เทคนิคการถ่ายภาพแสงเหนือ

แสงเหนือเกิดจากอะไร? จุดดูแสงเหนือที่ดีที่สุดอยู่ตรงไหน? เมื่อไหร่ควรไปดูแสงเหนือดี? หลากหลายคำถามเหล่านี้ ไปหาคำตอบได้เองผ่าน Google ที่มีเนื้อหาเพียบ และตอบคำถามเราได้แน่นอน … แต่สำหรับการถ่ายภาพแสงเหนือที่นำมาแชร์นี้ พี่นันท์เขียนจากประสบการณ์ของตนเอง พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจจาก Website ต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับคนที่อยากถ่ายภาพแสงเหนือให้ออกมาสวย ๆ ครับ สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพแสงเหนือ พี่นันท์ขอแนะนำตามหัวข้อด้านล่างดังนี้:

Nikon Z7 + Nikkor 14-24 mm @ 14 mm; setting - f/2.8, 4s, iso 12800; White balance - 4000k

กล้อง/เลนส์ และขาตั้งกล้อง

  • กล้อง DSLR หรือ Mirrorless ในปัจจุบัน ใช้ได้หมด ต้องสามารถปรับ Manual ได้ ทั้งค่ารูรับแสง, ความเร็วชัตเตอร์ และค่า iso (แนะนำ: Nikon Z6/Z6 ii เพราะมี Based iso 100 และมีความเนียนของภาพเมื่อใช้ High iso สูงกว่ากล้องรุ่นอื่น)

  • ระยะเลนส์ที่แนะนำ คือ 14 -24 mm ที่มีค่ารูรับแสง f/2.8 หรือกว้างกว่าเช่น f/1.8, f/1.4 หากต้องการเก็บฉากหน้า แนะนำเลนส์ระยะ 14 - 18 mm จะสะดวกกว่า ไม่เช่นนั้น หากใช้เลนส์ที่มีระยะแคบกว่านี้ เช่น 20 - 24 mm ต้องถ่ายแนวตั้งเพื่อครอบคลุมฉากหน้า หรือถ่าย Panorama ซึ่งจะเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น (แนะนำ: Nikkor 24/1.8, Nikkor 20/1.8, หรือ Nikkor 14-24/2.8)

  • ขาตั้งกล้อง แนะนำขาตั้งที่มั่นคง แข็งแรง หลีกเลี่ยงขาเล็ก น้ำหนักเบา เพราะสภาพอากาศค่อนข้างหนาวเย็น มีลมแรง ขาตั้งควรกางระดับต่ำได้เพื่อเก็บฉากหน้า และกางขาสูงได้อย่างน้อยระดับอกของเรา เพื่อให้ยืนถ่ายภาพได้สะดวก

การตั้งค่ากล้องเบื้องต้น

  • ใช้ Manaul mode ทั้งการตั้งค่ากล้อง และ การโฟกัส

  • หลังจากกางขาตั้งกล้องและต้องการเช็คองค์ประกอบภาพ ตั้งค่า: f/2.8, 4s, iso 12800

  • ให้จำเสมอว่า “แสงเหนือ” เป็นแสงที่เคลื่อนไหว ไม่เหมือนถ่ายแสงเช้า หรือแสงเย็นที่แสงจะเปลี่ยนแปลงไปช้าๆ แต่แสงเหนือจะเคลื่อนไหวเร็วกว่า ดังนั้นเมื่อได้มุมกล้องแล้ว ปรับโฟกัสไปที่ Infinity (เพื่อถ่ายดาว / ทางช้างเผือก / แสงเหนือ) แล้วตั้งค่า: f/2.8, 2-4 s, iso 3200-6400 สำหรับแสงเหนือที่เคลื่อนไหว เป็นริ้วม่าน มีแสงสีเขียวมองเห็นด้วยตาเปล่าชัดเจน (ค่าตั้งแต่ 3 KP+ ขึ้นไป); และแนะนำให้ตั้งค่า Shutter speed 15 s ขึ้นไป สำหรับแสงเหนือที่มีสีเทาหรือสีเขียวจางๆ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวมากนัก (ค่า 1-2 KP) อาจดัน iso ขึ้นไปถึง 6400-12800 ตามความเหมาะสมกับสภาพแสง (เช่น สถานะของดวงจันทร์)

