามที่แตกต่างออกไป แสงมีลักษณะทางกายภาพ ทั้งคุณภาพของแสง (เช่น แสงนุ่ม แสงแข็ง) และสีของแสง (แสงช่วงเช้า/เย็น จะมีสีสันสวยกว่าแสงช่วงกลางวัน) นอกจากนี้ เราควรเลือกเก็บภาพตามทิศทางแสง (Direction of lights – เช่น ตามแสง ถ่ายย้อนแสง แสงเข้าด้านข้าง) ที่ช่วยขับมิติของภาพ หรือสร้างบรรยากาศของภาพให้น่าสนใจ

Chiesa di S. Vigilio เป็นโบสถ์เล็กๆ กลางใจเมือง Colfosco ซึ่งอยู่ระหว่าง Passo Campolongo และ Gardena มุมนี้ถ่ายสวยสุดในช่วงสาย เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นพ้นจากหุบเขาจะสาดแสงสีทองฉาบไปทั่วบริเวณ ในแต่ละฤดูกาล (Seasons) ให้ภาพที่แตกต่างกันออกไป ในหน้าร้อน (ประมาณเดือนมิถุนายน) ต้นไม้รอบๆ โบสถ์เป็นสีเขียว วิวนี้สวยขึ้นมากในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี (ประมาณปลายเดือนตุลาคม) และบรรยากาศเปลี่ยนไปอีกมากในช่วงฤดูหนาว ที่หิมะตกเต็มพื้นที่สวยงามไปอีกแบบ

เส้น (Line): 

องค์ประกอบศิลป์ที่สำคัญที่สุด คือ เส้น เพราะเส้นประกอบเข้าเป็นรูปร่าง รูปทรง รวมถึงช่วยสื่อความหมาย และกำหนดทิศทาง ดังนั้น การมองหา “เส้นจริง (เช่น เส้นขอบถนน หรือเส้นขอบฟ้าในภาพ)” และ “เส้นเสมือน (เช่น เงาของรั้วในภาพทำหน้าที่เหมือนเส้น)” ในภาพวิวทิวทัศน์ ช่วยให้เราถ่ายภาพ Landscape ได้สวยขึ้นมาก เส้นที่ปรากฎในมุมที่เราวางไว้ ไม่ว่าจะเป็น เส้นแนวนอน เส้นแนวตั้ง เส้นเฉียง (เข้าออกจากมุม) หรือแม้แต่เส้นโค้งรูปตัว “S” ย่อมทำให้ภาพมีพลัง และมีมิติขึ้นมากมาย

รูปร่าง (Shape): 

เมื่อเรามองเห็น “เงา” ในภาพ เราก็รับรู้ว่า นั่นคือ คนกำลังกางขาตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพ นี่คือ ตัวอย่างของรูปร่าง ที่แสดงลักษณะ 2 มิติให้เรารับรู้ว่า สิ่งนั้นๆ มีความหมายที่สามารถสื่อถึงอะไร ปรกติ ผมมักใช้ “แสง และเงา” ที่เกิดขึ้นในภาพ Landscape เพื่อสื่อความหมาย หรือเล่าเรื่องบางอย่าง เช่น การถ่ายภาพย้อนแสง มีช่างภาพตัวเล็กๆ บนยอดเขาขนาดใหญ่ กำลังถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดิน ดังนั้น เราจะเก็บแสงยามเย็นให้มีรายละเอียด และทิ้งให้ “เงา” เล่าเรื่องที่เหลือ … อนึ่ง รูปร่างที่มีความสำคัญในภาพถ่าย ปรกติผมมักวางไว้ใกล้จุดตัดเก้าช่องครับ

รูปทรง/มิติ (Form): 

การให้มิติกับภาพถ่าย Landscape เป็นสิ่งจำเป็นมาก เราอาจวางมุมภาพที่เน้นฉากหน้า + ใช้แสงเฉียงเพื่อเสริมให้ภาพมีมิติ ซึ่งมีเทคนิคมากมายที่เราใช้สร้างมิติให้กับภาพถ่าย ซึ่งได้แก่ การสร้างมิติจากแสง, สี, เส้น, ชัดลึก/ตื้น, พื้นผิว และการเลือกใช้เลนส์

รูปแบบ (Pattern): 

เป็นเทคนิคสร้างภาพสวยที่ผมใช้ไม่บ่อยนักใน Landscape โดยผมมักใช้เลนส์ Tele 70-200 mm. ในการเจาะบางส่วนของภาพที่มี Pattern น่าสนใจมากกว่าจะใช้เลนส์ Ultra-wide แต่เมื่อมี “รูปแบบ” เกิดขึ้นในภาพที่ใช้เลนส์ Ultra-wide ก็ทำให้ภาพน่าสนใจมากขึ้น เช่น รูปแบบของเกลียวคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง การเรียงตัวของดอกไม้ฉากที่กระจัดกระจายมองเห็นเป็นรูปแบบที่สวยงาม เป็นต้น

