ออกไปล่าแสงดาวกันเถอะ

ภาพที่ 1: Startrail ที่ Patagonia, Chile ถ่ายด้วย Nikon D810 + Carl Zeiss ZF 15/2.8 [ข้อมูลถ่ายภาพ: f2.8, 60 นาที, iso 100]

“ออกไปล่าดาวกันเถอะ” โดยเฉพาะช่วงข้างแรม ท้องฟ้าใส ไร้เมฆ แม้จะอยู่ในเมืองที่มีแสงไฟรบกวน เราก็ยังสามารถเก็บแสงดาวที่ริบหรี่ได้นะ บางคนค้านว่าไม่มีทางเพราะแสงรบกวนจะทำให้ไม่เห็นดาว แต่ผมค้านว่าไม่จริงเลย มันขึ้นกับการเลือกสถานที่ และวันที่เราจะล่าแสงดาวต่างหาก แม้แต่ภาพดาวหมุนเหนือท้องฟ้าของมหานคร Sydney ก็เป็นไปได้ ผมคิดอยากถ่ายภาพดาวหมุนเหนือวัดพระแก้ว!! คงต้องอาศัยดวงกันมหาศาล เพื่อภาวนาให้ท้องฟ้าใสในคืนวันข้างแรม คิดไว้ก่อน หากมีโอกาสคงได้ออกไปล่าดาวกัน ทีนี้ ก่อนออกไปล่าดาว มีหลายสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อน ขอซอยเป็นข้อๆ ตามนี้นะ

กล้อง: แน่ นอน DSLR ย่อมดีกว่ากล้อง Compact เพราะเราสามารถปรับตั้งค่าการถ่ายภาพ และเปิดหน้ากล้องนานๆ ด้วยโหมดถ่ายภาพ B แต่กล้อง บางรุ่นเช่น Canon G12 ก็เก็บภาพดาวมาต่อเป็นดาวหมุนได้ นะ โดยถ่ายภาพทีละ 30 วินาที ISO สัก 400-800 และเปิด f กว้างสุด พอไหวครับ ดีไม่ดีที่ f เท่ากัน กล้อง Compact ชัดกว่าด้วย ดังนั้น หากมีอุปกรณ์เท่านี้ ก็ไม่ต้องดิ้นเข้ากองไฟด้วยการหอบเงินไปถอย DSLR มาถ่ายดาวหรอกครับ อ้อ…อย่าลืมชาร์ตแบตเตอรี่ให้เต็ม เปี่ยม และหาแบตเตอรรี่สำรองอีกสักก้อน หรือสองก้อนเป็นอย่างน้อย การเปิดหน้ากล้องนานๆ โดยเฉพาะในหน้าหนาว แบตของเราไปเร็วมาก อย่างถ่านของกล้อง Nikon D700 เต็มก้อน ผมถ่ายได้ประมาณ 1 ชม. ก็หมดเกลี้ยง ผมมักจะเตรียมแบตไว้ 3 ก้อน ก้อนแรก ใช้ตอนจัดองค์ประกอบภาพ เก็บฉากหน้า และหาโฟกัส พอได้ที่ ก่อนยิงภาพดาวหมุนผมเปลี่ยนก้อนใหม่เลย หลังจากนั้นอีกชั่วโมง ผมก็จะเปลี่ยนแบตอีกก้อนทันทีครับ

ขาตั้งกล้อง และรีโมท (Cable Release): จำเป็นมากจริงๆ โดยขาตั้งกล้องควรใหญ่และมีน้ำหนักสักหน่อย โดยเวลาถ่ายภาพอาจหากระเป๋ากล้อง หรือถุงทรายถ่วงน้ำหนักไว้ ครั้งหนึ่ง ลมเคยหอบขาตั้งกล้องล้มกลิ้งไม่เป็นท่ามาแล้ว โชคดีที่อุปกรณ์ไม่ได้อาการหนักหนาสาหัส แต่ทำให้ผมต้องระวังเรื่องการ กางขาตั้งกล้อง และการถ่วงน้ำหนักให้กับมันครับ นอกจากนี้ แนะนำว่าอย่ากางขาตั้งกล้องสูง กางยิ่งต่ำ ยิ่งปลอดภัยนะ ส่วนอุปกรณ์อีกอย่างคือรีโมท (Cable Release) จะใช้แบบมีสาย หรือไร้สายได้ทั้งนั้น รีโมทแท้ของค่าย จะแพงมากเป็นพิเศษ หากงบน้อย แนะนำ Remote แบบมีสายใน eBay ผมสอยมาราคาประมาณ 500 บาท ใช้ได้ดีเยี่ยมเลยทีเดียวครับ

เลนส์: ถือเป็นพระเอกในการถ่ายภาพดาวหมุนเลย มีประเด็นน่าสนใจเยอะไปหมดเกี่ยวกับเลนส์ ซอยถี่ยิบตามนี้