  • หากต้องการเก็บความชัดเจนของฉากหน้าเพิ่มเติม ให้ถ่าย Focus stack (มีแบบอัตโนมัติในกล้อง Nikon) ที่ f/2.8 - f/4.0, 15 - 30 s,และ iso 800 - 1600 (ปรับตามความเหมาะสมกับหน้างาน) ซึ่งจะได้ภาพมา 1 ชุด เพื่อไป Blend ภาพกับแสงเหนือบนท้องฟ้าใน Photoshop ต่อไป

  • หรือถ้าต้องการถ่ายฉากหน้าแค่ใบเดียว เพราะไม่อยากเสียเวลารวมภาพ แนะนำการตั้งค่าเบื้องต้น f/5.6 - 8.0, 2 - 4 minutes, iso 800 - 1600

  • ตั้งหน่วงเวลากดชัตเตอร์ 1-2 s เพื่อให้กล้องไม่สั่น … เทคนิคที่ใช้ได้ดีกับการถ่ายภาพพลุ ใช้ได้ดีกับการถ่ายแสงเหนือเช่นกัน

  • ตั้งค่า White Balance เบื้องต้น 3750 - 4000 Kelvin (โดยสามารถแก้ไขได้ในภายหลัง หากไม่พอใจสีสันที่ได้)

Nikon Z7 + Nikkor 14-24 mm @ 14 mm; setting - f/2.8, 4s, iso 12800; White balance - 3750 k

*ในภาพต้นฉบับ การเปิด High iso ทำให้คุณภาพของภาพลดลง รวมถึงความคมโดยรวม

ตัวอย่างภาพจาก Website ที่ใช้สำหรับพยากรณ์การเกิดแสงเหนือ จะเห็นวงกลมด้านบนสีเหลือง จุดนั้นคือประเทศ Norway ครับ ส่วนหากใครจะไปถ่ายแสงเหนือที่ประเทศอื่น ก็ลองเช็คตำแหน่งประเทศดูนะครับ

ข้อแนะนำอื่นๆ ในการถ่ายภาพแสงเหนือ

  • การเห็นแสงเหนือเวลากลางคืน ขึ้นกับช่วงเวลา (ตุลา - มีนา), สถานที่ (ประเทศที่ตั้งบนละติจูดสูงๆ เช่น Iceland, Norway), ปริมาณเมฆบนท้องฟ้า, และ Geomagnetic activity ที่มีค่าพยากรณ์จากน้อยไปมาก คือ  0 - 9 KP โดยมีความหมายคร่าวๆ ดังนี้

    • ค่า 1 - 2 KP มองเห็นเป็นสีเทาหรือเขียวบางๆ แต่เมื่อตั้งค่ากล้อง ลาก Shutter speed สัก 20-30 วินาที จะเห็นแสงสีเขียวชัดเจนขึ้น

    • ค่า 3-4 KP เราจะเห็นสีเขียวชัดเจน เคลื่อนไหวพริ้วไปมาสวยงาม กระจายไปทั่วฟ้า เห็นรายละเอียดแสงเหนือชัดเจน และถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น

    • ค่า 5 KP+ คือดีงาม เราจะเห็นแสงเหนือแรงขึ้น สว่าง อลังการทั่วท้องฟ้า อาจมีสีเหลือง ชมพู ม่วงปะปน เคลื่อนไหวเป็นริ้วม่าน เป็นคลื่นชัดเจน