พื้นผิว (Texture): 

ผมมักมองหาความขรุขระ หยาบกระด้าง ความไม่สม่ำเสมอ ของฉากหน้าเพื่อทำให้ภาพ Landscape น่าสนใจมากขึ้น เอาเข้าจริงพื้นผิว (Texture) นั้นหมายถึง พื้นผิวอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เรามีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ผิวขระขระสนิมของระฆังทองเหลือ ทำให้เรารู้สึกถึงความเก่าดูขลัง ลานหินโบราณแหลมคมบนชายหาด ทำให้เรารู้สึกถึงความเร้นลับ น่ากลัว หรือ ปุยเมฆบนฟ้าที่มีพื้นผิวเรียบๆ สีฟ้า ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ … ใน Landscape เมื่อผมต้องการหาฉากหน้าที่อลังการ ผมมักหาฉากหน้าที่สร้างมิติ แล้วมาเร่ง Texture ใน Adobe camera raw ผ่านเครื่องมือ Clarity (เน้น Midtone) และ Texture (เน้น High resolution ของพิกเซลที่ปรากฎในภาพ)

พื้นฐานองค์ประกอบศิลป์ทั้ง 6 ข้อข้างต้น ได้แก่ เส้น รูปร่าง รูปทรง รูปแบบ พื้นผิว และสี ได้ถูกหยิบมาใช้ในการถ่ายภาพ/แต่งภาพ Landscape มากมาย เช่น ในภาพนี้เริ่มตั้งแต่การเห็นภาพสุดท้ายที่ต้องการ (Pre-visual) โดยต้องการเน้นเส้นสายลายน้ำที่เกิดขึ้น (Line + Texture) ให้เป็นเส้นนำสายตา ร่วมกับการเลือกใช้เลนส์มุมกว้าง กดกล้องต่ำเพื่อเน้นรูปทรง (Form) ของก้อนหินฉากหน้า ไล่ไปสู่กลางภาพ และฉากหลัง … สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ อันเกิดจากการฝึกฝนทักษะ สั่งสมประสบการณ์ภาคสนาม สำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่ ขอให้จำ “รากฐาน 12 ข้อ” ข้างต้น แล้วเก็บไว้ใช้ทุกครั้งที่มีโอกาสนะครับ

สีสัน (Color): 

ในบรรดา 12 รากฐานนี้ สีสัน คือ สิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ การเข้าใจในทฤษฎีสีทำให้ภาพที่เราถ่าย/แต่งออกมานั้น สวยงามมีระดับ ภาพ Landscape ไม่เพียงต้องใช้การผสมผสานสีต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้าง Mood & Tone เท่านั้น (เช่น Monochromatic – 1 สี, Triad – 3 สี, หรือ Tetrad – 4 สี) แต่เรายังต้องประยุกต์ใช้สีคู่ตรงข้าม เพื่อเร่งสี/แก้ไขสีสันใน 3 โทนแสง (Shadows, Midtone, และ Highlight) เช่น ภาพ Landscape ที่ถ่ายแสงเช้า ในร่องหุบเขาอาจติดสีน้ำเงิน (Blue) ในส่วนเงา (Shadow) หากต้องการแก้สีในโทนนี้ เราต้องย้อมสีเหลือง (Yellow) เข้าไป เป็นต้น

ทั้งนี้ พี่นันท์จะมีคู่สีสำหรับการแต่งภาพในใจคือ คู่แรก Red – Cyan; คู่ที่สอง Green – Magenta; และคู่ที่สาม Blue – Yellow ซึ่งเมื่อเราประยุกต์ใช้ไปกับอีก 3 โทนแสงข้างต้น ก็สามารถควบคุมการปรากฎของสีได้เกือบทั้งหมดแล้วครับ ทั้งนี้ ใน Photoshop แนะนำให้ช่างภาพดิจิตอล ต้องเข้าใจการทำงานของ Color balance, Selective color และ Adjustment tools ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเร่งสี/แก้ไขสีสันในภาพ Landscape

และทิ้งท้ายให้ลองเข้าไปอ่านบทความเพิ่มเติมของ Erin Babnik ที่พูดถึงทฤษฎีสีในภาพ Landscape ที่น่าสนใจมาก ตาม Link นี้ครับ https://www.photocascadia.com/creative-applications-of-color-theory-in-landscape-photography/

www.paletton.com เป็น website ที่พี่นันท์ใช้อ้างอิงคู่สีต่างๆ ที่จะใช้ในการปั้น Mood & Tone ในภาพ Landscape สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ทฤษฎีสีแบบใด

Previous
Previous

เทคนิคการถ่ายภาพแสงเหนือ

Next
Next

การเพิ่มมิติให้กับภาพ