เส้นสาย (Lines) ให้ภาพสวย

เส้นเกิดจากจุดมากมายมาเรียงต่อกัน ซึ่งจะมีความยาว และความหนาแตกต่างกันไป เส้นมีทิศทางมากมาย ทั้งเส้นตรง เส้นโค้ง เส้นทแยง เส้นคดเคี้ยวเป็นคลื่น ฯลฯ ซึ่งล้วนมีนัยสำคัญต่อการถ่ายภาพในฐานะ “การนำสายตา”, “การสร้างมิติ” และ “การสื่อความหมาย”

ในกระบวนการถ่ายภาพ ช่างภาพมักจะวางองค์ประกอบภาพโดยการหา “เส้น” ที่น่าสนใจในฉากข้างหน้า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเส้นจริงๆ (เช่น เส้นขอบฟ้า แนวรั้ว) หรือเส้นสมมุติ (เช่น แนวหินในลำธาร หรือเกลียวคลื่นสีขาวบนหาดทราย) โดยทั่วไปนักศิลปะได้แบ่งประเภทเส้นออกเป็น 3 ประเภทตามการใช้งาน ได้แก่

(1) เส้นขอบวัตถุ (Contour lines) ใช้กำหนดขอบนอกของรูปทรงให้ชัดเจน

(2) เส้นแบ่งเขต (Dividing lines) ใช้เพื่อแบ่งที่ว่าง กำหนดขอบเขตออกเป็นส่วนๆ

(3) เส้นที่ใช้ในการตกแต่ง (Decoration lines) ใช้เพื่อเป็นโครงสร้างของวัตถุ ให้น้ำหนัก แสดงแสง/เงา และตกแต่งวัตถุให้สวยงาม

เส้นไฟจากรถที่วิ่งบนถนน ทำหน้าที่เป็น Leading line นำสายตาของผู้ชมเข้าสู่กลางภาพ

เส้นต่างๆ สามารถให้ความหมาย ความรู้สึก และประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนี้:

เส้นตรง-แนวตั้ง :  

ให้ความรู้สึกมั่นคง แน่นอน สำคัญ แข็งแรง เด็ดเดี่ยว ช่างภาพมักปรับเส้นขอบของสิ่งก่อสร้างต่างๆ (เช่น ตึก อาคาร) ให้ตรง ไม่โค้งงอ  … เส้นตรง-แนวตั้ง ยังใช้สำหรับการแบ่งภาพในการวางองค์ประกอบภาพถ่ายอีกด้วย โดยนิยมวางในสัดส่วน 1 ใน 3 ของภาพถ่าย ควบคู่กับเส้นตรง-แนวนอน ซึ่งจุดตัดที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า จุดตัด 9 ช่อง

เส้นตรง-แนวนอน :  

ให้ความรู้สึกเงียบสงบ หยุดนิ่ง ผ่อนคลาย เงียบ ในภาพถ่าย Landscape เส้นตรง-แนวนอนมีความสำคัญในฐานะแบ่งพื้นที่ให้กับภาพถ่าย เช่น การแบ่งเส้นขอบฟ้าให้ตัดในสัดส่วน 1 ใน 3 ของภาพถ่าย โดยเส้นขอบฟ้าต้องตรงขนาน/ไม่เอียง ภาพที่วางเส้นขอบฟ้าแนวนอนกึ่งกลางของภาพจะขาดความน่าสนใจ (ยกเว้นภาพแนวสมมาตร)

เส้นโค้ง :  

ให้ความรู้สึกอ่อนไหว นุ่มนวล มีพลังไม่รู้จบ (เส้นโค้งแบบก้นหอย) เส้นโค้งมักพบได้บ่อยในธรรมชาติ ในบรรดาเส้นโค้งทั้งหมด เส้นโค้งรูปตัว S (หรือ S-curve) เป็นเส้นที่มีพลังทำให้ภาพดูน่าสนใจได้เป็นอย่างมาก ช่างภาพ Landscape มักจะมองหาเส้น S-curve (เช่น เส้นโค้งของของแม่น้ำ ลำธาร เกลียวคลื่น และทางเดิน)โดยจะวางเส้นโค้งดังกล่าว มุ่งไปสู่จุดสนใจของภาพ

เส้นทแยงมุม :  

ให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ว่องไว รวดเร็ว และก้าวหน้า … เส้นทแยงมุมนี้ มีประโยชน์อย่างมากในภาพถ่าย Landscape เพราะช่วยเป็นเส้นนำสายตาไปสู่ “จุดสนใจ” ของภาพ  ในการวางองค์ประกอบภาพถ่ายนั้น ผมมักหาเส้นทแยงมุมที่พุ่งออกจากมุมขวา และซ้ายล่าง ไปสู่กลางภาพ

เส้นหยัก – ซิกแซก :  

ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว ขัดแย้ง รุนแรง ตื่นเต้น  ถือเป็นเส้นที่หาได้ค่อนข้างยากในธรรมชาติ

เส้นตรงที่วิ่งเข้าหากัน :  

ให้ความรู้สึกถึงมิติ และจุดหมายปลายทาง เช่น ลู่ถนน หรือ รางรถไฟที่วิ่งเข้าหากัน เป็นต้น

Fune, Italy

มิติของภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ภาพถ่าย Landscape แสดงความใกล้ ไกล … กว้าง ยาว … ตื้น ลึก อีกทั้งยังมีส่วนทำหน้าที่ “ดึงความสนใจ” และ “หยุดสายตา” ผู้ชมภาพสู่สิ่งที่เราต้องการนำเสนอ เช่นในภาพนี้ มีเส้นสมมุติหลายเส้นทำหน้าที่ของมัน

เส้นนำสายตาเสมือนบนภาพ

ขอบป่าสน แนวต้นไม้ แสงเลียยอดหญ้า ล้วนทำหน้าที่เสมือน “เส้นนำสายตา” จากขอบภาพ … สู่กลางภาพ เพื่อนำเสนอภาพนี้ให้มีมิติ สวยงาม น่าสนใจ

Previous
Previous

ออกไปล่าแสงดาวกันเถอะ

Next
Next

10 ข้อผิดพลาดซ้ำๆ ที่ช่างภาพ Landscape & Travel ควรรู้