      ** ปรกติเช็คค่า 2 KP ขึ้นไปก็ควรออกไปเตร่ข้างนอกเพื่อรอถ่ายแสงเหนือกันแล้ว**

  • อยากอ่านค่าพยากรณ์แสงเหนือ แนะนำศึกษาเพิ่มเติมที่: https://capturetheatlas.com/northern-lights-forecast

  • พยากรณ์ Aurora เช็คได้หลายแห่ง เช่น:

  • ค่าพยากรณ์แสงเหนือ เป็นแค่แนวทาง ไม่มีความถูกต้องเสมอไป บางวันพยากรณ์แรง KP สูงแต่ออกมาง่อย บางวันบอกว่าแสงไม่ Active น่าจะง่อย ก็ออกมาสวยซะงั้น … ดังนั้น หากฟ้าเปิด ออกไปนอนในรถ เผื่อถ่ายแสงเหนือดีกว่านอนตาเหลือกที่โรงแรม

  • ฝึกถ่ายภาพด้วยเลนส์ช่วงกลางวันเพื่อเช็คการปรับโฟกัส อาจใช้ AF ถ่ายภาพระยะไกลสุด (เช่น ภูเขาไกลๆ) แล้วดูสเกลบนกระบอกเลนส์ จำไว้เพื่อใช้ในตอนกลางคืนที่เราต้องหมุน Focus เอง

  • อย่าลืม เช็คความชัดของแสงเหนือ และ/หรือฉากหน้า ต้องการเน้นอะไร … ตรงนั้นต้องชัด

  • ถ่ายภาพเผื่อเสมอ โดยเฉพาะภาพ Panorama ตอนกลางคืน กดมาสัก 2-3 ชุด อุ่นใจกว่า

  • วางแผนทริป ให้เช็คการขึ้นลงของพระจันทร์ และรอบของพระจันทร์เสมอ (Moon phase) เป็นช่วงข้างขึ้น หรือข้างแรม ขึ้นกี่โมง ตกกี่โมง แน่นอนพระจันทร์เต็มดวง รบกวนแสงเหนือ ขณะที่คืนเดือนดับ ก็มืดเกินไปที่จะได้แสงบริเวณฉากหน้า แนะนำพระจันทร์ 1/4 - 1/2 ดวง เพื่อการถ่ายภาพที่มีแสงส่องฉากหน้า และไม่รบกวนแสงเหนือมากนัก (เช็ค Lunar calendar ได้ที่: www.timeanddate.com)

  • หากอยากเช็คตำแหน่งพระจันทร์แบบ Real time แนะนำ Sky Safari หรือ PhotoPills app บนมือถือครับ

  • อย่าลืมเช็ค RGB histogram แสงสีเขียวบนฟ้าอาจมีแสงสวยงามบนหน้าจอ แต่เมื่อเช็คช่องสีเขียวใน RGB histogram อาจพบว่ามันดีดไปทางขวามือจนล้น แสดงว่าเราอาจเปิดรับแสงมากเกินไป (Clipping the highlights) หรือ สีเขียวของแสงเหนือหลุด Highlight! … หมั่นเช็ค Histogram เสมอ แสงมืดไปหน่อยเปิดเงา เปิดแสงได้ แต่หากแสงสีสว่างไปจนหลุด Highlight เรียกคืนไม่ได้ครับ

  • ถ่ายภาพด้วย RAW file เสมอ

  • อย่าเปิดแสงสว่างของจอ LCD มากไป ไม่งั้นตาเราจะเห็นภาพที่ถ่ายมาสว่างกว่าปรกติ แต่ภาพจริงที่ถ่ายมานั้นแสงไม่พอ (Under-exposure)

  • ควรหาฉากหน้า (Foreground) ที่น่าสนใจเพื่อให้ภาพมีพลังขึ้น เช่น ก้อนหิน ลายผืนทราย ผิวหิมะ หรือลำธาร ซึ่งจำเป็นต้องใช้เลนส์มุมกว้าง แนะนำระยะ 12 - 16 mm

