Landscape-skills Checklist ... สำหรับมือใหม่อยาก Turn Pro

ทุกคนอยากเทิร์นโปร ถ่ายภาพได้สวย มีมุมมองภาพที่ดี และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เหมือนช่างภาพมืออาชีพ แต่ในเมื่อเรายังเป็นมือใหม่ หัดถ่ายภาพ บางคนเพิ่งซื้อกล้องมาไม่นาน บางคนออกทริปถ่ายภาพไม่ถึงปี ระดับประสบการณ์ยังจัดว่าเป็นมือใหม่ แล้วจะทำอย่างไรให้ถ่ายภาพได้ดีขึ้น?

และนี่คือ Checklist ทักษะ + เทคนิค ที่เราควรฝึกฝน ทำความเข้าใจ และหาคำตอบเพิ่มเติมให้ตนเอง เพื่อให้มีฝีมือก้าวหน้าอย่างที่ต้องการ บทความนี้ไม่ได้รวบรวมข้อมูลแบบละเอียดในทุกข้อ เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นให้เราได้ทราบว่ามีสิ่งใดบ้างที่สำคัญ และให้หาข้อมูลผ่าน Internet หากสนใจในหัวข้อใดเป็นพิเศษ ... มี Checklist อะไรบ้าง ป่ะ ไปดูกันครับ 🙂

ต้องเข้าใจอุปกรณ์ที่ตนมีให้ดีเสียก่อน

  • การตั้งค่ากล้อง: ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสง, ความเร็วชัตเตอร์ และค่า iso (หรือที่เรียกว่า Exposure triangle) การตั้งค่าแต่ละค่าส่งผลต่อภาพที่เราถ่ายอย่างไร?

  • การควบคุมกล้อง: ทำได้ตามต้องการหรือเปล่า เช่น ต้องการตั้งการวัดแสงหนักกลาง, เฉลี่ยทั้งภาพ, หรือเฉพาะจุด ทำได้ไหม? หรือ ต้องการเปลี่ยนจุดโฟกัส เปลี่ยนจากระบบ Auto focus ไปเป็น Manual focus เปลียนได้หรือเปล่า? น่าแปลกใจที่มือใหม่ส่วนมากต้องการไปถึงปลายทางเพื่อให้ได้ภาพสวย แต่ระหว่างทางยังไปไม่เป็น พื้นฐานเหล่านี้จึงสำคัญมากครับ

  • การเลือกใช้เลนส์: ต้องรู้ว่าเลนส์ที่เราชอบ คุ้นเคย คือระยะไหน? และเลนส์ระยะต่างๆ เหมาะกับการถ่ายภาพแบบใด? มุมกว้าง / มุมแคบ ... รูรับแสงกว้าง / รูรับแสงแคบ ... เลนส์ fix / เลนส์ zoom

  • รู้จักใช้อุปกรณ์เสริมที่จำเป็น: สำหรับผมคงยกให้ฟิลเตอร์ Polarize และ GND เป็นเครื่องมือเสริมอันดับหนึ่งในสาย Landscape ที่มือใหม่ควรหัดใช้ ส่วนอุปกรณ์เสริมอื่นๆ คงเป็น L-plate, Remote control, และ Flash ครับ ค่อยๆ เรียนรู้ ปรับใช้ให้เหมาะกับการถ่ายภาพของตนเอง

ต้องรู้ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับถ่ายภาพให้ดี

  • Manual mode: ลองฝึกใช้ M-mode บนกล้อง ที่เราสามารถปรับรูรับแสง, ความเร็วชัตเตอร์ และตั้งค่า iso ได้ตามต้องการ ... แต่ก่อนการฝึกถ่ายภาพเริ่มต้นจากกล้องฟิล์ม ที่มีเฉพาะ M-mode ถ่ายแต่ละครั้งต้องจด และรอลุ้นภาพที่ออกมาจากการล้างภาพ ทำให้ Learning curve ไปได้ช้ามาก แต่ปัจจุบัน ถ่ายปุ๊บ เห็นปั๊บ ทำให้การเรียนรู้ตรงนี้ง่าย เร็ว จะเป็นไม่เป็นล้วนขึ้นกับตัวเราทั้งนั้น ... หากขยัน ก็เก่งแน่นอนครับ