  1. เลนส์มุมแคบหรือมุมกว้าง???: ควรเป็นเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสระหว่าง 14 – 35 mm. สำหรับถ่ายดาวหมุนนะ เพราะจะทำให้เราสามารถจัดองค์ประกอบ ภาพ โดยมีพื้นดินสัก 1 ส่วนและท้องฟ้าสัก 2 ส่วนไว้ได้อย่างสวยงาม แต่หากเราอยู่ในที่โล่งๆ และมีภูเขาค่อนข้างไกลออกไป อาจใช้เลนส์ช่วง Normal เช่น 50mm. ก็ไหวครับ แม้จะอึดอัดไปนิด แต่มันทำให้ดาวหมุนควงสว่านไวกว่า!! เป็นไปตามสูตรการหาเวลาที่ไม่ทำให้ดาวเริ่มหมุนในภาพ คือ 400/ทางยาวโฟกัส ได้เท่าไหร่นั่นคือเวลาเป็นวินาที ที่ดาวจะไม่เคลื่อนที่ เช่น หากผมต้องการถ่ายดาวสวยๆ หากผมเลือกใช้เลนส์ 20mm. ผมสามารถเปิดหน้ากล้องได้นาน 400/20 = 20 วินาที โดยที่ดาวยังไม่เคลื่อนที่ แต่หากผมใช้เลนส์ 50mm. ถ่ายด้วยเวลาเท่ากัน ดาวจะวิ่งทันที สรุปได้ว่า เลนส์กว้าง ดาวจะหมุนยากกว่าเลนส์แคบนะครับ

  2. การ เลือกใช้ช่วงเลนส์ก็สำคัญ หากเรามีเลนส์ 16 – 35 mm. มุมเดียวกันจะใช้เลนส์ช่วงไหนดี??? คำตอบอยู่ที่ว่า เราต้องการให้ดาวหมุนมากไหม และต้องการดึงฉากหลังเข้ามาใกล้ๆ หรือเปล่า หากคำตอบคือใช่ เราควรเลือกเลนส์ช่วงแคบสักหน่อย เช่น 24-28mm. ครับ

  3. เลนส์ สว่างๆ ดีไหม? ถือเป็นกิเลสที่น่าโดนจริงๆ สำหรับเลนส์ Wide ตัวเทพๆ f สว่างๆ เช่น 24/f1.4 แต่หากไม่ได้ยึดเป็นอาชีพก็ไม่ต้อง ขวนขวายให้กระเป๋าแบนครับ ภาพดาวหมุนที่ผมถ่ายมาใช้ f ส่วนใหญ่ที่ f4.0 น้อยครั้งมากที่จะได้ใช้ f กว้างกว่านั้น (เช่น f2.0 – 2.8) แต่หากต้องการถ่ายภาพทางช้างเผือก แนะนำ f กว้างที่สุดที่จะกว้างได้ เช่น 24/1.4 หรือ 15/2.8 ข้อดีของ f สว่างๆ คือ มันเก็บแสงดาวดวงเล็กๆ และเปิดให้แสงเข้ากล้องได้มากขึ้นด้วย เวลาที่เท่ากัน แถมเรายังลด iso จากเดิมที่ดันขึ้นไปถึง 1600 – 3200 ให้น้อยลงมา ทำให้ภาพใสขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ การควบคุมระยะชัดลึก ที่ผมบอกได้เลยว่า หืดขึ้นคอแน่ เมื่ออยู่หน้างาน แล้วต้องมาไล่โฟกัสวิวในความมืด

อุปกรณ์ จิปาถะอื่นๆ สำหรับตากลมหนาวทั้งคืน: ขนได้ เท่าไหร่ขนไป ทั้งเสื้อกันหนาว เกมส์กด ขนม น้ำเปล่า กาแฟร้อน ยากันยุง ผ้าเช็ดเลนส์ รวมถึงไฟฉาย พวกฟิลเตอร์ต่างๆ ไม่ต้องเอาไปให้เกะกะครับ เว้นแต่คุณมี GND Filter หรือฟิลเตอร์สีเทาครึ่งซีก บางครั้งผมใช้ Lee Soft GND 0.6 สำหรับบังส่วนล่างของภาพไม่ให้แสงมัน Over เกินไป จะได้รวมภาพกันง่ายขึ้น

ภาพที่ 2:

The Milkyway ที่ Patagonia, Chile ถ่ายด้วย Nikon D810 + Carl Zeiss ZF 15/2.8 [ข้อมูลถ่ายภาพ: f2.8, 30 วินาที, iso3200]

เมื่ออุปกรณ์ทั้งหมดพร้อมสรรพ เราก็มุ่งสู่สถานที่ที่ฝันว่าอยากถ่ายดาวหมุน ทีนี้เมื่อหามุมต่างๆ ได้ และปักขาตั้งกล้อง พร้อมประกบกล้อง+เลนส์เรียบร้อย คราวนี้เราต้องเตรียมตัวถ่ายภาพดาว โดยมีผมขอสรุปวิธีการปรับกล้อง และการถ่ายภาพดาวตามนี้นะครับ