  • สำรองแบตเตอรรี่ และควรเก็บไว้ในที่อบอุ่น เช่น ในเสื้อกันหนาว เพื่อป้องกันการคลายประจุ

  • ระวังการเข้า/ออกจากรถ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกระทันหัน ที่อาจทำให้เลนส์เป็นฝ้า การเข้าพักในโรงแรมหลังจากลุยถ่ายภาพมา อย่ารีบเอากล้องออกจากกระเป๋า ควรทิ้งไว้สักพักเพื่อปรับอุณหภูมิแบบค่อยเป็นค่อยไป

  • ควรติดผ้าเช็ดเลนส์ไปถ่ายแสงเหนือ ซึ่งอาจมีละอองน้ำ ฝุ่นสกปรก หรือไอน้ำบางๆ และหากเป็นการถ่ายใกล้ทะเล แนะนำกระดาษเปียกแบบไม่ผสมแอลกอฮอร์ และทิชชูสะอาดแทนการใช้ผ้าเช็ดเลนส์เนื่องจากละอองน้ำทะเลอาจทิ้งคราบ จึงควรใช้กระดาษเปียกเช็ดก่อนจะดีกว่า

Nikon Z7 + Nikkor 14-24 mm @ 14 mm; setting - f/4.0, 4s, iso 6400; White balance - 4000k

*เป็นคืนที่แสงเหนือออกมาแรงมาก จากที่คาดว่าระดับ 2 KP ตามพยากรณ์ แต่น่าจะออกมาถึงระดับ 3-4 KP ดังนั้น การได้ออกไปต่างประเทศไกลถึงดินแดนทางตอนเหนือ หากไม่เหนื่อยมากจนเกินไป หรือฟ้าปิดเมฆปกคลุมทั่วท้องฟ้า ก็น่าจะออกไปลุ้นแสงเหนือ เผื่อโชคดีได้ภาพสวยๆ ติดมือกลับบ้าน

Nikon Z7 + Nikkor 14-24 mm @ 14 mm; setting - f/2.8, 4s, iso 3200

*เลนส์มุมกว้างสามารถเข้ามุมเพื่อเก็บฉากหน้าได้ดี ในภาพนี้เป็นตัวอย่างของการโฟกัสไปที่ภูเขาด้านหลัง การวางกล้องใกล้ฉากหน้าแบบนี้ ทำให้ฉากหน้าเบลอ จึงควรแก้ไขด้วย การถ่าย Focus stack ถ่ายฉากหน้าให้คมชัดสัก 3-4 ใบ ไล่โฟกัสจากหน้าสุดไปยังกลางภาพ จากนั้นจึงนำมารวมกันใน Post processing ต่อไป

Nikon Z7 + Nikkor 14-24 mm @ 14 mm; setting - f/2.8, 6s, iso 6400

* เมื่อเลนส์ที่เรามีไม่สามารถบันทึกภาพที่เราต้องการได้ ทางออกคือ การถ่ายภาพ Panorama จะเป็นแนวนอน หรือแนวตั้ง ก็แล้วแต่ภาพ Visualization ที่มองเอาไว้ เช่น ในภาพนี้ผมเลือกถ่าย Pano แนวตั้ง พร้อมเก็บแสงคร่อมมาด้วย จากนั้นนำทั้งหมดมารวมกันใน Photoshop ในภายหลัง

*ภาพสำเร็จ จากการรวมภาพที่ถ่ายจากเลนส์ระยะ 14 mm จำนวน 5 ใบ

Previous
Previous

Landscape-skills Checklist ... สำหรับมือใหม่อยาก Turn Pro

Next
Next

12 รากฐาน … เพื่อถ่ายภาพ Landscape ให้สวยกว่าที่เคย