  • เข้าใจแสงในรูปแบบต่างๆ: ให้ศึกษาสภาพแสง และทิศทางแสงสำหรับการถ่ายภาพ Landscape และเรียนรู้ถ่ายภาพในแต่ละแบบ ... ตามแสง ย้อนแสง แสงเฉียง แสงข้าง แสงแต่ละแบบส่งผลต่อมิติของภาพยังไง? หมั่นออกไปถ่ายภาพบ่อยๆ ทั้งแสงเช้า แสงเย็น ช่วงกลางวัน ก็จะเข้าใจกับแสงแต่ละแบบมากขึ้น

  • ศึกษาองค์ประกอบภาพ: มุมเดียวกัน แต่ละคนมีการนำเสนอแตกต่างกัน มืออาชีพมักถ่ายทอดออกมาได้ดี น่าสนใจกว่า นั่นเป็นเพราะประสบการณ์ และมุมมองด้านองค์ประกอบภาพเป็นสำคัญ ...​ การวางองค์ประกอบภาพง่ายที่ได้ผลเสมอ เช่น จุดตัดเก้าช่อง, เส้นนำสายตา, ความสมมาตร, ความสมดุล, การใช้กรอบภาพ, การใช้ฉากหน้า, การทำซ้ำ (Pattern) ฯลฯ

  • เรียนรู้เรื่องทฤษฎีสี: ภาพ Landscape มีสีสันธรรมชาติมาช่วยแต่งแต้มมากมาย หากเรารู้จักโฟกัสสีที่น่าสนใจ โดยใช้ความรู้เรื่องทฤษฎีสี จะทำให้ภาพออกมาสวยมีเสน่ห์ โดยทั่วไปเราคงเข้าใจโทนสีร้อน และโทนสีเย็นกันแล้ว ปรกติเราเลือกนำเสนอโทนใดโทนหนึ่งให้เด่นกว่าเพื่อคุมโทนภาพ และอยากแนะนำให้ศึกษาคู่สี Complementary, Analogous และ Triadic Colors เพิ่มเติม เราจะสามารถเลือกสีให้ปรากฎในภาพ (ทั้งในขั้นตอนถ่ายภาพ / แต่งภาพ) ได้ดีขึ้น เช่น คู่สีตรงข้าม แดง/เขียว; ส้ม/น้ำเงิน การที่ภาพเรามีคู่สีตรงกันข้ามเกิดขึ้นทำให้ภาพดูเด่น น่าสนใจ หรือหากอยากคุมโทนภาพก็เลือกใช้ Analogous ในภาพ เช่น สีม่วง/น้ำเงิน/เขียวฟ้า อยู่ในภาพเดียวกัน เป็นต้น

  • ศึกษาจากคนอื่น: ดู + ถาม + ฟัง ให้มากขึ้น เราจะเก่งขึ้น อันนี้จริงในทุกๆ ศาสตร์เลย อย่างในการถ่ายภาพ ขอให้เราดูภาพสวยๆ ของคนอื่นให้มาก เสพภาพสวย ภาพประกวด ภาพแกลลอรี่ ภาพของช่างภาพมืออาชีพ เราจะเรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติ ไม่เข้าใจต้องถามไม่ต้องอาย และตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ เก็บนำไปคิด ไปฝึกฝน ทักษะชีวิตง่ายๆ เพียงเท่านี้ เราก็เก่งขึ้นแบบไม่รู้ตัวแล้ว

จะให้เก่งครบต้องฝึกการแต่งภาพให้คล่องด้วย

  • Adobe Lightroom: ใช้สำหรับจัดการภาพจำนวนมาก ง่าย รวดเร็ว มี Plug-in + Filter ช่วยมากมาย

