เตรียมเลนส์ถ่ายดาว f/2.8 พอหรือไม่?

[ภาพที่ 1: การถ่ายภาพทางช้างเผือก อาจไม่จำเป็นต้องขวนขวาย ลงทุนซื้อเลนส์คุณภาพสูงๆ อย่าง Nikon 24/f1.4 เพราะเลนส์ที่มี f/2.8 ก็เพียงพอแล้วในการเก็บความประทับใจจากการชมแสงดาวยามค่ำคืน ในภาพนี้ผมถ่ายภาพทางช้างเผือก ด้วยการกำหนดค่ากล้องที่ f/2.8, 30 วินาที, iso 3200 และนำมารวมกับภาพดาวหมุน ที่ถ่ายด้วย f/4.0 ลากชัตเตอร์ยาวๆ]

เริ่มจะเปิดฤดูล่าช้าง-ถ่ายดาว (Milky way) แล้วนะครับ ซึ่งในปี 2559 ก็จะเริ่มต้นในปลายเดือนมกราคมนี้แล้ว จากเมื่อปีก่อน ที่ช่างภาพทั้งมือใหม่ มือเก๋า ต่างนิยมออกไปล่าแสงดาวกันมากขึ้น และเริ่มเห็นภาพถ่ายทางช้างเผือกสวยโหดจากเพื่อนๆ เต็ม Facebook เป็นที่น่าชื่นใจว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการถ่ายภาพ และการพัฒนาตนเองของช่างภาพไทย เป็นไปอย่างก้าวกระโดด โดยดูคร่าวๆ จากจำนวนภาพถ่ายทางช้างเผือกเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานี้ จำนวนผิดกันลิบลับ ตอนนี้แค่เราเริ่มหัดถ่ายภาพ และสนใจถ่ายภาพดาวตอนกลางคืน ก็ทำได้ไม่ยาก

ยกตัวอย่างเลยคือ … ผมเพิ่งกลับจากทริปถ่ายภาพที่ภาคใต้ ลุยถ่ายภาพทะเล ภูเขา และล่าช้าง เป็นเวลา 6 วัน 5 คืน และได้พบกับเพื่อนๆ ที่รักการถ่ายภาพ Landscape มาแจมถ่ายภาพดาวด้วยกัน หลายๆ คนเพิ่งจับกล้องไม่ถึงครึ่งปี หนึ่งในนั้นเพิ่งถอยกล้องมาแค่ 2 อาทิตย์ ก็มีทางช้างเผือกเป็นของตัวเองแล้ว เป็นข้อสรุปส่วนตัวเลยว่า โลกก้าวไปไวมาก หากเราหยุดพัฒนา รับรองได้ว่าเราจะตามคนอื่นๆ ไม่ทัน!

หนึ่งในคำถามที่ผมอยากนำข้อมูลส่วนตัวมาแชร์ให้ฟังในวันนี้ ก็คือ จำเป็นไหม ต้องสอยเลนส์เทพ เช่น 24/1.4 หรือ 20/1.8 มาถ่ายภาพทางช้างเผือก? เลนส์ที่มีอยู่เช่น 14-24/2.8 หรือ 16-35/2.8 พอเพียงไหม? เพื่ออธิบายให้เห็นภาพชัด ผมจึงลงสนามเพื่อเก็บภาพมาประกอบคำอธิบาย และให้หัวใจแต่ละท่านตัดสินกันเอาเองนะครับ โดยต้องการเปรียบเทียบภาพถ่ายทางช้างเผือกระหว่าง f/1.4 และ f/2.8 ว่า ผลที่ได้จะต่างกันมากไหม? โดยเลนส์ที่ผมนำไปเปรียบเทียบก็คือ Nikon 24/1.4 และ Carl Zeiss ZF 15/2.8

ทั้งนี้ ก่อนจะนำเลนส์ 2 ตัวมาทดสอบนั้น ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานดังนี้ครับ:

  • เลนส์ทั้งสองตัวมีค่า f/stop ต่างกัน 2 stops (1.4 และ 2.8) ดังนั้น ที่ f กว้างสุด Nikon 24/1.4 จะสามารถบันทึกแสงได้สว่างกว่า ทำให้ใช้ iso ได้ต่ำกว่า หากให้ค่าอื่นๆ คงที่ เมื่อเปิด iso ของกล้องที่ใช้เลนส์ 1.4 ที่ค่า iso 1600 จะต้องตั้งค่า iso ของกล้องที่ใช้เลนส์ 2.8 ที่ค่า iso 6400 (และหากเป็นเลนส์ที่มีค่า f/stop แคบกว่านั้น เช่น Nikon 16-35/4.0 ต้องตั้งค่า iso สูงถึง 12,800 เลยทีเดียว ถึงจะมีค่าแสงเท่ากับเลนส์ 1.4)

  • กล้องระดับ Mid level (เช่น Nikon D610) ถึง Semi Pro (เช่น Nikon D810) จะมีค่า iso ที่มีคุณภาพพอรับได้อยู่ในช่วง iso 3200 ถึง iso 6400 ส่วนตัวผม จะไม่ตั้งค่า iso สูงเกิน 3200 เพราะพบว่าเมื่อพิมพ์ภาพออกมายังพอมีคุณภาพที่ “พอไหว” ส่วนภาพที่พิมพ์มาโดยใช้ iso 6400 ขึ้นไปนั้น มี Noise มากเกินไป ภาพออกมาเละเลยครับ

  • ด้วยข้อสรุปจากข้อ 2 ผมอยากแนะนำว่า หากจะถ่ายภาพทางช้างเผือกเพื่อนำไปใช้งานต่อ เช่น พิมพ์ภาพ ส่งงานให้ลูกค้า หรือขายภาพเข้า Stock เลนส์ที่มีค่า f/stop แคบกว่า 2.8 จึงไม่แนะนำมาใช้สำหรับถ่ายภาพทางช้างเผือก (รวมถึงดวงดาว) ครับ

  • ดังนั้น จากข้อ 1. ที่บอกว่าเลนส์ 2.8 จะมีการเปิดรับแสงเท่ากับเลนส์ 1.4 ได้จะต้องใช้ iso 6400 นั้น เราจึงควรเปิดสูงสุดแค่ iso 3200 แล้วไปชดเชยแสงอีก 1 stop ที่ระยะเวลาเปิดรับแสง (Exposure time) แทน นั่นก็คือ ต้องเปิดหน้ากล้องให้นานกว่ากัน 1 เท่า เช่น กล้องที่ใช้เลนส์ 1.4 เปิดรับแสง 15 วินาทีเพื่อเก็บภาพทางช้างเผือก ดังนั้นกล้องที่ใช้เลนส์ 2.8 ต้องเปิดหน้ากล้อง 30 วินาที เป็นต้น

  • การถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบในครั้งนี้ เพื่อให้กล้องทั้งสองตัวนั้น มีค่าแสงเท่ากัน ผมจึงตั้งค่าสำหรับกล้องที่ใช้เลนส์ 24/1.4 ไว้ที่ f/1.4., 15sec., iso 1600 ครับ และสำหรับเลนส์ 15/2.8 นั้น ผมตั้งไว้ที่ f/2.8., 30sec., iso 3200 (จะเห็นว่า จะเปิดหน้ากล้องนานกว่า 26 วินาที จากข้อ 5. ซึ่งในภาพที่ได้จาก 15/2.8 นี้ เราจะเห็นดาวเคลื่อนที่นิดหน่อยครับ)

  • ผมถ่ายภาพเพียงใบเดียวจากเลนส์ 15/2.8 เพื่อเก็บทางช้างเผือก ตรงนี้โครตสะดวก และง่ายมาก แต่สำหรับเลนส์ 24/1.4 นั้น ต้องถ่ายภาพแนวตั้งจำนวน 6 ใบ เพื่อให้ได้มุมใกล้เคียงกับเลนส์ 15mm.

