10 ข้อผิดพลาดซ้ำๆ ที่ช่างภาพ Landscape & Travel ควรรู้

[ภาพที่ 1: ยอด Fitz Roy ในฝั่ง Argentina ยิงภาพจากหน้ารถทัวร์ที่วิ่งเข้าสู่เมือง El Chalten ความเร็วของรถไม่น่าเกิน 100 กม./ ชม. ผมปรับกล้องโดยดัน iso ไปที่ 640 ปรับค่า f/4.0 เพื่อไม่ให้เห็นรอยบนกระจกหน้ารถ (หากได้ค่า f ที่กว้างกว่านี้คงดีขึ้น แต่หากใช้ค่า f แคบๆ จะเห็นรอยบนกระจก) จากนั้นปรับ Speed shutter ไปที่ 1/500 วินาที เพื่อมั่นใจว่าภาพที่ได้จะคมชัด]

เพิ่งกลับจากทริปแรกของปี คราวนี้เดินทางไปย่ำรอยไกลๆ ที่ Patagonia ทั้งในส่วนของประเทศ Argentina และ Chile ปีก่อนไปมาแล้ว ได้รับบทเรียนดีๆ มามาก ปีนี้กลับไปซ้ำรอยที่เดิม ตั้งใจถ่ายภาพให้ดีกว่าปีก่อน แต่ก็ยังทำผิดซ้ำๆ กับข้อผิดพลาดเดิมๆ จึงเป็นที่มาของบันทึกนี้ ที่อยากรวมข้อผิดพลาดที่ตั้งใจไม่ให้พลาด แต่ก็มักลืมบ่อยๆ ครับ

1. Speed shutter ต่ำเกินไปเมื่อถ่ายภาพในรถ:  ย้ำตัวเองเสมอเมื่อต้องเก็บวิวสวยๆ ในขณะที่รถวิ่ง ว่าต้องดัน iso ขึ้นไปสักหน่อย เพื่อให้ได้ค่า Speed shutter ที่ไวพอจะจับภาพให้นิ่ง หากเป็นวิวที่รถวิ่งเข้าไปหา หรือวิวที่รถวิ่งออกมา Speed shutter ที่ใช้ควรอยู่ประมาณ 1/250 วินาทีขึ้นไป (เช่น ผมดัน iso ไปที่ 640 เพื่อให้ได้ Speed shutter 1/500 วินาที) หากถ่ายภาพวิวข้างทางที่ขนาดกับรถวิ่ง ควรปรับให้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยมักปรับ iso และ f/stop ให้ได้รับแสงเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกับการใช้ Speed shutter ที่สูงขึ้น แนะนำค่าระหว่า 1/1,000 วินาทีขึ้นไปครับ (ทั้งนี้ขึ้นกับความเร็วรถที่วิ่งด้วยนะ) ยังไงก็เตือนตัวเองเสมอ ถามตัวเองบ่อยๆ ว่า Speed shutter ไวพอหรือยัง?

2. ละเลยขาตั้งกล้อง:  ทุกทริปต้องมีร่องรอยประสบการณ์บนอุปกรณ์ถ่ายภาพ เลนส์ตก กล้องกระแทก และที่เกิดกับผมบ่อยมากคือรอยแผลบนขาตั้งกล้องและหัวบอล ที่เกิดจากการประมาท เช่น กางขาตั้งกล้องทิ้งไว้แล้วโดนลมพัดล้ม, กางขาตั้งไม่ได้สมดุล บางขาสั้น บางขายาว หรือวางบนพื้นเอียง ฯลฯ ทริปล่าสุด ก็มีรอยบนหัวบอล Acratech สุดรัก เพราะวางขาตั้งกล้องเอียงๆ แค่แว๊บเดียวที่จะเอี้ยวตัวมาหยิบของในกระเป๋ากล้อง … ตึง! ขาตั้งกล้องล้มกระแทกโขดหิน ปีก่อนว่าแผลบนหัวบอลลึกแล้ว … ปีนี้ … ลึกกว่าเดิม Y_Y