  • Adobe Photoshop: ใช้ปรับแต่งภาพขั้นสูง โดยเฉพาะการรวมภาพเข้าด้วยกัน เช่น HDR-Panorama, Focus-stack และการซ้อนแสง ซ้อนฟ้า ที่ซับซ้อนมากขึ้น มีลักษณะทำงานเป็น Layer ใช้เวลาศึกษาค่อนข้างนานถึงจะชำนาญ

  • App แต่งภาพ Ai: ที่ใช้ร่วมกับการแต่งภาพด้วย Lightroom & Photoshop ปัจจุบันสะดวกมากจริงๆ จะปรับภาพให้คม (Sharpen Ai), ขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น (Gigapixel Ai), ปรับแต่งภาพแบบอัตโนมัติ (เช่น Luminar Pro, Dxo FilmPack, Nik Collection) เรียกได้ว่าคลิ๊กเดียว ได้ภาพสวย แต่ระวังการเสพติดแต่งภาพด้วยวิธีการเหล่านี้ เราจะไม่ได้เรียนรู้พื้นฐานการแต่งภาพ เพราะพึ่งแต่ App สำเร็จ เป็นตัวกีดขวางการพัฒนาอย่างแท้จริง

ฝึกฝนทั้งเดี่ยว และกลุ่ม อย่างต่อเนื่อง

  • ถ่ายคนเดียวเหงา ก็หาก๊วนไปถ่ายด้วยกัน: บ่อยครั้งฝึกฝนลำพังก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ลองออกไปกับทริปถ่ายภาพทั้งในประเทศ / ต่างประเทศ แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่เราได้มิตรภาพ ความรู้ และประสบการณ์ภาคสนามมาเต็มๆ และเก่งขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว

  • ออกไปถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอ: ลองตั้งโจทย์ให้ตัวเอง เรียนรู้อุปกรณ์ เรียนรู้การจัดองค์ประกอบภาพ ไม่จำเป็นต้องไปไกลบ้านก็ถ่ายภาพได้ดีขึ้น สิ่งที่ต้องทำเตรียมคือ ทัศนคติ อย่าคิดถ่ายวิวสวยงามให้สวย เพราะเราคงไม่มีโอกาสนั้นทุกวัน ... ปรับการคิด ถ่ายสิ่งรอบตัวให้สวย มีเสน่ห์ ฝึกไปเถอะ จับกล้อง ใช้กล้องบ่อยๆ สนุกดี

  • ลองเล่นกับการโจทย์ หรืออุปกรณ์ใหม่ๆ: ความท้าทายทำให้เราสนุก ตั้งโจทย์ให้ตัวเองออกไปถ่ายภาพ เช่น วันนี้เราจะถ่าย "ป้าย" ให้ออกมาน่าสนใจ, วันนี้เราจะใช้เลนส์ 50 mm., วันนี้เราจะถ่ายภาพด้วย M-mode โดยปิด LCD มีกำหนดแค่ 36 ภาพ ฯลฯ ... และพี่นันท์พบว่า การได้อุปกรณ์ใหม่ๆ มาฝึกฝน จุดแรงใจในการถ่ายภาพได้ดีมากเช่นกัน เช่น เลนส์ตัวใหม่ แฟรชใหม่ ฟิลเตอร์ใหม่ หรือแม้แต่ Format กล้องใหม่ เช่น ฟิล์ม, โพลารอยด์, มือถือ ได้หมดหล่ะ หากสิ่งนั้นๆ ต่อยอดความสุขของเราให้สนุกยิ่งขึ้น

  • รีวิวผลงานตัวเองอย่างต่อเนื่อง: เราถ่ายภาพดียัง อย่าใช้ความคิดตัวเองตัดสิน ลองฟังคำวิจารณ์จากคนอื่นๆ หรือพยายามใช้ใจเป็นกลาง จับผิดภาพตัวเองสักหน่อย องค์ประกอบภาพดีไหม, สีสดไปไหม, ภาพเนียนไหม, จังหวะดีหรือยัง, มีอะไรเกินเข้ามา หรือขาดหายไปหรือเปล่า ... รีวิวงานตัวเองซ้ำๆ คราวหน้าจะได้ระวังไม่ให้ผิดพลาดซ้ำๆ