[ภาพที่ 2: หากเราต้องการถ่ายภาพดาวหมุน (Star trails) ควรปรับรูรับแสงในระหว่าง f/4.0 – f/5.6 เพื่อให้เส้นแสงของดาวมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป เช่นในภาพนี้ ผมเปิดรูรับแสงที่ f/4.0 โดยเปิดหน้ากล้องค้างไว้ยาวๆ เพื่อลากดาวให้เป็นเส้น]

สรุป

ฤดูกาลล่าช้าง ล่าดาวในปีนี้ พกเลนส์มุมกว้างที่มีค่า f/2.8 ก็เพียงพอสำหรับการบันทึกความทรงจำ การขายภาพ หรือการแชร์ภาพให้เพื่อนๆ ดูผ่าน Social Networking รวมถึงกรณีที่ต้องเดินทางไกล แบกเป้ แบกเลนส์เข้าป่า ปีนเขา อาจจะเลือกเลนส์ Zoom มุมกว้าง เช่น Nikon 14-24/f2.8 หรือ 17-35/f2.8 ที่อเนกประสงค์ และราคาถูกกว่าเลนส์ Fix f/1.4 ครับ

ส่วนเลนส์ f/1.4 นั้น เหมาะสำหรับคนที่ต้องการคุณภาพระดับ “ดี” เพื่อให้การพิมพ์ภาพออกมานั้นใส เนียน แต่ต้องแลกมาด้วยความไม่สะดวกในการถ่ายภาพ  เพราะระยะ 24 mm. แคบกว่าระยะ 14-16 mm. พอสมควร จึงจำเป็นต้องถ่ายภาพดาว/ทางช้างเผือกแบบ Panorama … ต้องเสียเวลาในการ Focus ภาพ และอาจต้องถ่ายภาพเพิ่มขึ้น 2-3 ใบเเพื่อเก็บฉากหน้าไม่ให้หลุด จึงแนะนำว่า เลนส์ f/1.4 เหมาะกับช่างภาพระดับมืออาชีพที่มีทักษะการถ่ายภาพและการ  Process ภาพในระดับหนึ่งนะครับ ไม่ค่อยเหมาะกับมือใหม่เท่าไหร่

นอกจากนี้ การใช้เลนส์ 24/f1.4 ก็ขอแนะนำให้ Step down ค่ารูรับแสงลงจาก f/1.4 เป็น f/1.8 เพื่อลดอาการ Coma ของเลนส์ครับ

แถมนิดก่อนจบ :) ถ่ายดาวไม่ให้เคลื่อนที่ แนะนำใช้สูตร : 400 หารด้วยทางยาวโฟกัส

สูตรสำหรับการถ่ายภาพโดยที่ดาวที่ปรากฎในภาพจะไม่เคลื่อนที่ (หรือยังคงเป็นจุดดาว หรือใกล้เคียงจุดดาว) ก็คือ ใช้ค่า 400 หารด้วยความยาวโฟกัสของเลนส์ เช่น หากเราใช้เลนส์ 15mm. เราควรเปิดหน้ากล้องนานสุดไม่เกิน 26 วินาที ดาวจึงจะเป็นจุด ไม่เคลื่อนที่ และหากใช้เลนส์ 24mm. ควรเปิดหน้ากล้องไม่เกิน 16 วินาที เป็นต้น ซึ่งเราจำเป็นต้องทราบค่านี้ เพื่อให้สามารถเปิดหน้ากล้องให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และลดการใช้ iso ลงนั่นเอง

Previous
Previous

ดาวเคลื่อน ดาราคล้อย : บันทึก … เพื่อหยุด “ดาว”

Next
Next

ออกไปล่าแสงดาวกันเถอะ