3. ลืมเช็ค Focus:  เกิดขึ้นบ่อยทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว และจะเจ็บปวดมากหากจังหวะนั้นถ่าย Timelapse แล้วมารู้ตัวหลังจากบันทึกภาพเสร็จ แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ในทริปนี้ขนาดเตือนตัวเองเสียดิบดี แต่ก็พลาดเข้าจนได้ ขอแนะนำให้เช็ค Focus จนมั่นใจว่า ภาพชัดดีแล้ว … หรือลองใช้เทคนิค Live view focus ก็ได้ครับ โดยเปิดจอภาพด้านแบบ Live view แล้วปิดปุ่ม Auto focus เพื่อหมุนเลนส์ด้วยตนเอง จนเห็นจุดที่เราต้องการคมชัด ก็ยิงภาพได้เลย อ้อ … สำหรับใครที่สายตาไม่ดี อาทิ สายตาสั้น หรือยาว ก็อย่าลืมพกแว่นแก้สายตาไปออกทริปด้วยนะครับ

4. ถ่ายภาพ Panorama แต่ลืมถอดฟิลเตอร์ CPL:   ปัญหานี้คงไม่เกิดหากเราถ่ายภาพ Pano ตอนกลางวัน ราวๆ เที่ยง แดดตรงหัว เพราะรอบๆ ตัวเราคือมุม Polarise เมื่อเราหมุนฟิลเตอร์ CPL ให้ได้องศา ท้องฟ้าก็จะมีสีเข้มขึ้น เมื่อยิงภาพต่อเนื่องจากซ้ายไปขวา หรือขวามาซ้าย เราจะได้สีท้องฟ้าแต่ละใบใกล้เคียงกัน แต่หากเราถ่ายภาพ Pano ในช่วงเวลาอื่น อาจได้สีท้องฟ้าเข้มอ่อนต่างกันไป หากยิงแค่มุมแคบๆ จะไม่ค่อยเห็นปัญหานี้นัก แต่เมื่อกวาดภาพ Pano ยาวๆ จะเริ่มเห็นความแตกต่างของสีท้องฟ้ามากขึ้น เช่น ในช่วงแสงเช้า พระอาทิตย์อยู่ด้านหลัง มุม Polarise จะอยู่บริเวณบนศรีษะ และทิศทางซ้าย-ขวาของเรา ดังนั้นการถ่ายกวาดภาพจากซ้ายสุดไปขวาสุด  ภาพแรกๆ และภาพท้ายๆจะได้สีท้องฟ้าที่เข้มกว่าภาพอื่นๆ ในชุดเดียวกัน … ทำให้เวลารวมภาพ ได้สีฟ้าไม่เสมอกัน … วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดก็คือ หากต้องถ่ายภาพ Pano แสงเช้าหรือเย็น ควรถอดฟิลเตอร์ CPL ออกไปก่อนครับ

[ภาพที่ 2: ภาพ Panorama ถ่ายจากซ้ายไปขวาที่ไม่กว้างเกินไปนัก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาฟ้าสีเข้ม-อ่อนไม่เสมอกัน อันเป็นผลจากฟิลเตอร์ CPL ที่สวมประจำที่หน้าเลนส์ ปัญหาการถ่ายภาพ Panorama อันเกิดจากฟิลเตอร์ CPL มักไม่ค่อยปรากฎ หากถ่ายภาพในช่วงกลางวัน ราวๆ เที่ยง ที่มุม Poralise อยู่รอบตัว ทำให้เมื่อกวาดภาพ Panorama แบบยาวๆ สีท้องฟ้ายังเนียน เสมอกัน]