  • หาแรงบันดาลใจ ลองส่งภาพเข้าประกวดดูสิ: แข่งกับตัวเองแล้วเบื่อ ไม่กระตุ้น ... ลองลงชิงชัยสนามประกวดภาพวิว ทิวทัศน์ดูบ้าง ผมเห็นเพื่อนหลายคนฝีมือดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา หลังผ่านเวทีประกวดมาสักพัก หลังจากได้คุย ก็ทราบว่า มันมีแรงขับ ทั้งตื่นเต้น และกดดัน แรกๆ ไม่คาดหวัง แต่หลังๆ ไม่อยากแพ้ ทำให้ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ... นับเป็นเรื่องที่ดีของการเข้าประกวดจริงๆ ครับ

เรียนรู้ทักษะถ่ายภาพ Landscape ขั้นกลาง - สูง

นอกจากยกกล้องขึ้นถ่ายภาพแบบมือใหม่ … การถ่ายภาพวิว ทิวทัศน์ให้สวยงาม ยังต้องใช้ทักษะ ความชำนาญมากขึ้น … มีอีกหลากหลายเทคนิคที่มือใหม่ควรศึกษา และฝึกฝน นี่คือ Check-list เพิ่มเติมที่อยากให้ลองถามตัวเองดูว่า “เราเข้าใจ และเคยทดลองถ่ายภาพลักษณะนี้มาบ้างหรือยัง”:

    • Highlight priority mode: ลองใช้การวัดแสงแบบ Highlight priority ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เปิดรับแสงจน Over ผมชอบใช้ Mode นี้สำหรับการถ่ายที่ต้องการเก็บรายละเอียดส่วนที่โดนแสงในภาพ ไม่ให้รายละเอียดสูญหายไป (เมื่อภาพมืดไป เราเปิดแสง / เปิดเงาแก้ไขได้ในภายหลัง ซึ่งจะง่ายกว่าการแก้ไขส่วนรายละเอียดที่หายไปหากส่วนนั้นมีค่าแสงมากเกินไป)

    • Long exposure: เปิด Shutter speed นานๆ เพื่อถ่ายภาพดาว, ถ่ายภาพพล หรือเพื่อหวังผลพิเศษบางอย่าง เช่น ระหว่างถ่ายแสงเช้า เราใช้ฟิลเตอร์ ND1000 ที่ลดแสง 10 stops สวมหน้าเลนส์ เพื่อลาก Shutter speed นานเป็นหลายนาที เพื่อให้เมฆไหลนุ่มนวลระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น

    • Panoramic shots: ถ่ายภาพมาต่อกันหลายใบ เมื่อระยะเลนส์ไม่ครอบคลุม จะเป็นการถ่ายภาพแนวนอนหลายใบ หรือถ่ายภาพแนวตั้งหลายใบ จุดประสงค์เดียวกันคือเก็บภาพตามที่เราคิดไว้ แนะนำเบื้องต้น ควรใช้ Manual mode ตั้งค่าวัดแสงให้ทุกภาพเปิดรับแสงเท่ากัน + ควรล็อค focus ไว้ให้เท่ากันแต่ละครั้งที่กดถ่ายภาพ + ถ่ายให้แต่ละใบคร่อมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ที่เหลือก็ไปเรียนรู้การต่อภาพเพิ่มเติมตอน Post processing