  • ปรับ White Balance ไปที่ 3,200 – 4,000k เมื่อเราถ่ายด้วย jpg หรืออาจปรับไว้ที่ Auto หากเราถ่ายภาพด้วย RAW ไฟล์ครับ ทั้งนี้เราสามารถกลับไปแก้ไขได้ภายหลังในโปรแกรมแต่งภาพต่างๆ เช่น Nikon Capture NX หรือ DPP

  • อย่าลืมปิดตัวช่วยลด Noise ในกล้องถ่ายภาพนะ (Noise reduction) เพราะหากเปิดตัวช่วยนี้ไว้ กล้องจะใช้เวลาบันทึกภาพนานกว่าปรกติ ทำให้เสียจังหวะการถ่ายภาพดาวหมุน และเกิดรอยต่อของดาวในภาพเวลา Process ด้วยนะ

  • เลือก ช่วงเลนส์ จัดองค์ประกอบภาพ และทดสอบสภาพแสง โดยผมจะเริ่มต้นที่ f/4.0 โดยจะโฟกัสให้ Subject ในภาพชัดที่สุด ดัน iso ไปที่ 6400 และปล่อยให้กล้องคำนวณ Speed Shutter ให้ครับ สมมุติยิงทดสอบได้ที่ 4 วินาที จากนั้นเราค่อยปรับลด iso ลงมาที่ base iso (เช่น 100 หรือ 200) แล้วชดเชย Speed Shutter เพิ่มขึ้น 5 Stops กลับไปที่ 2 นาที (ที่ iso 400) หรือ 4 นาที (ที่ iso 200) และเวลาถ่ายภาพ หากเราไม่มีรีโมทที่จับเวลาถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง เราต้องกดแต่ละภาพด้วยตัวเอง ผมตั้งกล้องไปที่โหมด B แล้วใช้นาฬิกาจับเวลาใน iPhones ตั้งเวลาไว้ 4 นาที พอหมดเวลาก็มีเสียงเตือน เราก็กดชัตเตอร์อีกครั้ง อาจจะมีเวลาเกินกันบ้างในแต่ละช๊อต เช่น 10-15 วินาทีก็ไม่ต้องกังวล เพราะเวลาที่นานขึ้นของแต่ละภาพไม่มีผลจนทำให้แต่ละภาพมีแสงแตกต่างกันครับ

  • Zoom ดูภาพที่ยิงทดสอบ เพื่อตรวจสอบความคมชัด และเช็คค่า Histogram เพื่อดูสภาพแสงโดยรวม บางครั้ง ผมจะลดค่า f ลงไปถึง f 22.0 เพื่อใหได้แสงไฟที่เป็นดาวแฉกๆ ก่อนปรับค่า f กลับมาที่ 4.0 เพื่อเก็บแสงดาว ทั้งนี้ภาพทั้งหมดจะนำไปรวมกันอีกครั้งใน Photoshop

  • เมื่อ ทุกอย่างลงตัว เราก็ปรับตั้งรีโมทให้บันทึกภาพ ดาวไปเรื่อยๆ เช่น บันทึกภาพโดยใช้ Speed Shutter 2 นาที (f 4.0., iso 400) ให้ยิงภาพไปเรื่อยๆ ดังนั้น 1 ชั่วโมงจะได้ภาพ 30 ใบครับ ที่ผ่านมาหากยิงภาพประมาณ 2 ชั่วโมง จะได้ภาพดาวหมุนที่ค่อนข้างสวยงามอลังการแล้ว ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนดาวบนฟ้า และการเลือกใช้เลนส์ + การตั้งค่าด้วยนะครับ

  • อย่าลืมเปลี่ยนถ่าน ก้อนใหม่ หลังจากยิงภาพดาวไปประมาณ 60 – 75 นาที ระวังอย่าให้ขาตั้งกล้องเลื่อนนะครับ ดังนั้นเราควรซ้อมเปลี่ยนถ่านก่อนเสมอ

หลังเสร็จสิ้นการถ่ายภาพดาวหมุน เราจะนำภาพทั้งหมดกลับไปรวมกันใน Photoshop ด้วยการเปิดคำสั่ง Statistics > Maximum จากนั้นเลือกภาพ ไม่กี่อึดใจเราก็ได้ภาพดาวหมุนสมใจ ทั้งนี้เราต้องแก้ไข ตกแต่งภาพเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ภาพที่สวยแจ่มจันทร์ : )

Previous
Previous

เตรียมเลนส์ถ่ายดาว f/2.8 พอหรือไม่?

Next
Next

เส้นสาย (Lines) ให้ภาพสวย