5. ถ่าย Long Exposure แต่ลืมปิดช่องมองภาพ:   การถ่ายภาพปรกติ แทบจะไม่มีแสงรบกวนที่เข้าทางช่องมองภาพ แต่เมื่อถ่ายภาพแบบลาก Speed shutter เช่น การใช้ฟิลเตอร์ Big Stopper หรือถ่ายภาพกลางคืน เรามักจะลืมปิดช่องมองภาพ ทำให้ภาพที่ได้มีแสงรบกวน (เช่น แสงจากดวงอาทิตย์ หรือแสงจากไฟฉาย อาจจะเกิดเป็นแสงสีส้ม-แดงบริเวณกลางภาพ) ดังนั้นทุกครั้งเมื่อต้องลาก Speed shutter ผมต้องเตือนตัวเองเสมอให้ปิดช่องมองภาพ ในกล้อง Nikon D800/810 ขึ้นไปนั้น เราสามารถปรับสลักเพื่อปิดช่องมองภาพ แต่กล้องรุ่นอื่น (เช่น Nikon D610, 750) จะต้องใช้ตัวปิดช่องมองภาพ ที่แถมมากับกล้องเพื่อปิดเพิ่มเติม และบ่อยครั้งมักพบว่า ไม่ได้ติดไปด้วย หรือทำหล่นหายในระหว่างออกทริป ทางออกคงต้องหาผ้าสีดำคลุมกล้องในระหว่างยิงภาพแบบลากชัตเตอร์ครับ

6. จังหวะสำคัญ แต่ไม่มีกล้องถ่ายภาพในมือ:   ออกทริปถ่ายภาพ แต่ดันเก็บกล้องถ่ายภาพไว้ในกระเป๋าเป้ เมื่อเจอเหตุการณ์น่าสนใจ ก็ไม่มีเวลาจะคว้ากล้องมาเก็บภาพซะแล้ว ในทริปที่ผ่านมาก็เช่นกัน อาจะเพราะเหนื่อยกับการเดินขึ้นเขา ผมจึงเก็บกล้องไว้ในกระเป๋าเป้ แทนที่จะห้อยคอ หรือใส่กระเป๋าข้างเอว เพราะรู้สึกว่ามันหนัก และไม่สมดุล แต่เผอิญว่าระหว่างทางตอนลงเขา เจอแสงสวยๆ และมีคนขี่ม้ากำลังขึ้นมาตามไหล่ทาง เสียดายมากๆ ยังดีที่พอมีกล้อง Compact ตัวเล็กเหน็บที่เอว ก็กดภาพมาดูต่างหน้า พาลคิดว่าหากเป็นกล้อง Nikon D810 คงได้มิติภาพ และคงเก็บแสงได้ดีกว่านี้แน่นอน …เตือนใจตัวเองให้เก็บกล้องใกล้มือ จะเก็บภาพดีๆ ได้มากกว่าเดิม

[ภาพที่ 3: กล้องใกล้มือ ย่อมได้ภาพมากขึ้น แต่เมื่อกล้องหลักอยู่ในกระเป๋าเป้ จึงต้องใช้กล้อง Compact ที่พกสำรองเก็บภาพแทน แต่เนื่องจาก Dynamic range และเลนส์ของกล้อง Comapct ค่อนข้างแคบ เทียบได้ระยะที่ 24-120 mm. ทำให้จำเป็นต้องถ่ายภาพคร่อมแสง และถ่ายภาพ Panorama แนวตั้ง รวม 3 ใบ จากนั้นจึงรวมภาพทั้งหมดเข้าด้วยกันใน Photoshop และได้ผลลัพธ์ในภาพด้านขวามือ]