    • Bracketing, HDR และการถ่ายภาพด้วยฟิลเตอร์ GND: การถ่ายภาพคร่อมแสง เมื่อวิวที่เราจะถ่ายมีสภาพแสงต่างกันมากระหว่างฉากหน้า (พื้นดิน) และฉากหลัง (ท้องฟ้าที่มีแสง/พระอาทิตย์ขึ้น/พระอาทิตย์ตก) กรณีนี้ถ่ายภาพใบเดียวจะไม่สามารถเก็บแสงได้ครบ จึงต้องถ่ายภาพคร่อมแสง (Exposure bracketing) โดยถ่ายปรกติ, ถ่ายเพิ่มแสง +2 stops และถ่ายลดแสง -2 stops (หรืออาจถ่ายเพิ่ม/ลดแสงมากกว่านี้ถ้าจำเป็น) แล้วนำภาพทั้งหมดไปรวมกันใน Photoshop เทคนิครวมแสงนี้ หากมีการเพิ่มรายละเอียด สีสันให้มากขึ้น นิยมเรียกว่าการถ่ายภาพ HDR ... นอกจากนี้ เราอาจใช้ฟิลเตอร์ครึ่งซีก เพื่อถ่ายภาพให้จบเพียงครั้งเดียว โดยใช้ฟิลเตอร์ครึ่งซีกเพื่อบังแสงท้องฟ้าลง (เช่น ลดแสง 3 stops) จะทำให้แสงท้องฟ้าและพื้นดินไม่ต่างกันมาก สามารถถ่ายภาพจบเพียงใบเดียว

    • Focus Stack: เทคนิคนี้ต้องใช้ทั้งการถ่ายภาพ และแต่งภาพร่วมกันถึงจะทำให้ภาพออกมาสวยงาม โดยเทคนิคนี้ต้องการลดข้อจำกัดของการถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างที่ต้องการให้ฉากหน้าและฉากหลังชัดทั้งหมด (ปรกติจะชัดเพียงแค่ส่วนเดียว) โดยถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องและโฟกัสแต่ละใบแตกต่างกัน ไล่จากโฟกัสฉากหน้า, ฉากกลาง, ฉากหลัง แล้วนำภาพไปร่วมกันใน Post processing

    • Timelapse และ Hyper-lapse: ทั้งสองเทคนิค เป็นการถ่ายภาพนิ่งจำนวนหนึ่งต่อเนื่องไปเพื่อนำมารวมกันเป็นภาพเคลื่อนไหว สมมุติแต่ละภาพถ่ายห่างกัน 3 วินาที 1 นาทีได้ 20 ภาพ ดังนั้นถ่ายต่อเนื่อง 15 นาที จะได้ภาพนิ่งทั้งหมด 300 ใบ เมื่อนำภาพทั้งหมดไปวางต่อๆ กันในโปรแกรมตัดต่อวิดีโอ จะได้ภาพเคลื่อนไหว 10 วินาที (@30fps) โดยการถ่ายภาพที่ตั้งกล้องไว้กับที่เรียกว่า Timelapse ขณะที่หากเราเดิน/เคลื่อนที่ไปพร้อมกับถ่ายภาพไปเรื่อยๆ เรียกว่า Hyper-lapse (ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์บันทึกภาพสมัยใหม่ช่วยสร้างสรรค์การถ่ายภาพทั้งสองแบบได้อย่างง่ายดาย เช่น instra 360 และ Drone

    • เทคนิคอื่นๆ (ถ้ามี)

เนื้อหาข้างต้น เป็นเพียง Guideline ให้เราได้รู้จักโลกของการถ่ายภาพวิว ทิวทัศน์มากขึ้นกว่าเดิม หากเรามีความรู้ ทักษะมากขึ้น เมื่อย้อนมาอ่าน Checklist เหล่านี้ เราจะพบว่า มันไม่ได้ยากหรือซับซ้อนเท่าที่คิดนัก ตรงกันข้าม มันช่างง่าย และมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการนำไปใช้เพื่อเอาชนะข้อจำกัดที่มีในภาคสนาม

จะถ่ายภาพให้สวย ต้องฝึกฝน จริงจัง ออกเดินทางฝึกฝน และมีเป้าหมาย รับรองว่าเก่งขึ้นในเร็ววันครับ

Previous
Previous

บันทึกจากภาคสนาม Norway Winter - March 2024

Next
Next

เทคนิคการถ่ายภาพแสงเหนือ