7. พกมาเต็มพิกัด แต่ไม่ได้เอาไปตอนถ่ายภาพ Y_Y  :   ปัญหาของคนขี้เกียจแบบของอย่างผม ที่มักจะงกน้ำหนัก ไม่อยากแบกของ จนตกหลุมพลางตัวเองตอนถ่ายภาพที่พบว่า แบตเตอรรี่ (หรือแม้แต่ Memory และ GND Filter) มีไม่พอที่จะใช้ถ่ายภาพ เพราะดันทิ้งไว้ในโรงแรม ไม่ได้พกสำรองเข้าป่ามาด้วย เช่น ในทริปเดินเขา 3 วัน 2 คืนที่ผ่านมา หลังจากคำนวณสาระตะ ทั้งเต้นท์ ถุงนอน กล้อง เลนส์ ขาตั้งกล้อง เสื้อกันหนาว และเสบียง ได้น้ำหนักกระเป๋าที่แบกเข้าไป 15-16 กก. หนักใช่เล่น ก็พาลคิดว่า เอาแบตเตอรรี่เข้าไปแค่ 3 ก้อนก็น่าจะพอ ใช้วันละก้อน เหลือๆ จึงไม่เอาแบตเตอรรี่ก้อนที่ 4 และ 5 ไปด้วย ทิ้งไว้ที่โรงแรม … แต่เอาเข้าจริง แค่เดินเข้าไปคืนแรก ก็ถ่ายภาพดาวกันแล้ว อากาศหนาวๆ สูบพลังงานแบตเตอรรี่ให้หมดไวมาก แค่วันแรก แบตเตอรี่เหลือแค่ 1 ก้อนครึ่ง ทำให้วันต่อๆ มา ต้องถ่ายภาพแบบจำกัดกำเขี่ย ครั้นจะไปหยิบยืมแบตเตอรรี่จากเพื่อนร่วมทริปก็เกรงใจ เค้าอุตสาห์แบกเข้ามา หากเรายืมแล้วเค้าไม่พอใช้ คงกินใจกันเปล่าๆ สุดท้าย ได้ภาพในทริปนั้นมาแบบขยักขย่อน เสียดายจริงๆ

8. จุดอ่อนสำคัญเมื่อถ่ายภาพดาว / น้ำตก และ Timelapse … สายคล้องคอ:   อย่าลืมปลดสายคล้องคอ (หรือใช้ยางยืดรัดให้แน่น) ทุกครั้งเมื่อต้องถ่ายภาพที่ที่มีลมแรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่ถ่ายดาว หรือถ่ายภาพ Timelapse ซึ่งเราจะพบว่า ไอ้สายคล้องคอที่ปลิวไปมาตามลมนี่หล่ะ ที่ทำให้ภาพไม่ชัด หรือแม้แต่การถ่ายภาพน้ำตก ลำธาร ที่มักวางกล้องไว้ใกล้กับผิวน้ำ มักติดปัญหาสายคล้องคอเปียกปอน และติดขัด พันไปมา อันอาจทำให้กล้อง/อุปกรณ์เปียกน้ำได้  ปรกติผมจะเลือกสายคล้องคอรุ่นที่มีตัวล็อคที่ปลดออกจากตัวกล้องได้ง่าย หากหาไม่ได้ ผมจะใช้เส้นยางยืด รัดสายคล้องคอให้แน่น ติดกับขาตั้งกล้อง หรือพันรอบตัวกล้องไว้ ไม่ให้เกะกะรุงรังครับ

[ภาพที่ 4: หากถ่ายภาพในจุดที่ลมแรงๆ และจำเป็นต้องลาก Shutter speed หรือต้องการให้ภาพที่ถ่ายออกมาคมชัดไม่เบลอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้องที่มีขนาดภาพใหญ่ๆ ตั้งแต่ 24 ล้านพิกเซลขึ้นไป เช่น Nikon D750, D810 เราจำเป็นต้องเก็บสายคล้องคอให้เรียบร้อย ไม่ให้ปลิวไปมา เช่น ใช้ยางยืดพันรัดเข้าด้วยกัน หรืออาจนำสายคล้องคอพันเก็บไว้กับขาตั้งกล้อง ดังแสดงในภาพ]

[ภาพที่ 5: Trekking pole และรองเท้าหุ้มส้น หรือหุ้มข้อเท้าดีๆ มีความสำคัญอย่างมากในการเดินเที่ยวเขาใน Patagonia หลายๆ ครั้ง ที่สะดุดก้อนหิน แทบจะล้มลงไปพร้อมเป้หนักๆ บนหลัง ก็ได้อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยไว้ … ไม่อย่างนั้น ขาแพลง ข้อพลิกขึ้นมา คงจบทริปก่อนกำหนดแน่นอน]

9. เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการเดินทางไม่พร้อม: ในแต่ละเส้นทาง แต่ละประเทศ มีสภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศต่างกัน แค่ไปคนละฤดู อุปกรณ์ที่ใช้ก็แตกต่างกันแล้ว ผมจึงให้ความสำคัญกับการเตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์มาก ด้วยคติที่ว่า “เอาไปเหลือ ดีกว่าเอาไปขาด” และต้องทำการบ้านไปก่อนเสมอว่าสถานที่ที่เราไป จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเพิ่มเติมอะไรอีกบ้าง? Trekking poles, รองเท้าปีนเขา, ที่รองนอน, เสื้อกันลม/ฝน, รองเท้ากันลื่น, รองเท้าลุยน้ำทะเล? โชคดีได้รับบทเรียนจากปีก่อน ทำให้การมาเที่ยว Patagonia ในคราวนี้ รู้สึกว่า “อุ่นพอ” ทั้งเสื้อกันลม กันหนาว เสื้อ Long John ครบครัน … แต่ดันลืม ถุงมือ … ซักเตรียมไว้แล้วแต่ลืมหยิบใส่กระเป๋า >_< ผลก็คือ มือเย็นจนแตก เลือดซึม จะหยิบ จับ ปรับตั้งค่ากล้อง ก็เย็นเจ็บไปหมด โชคดี … พี่ที่มาออกทริปด้วยมีถุงมือสำรอง แม้จะไม่หนา แต่อุ่นพอที่จะไปต่อได้

10. ลืมความสำคัญของ Tag ติดกระเป๋าตอน Check-in และลืมเผื่อเวลาในการเดินทาง: สุดท้าย เป็นความผิดพลาดที่ลุ้นจนนาทีสุดท้ายแบบหายใจไม่ทัน เกิดขึ้นในทริปนี้เลยครับ และคงเป็นบทเรียนให้กับผมและเพื่อนๆ ในทริปอีกนาน … เรามักจะไม่ให้ความสำคัญกับ Tag number ที่พนักงาน Check-in จะนำมาติดให้ตอน Load กระเป๋าขึ้นเครื่อง แต่ก่อนผมไม่เคยเช็คเลยครับ ไม่เคยตรวจดูด้วยซ้ำ จนวันที่เราเดินทางไปถึง Patagonia ปรากฎว่า กระเป๋าเดินทางใบนึงของน้องในทริปหายไป พอติดต่อ จนท. ภาคพื้น ก็ได้รับการช่วยเหลืออย่างดีในการติดตามกระเป๋า เช็คไปมากลับพบว่า กระเป๋าที่ Load มาจากต้นทาง มี Tag แค่ 2 ใบ ไอ้ใบที่หาย … ไม่มี Tag ตอนนี้คงยังค้างเติ่งที่สนามบินต้นทาง

โชคดีที่ จนท. ใจดี ติดต่อจนสายการบินยอมส่งกระเป๋าตามมาให้ ถึงแม้จะเป็นความผิดของ จนท. Check-in แต่ก็ผิดแค่กึ่งหนึ่ง เพราะเราไม่ได้เช็ค Tag number ว่าครบไหมตั้งแต่แรก แถมจะไป Claim เงินจากประกันภัยการเดินทางที่ทำไว้ก็ไม่ได้ด้วย เพราะสายการบินปฏิเสธการออกเอกสารให้ สรุปได้กระเป๋าช้าไปหลายวัน และชวดเงินประกันไปหมื่นห้า ยังดี … ที่ในช่วงนั้นยังไม่ได้เดินทางข้ามประเทศไปที่อื่น ไม่อย่างนั้นคงลำบากกว่านี้ โชคดีจริงๆ … และอีกประเด็นคือการเผื่อเวลาในการเดินทาง ขอให้อย่าชะล่าใจว่ามีเวลาต่อไฟล์ทบิน 3-4 ชั่วโมงจะเพียงพอครับ โดยเฉพาะการเดินทางกับสายการบิน Low Cost กลายๆ ที่ปรกติจะมีเหตุให้ Delay เป็นประจำ ในทริปที่ผ่านมาก็เช่นกัน ทั้งขาไป และขากลับ ต้องลุ้นกันตลอดทาง

ขาไปลุ้นสายการบิน Air Asia ให้ออกตรงเวลา เพราะอีกสายการบินดันเลื่อนออกเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง (ทำให้มีเวลา Connect Flight แค่ 2 ชั่วโมงที่กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งต้องนั่งรถไฟระหว่าง Terminal) … ส่วนตอนขากลับ ลุ้นกว่าเดิม เพราะสายการบิน Aero Argentina ประกาศ Delay 1 ชั่วโมง ขณะที่ไฟล์ทที่เราต้องเดินทางกลับไทย ก็ประกาศปรับเวลาเร็วขึ้น 45 นาที =_=* วันนั้นคงจำไม่มีวันลืม กับสภาพที่ลุ้นตั้งแต่ขึ้นเครื่อง, เครื่องลง, รอกระเป๋า, วิ่งมาราธอนไปอีก Terminal, เข้า Check-in กลุ่มสุดท้าย, ขอแซงคิวฝรั่ง 30-40 คนที่ ตม., และวิ่งกระหืดกระหอบเข้าเครื่องบิน … ไม่ตกเครื่องยกก๊วน ก็บุญหนักหนาแล้ว คราวหน้า จดตัวหนาๆ ไว้แล้วครับ … เผื่อเวลาต่อเครื่องอย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงขึ้นไป … ไปรอเครื่องบิน ดีกว่าให้เครื่องบินรอนะ 😀

[ภาพที่ 6: Tag number ที่ติดกระเป๋าเดินทางสำคัญมากๆ ในระหว่าง Check-in ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าพนักงานได้ติด Tag บนกระเป๋าของเราก่อน Load ขึ้นเครื่อง และควรมี Tag อีกใบที่มีหมายเลขตรงกันมาติดบนบัตรโดยสาร หากกระเป๋าเราสูญหาย! ไอ้เจ้า Tag นี่หล่ะที่จะตรวจสอบได้ว่ากระเป๋าเราอยู่ไหน อย่างไร และยังสามารถทำเอกสารเพื่อ Claim กับประกันภัยการเดินทาง เพื่อขอเงินชดเชยกรณีกระเป๋าล่าช้า/สูญหายได้อีกด้วย …. ในภาพนี้ เป็นกระเป๋าเดินทางของผมที่ Check-in เรียบร้อย พร้อมแจ้งพนักงานของสายการบินว่า เรามี Connection flight รออยู่อีกที่หนึ่ง … พนักงานก็ใจดี ติด Sticker สีเหลือง ระบุว่าเป็น First priority ที่จะ Load ออกมาทางสายพานเป็นลำดับแรกๆ เพื่อให้ไม่ต้องรอกระเป๋านาน … แต่เอาเข้าจริง … ที่สนามบินปลายทาง … รอนานไม่ต่างกับกระเป๋าอื่นๆ เลย 555 ]

แถมท้ายก่อนจบบทความ … ลืมอะไรก็ลืมได้ เพราะยังพอมีโอกาสแก้ตัว .. แต่อย่าลืมที่จะยิ้ม ให้กับมิตรภาพใหม่ๆ ที่จะเข้ามานะครับ ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพ และมีความสุขการออกทริปร่วมกับเพื่อนใหม่ แล้วเก็บภาพมาฝากกันบ้างนะครับ

เกือบลืม และขาดไม่ได้ … ผมต้องขอขอบคุณ #NikonSalesThailand ในความเอื้อเฟื้ออุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพ ทั้งกล้อง Nikon D810, D750, เลนส์ Nikon 20mm/f1.8 และ Compact ตัวเก่ง Nikon AW130 ที่พกติดตัวตลอดเวลาเดินบนเขา และขอขอบคุณ #ColumbiaThailand สำหรับเสื้อกันหนาวครบชุด พร้อมรองเท้าเดินเขา ที่ใช้เดินทั้ง 17 วัน ระยะทางรวมกว่า 90 กม. แบบเท้าไม่ช้ำ ข้อไม่พลิก … ไว้มีโอกาสจะ Review ให้ฟังกัน _/_ พบกันโอกาสหน้า สวัสดีครับ

Previous
Previous

เส้นสาย (Lines) ให้ภาพสวย

Next
Next

f/4.0 ก็เปรี้ยวได้ … ไปถ่ายภาพดาวกันเถอะ