f/4.0 ก็เปรี้ยวได้ … ไปถ่ายภาพดาวกันเถอะ

เปิดฤดูล่าช้างของปี 59 มาได้เดือนกว่าๆ ตอนนี้เราคงจะเห็นภาพทางช้างเผือกจากเพื่อนๆ มากมายทาง Facebook  เมื่อสองสามวันก่อนได้ยินน้องมือใหม่หลายคนบ่นว่าอยากออกไปล่าแสงดาวเหมือนกัน แต่ติดตรงที่ไม่มีเลนส์เทพๆ มีเฉพาะเลนส์ Kit ทำให้รู้สึกว่าอุปกรณ์ไม่พร้อม ขาดโอกาสในการฝึกถ่ายแสงดาว … อ๊ะ เดี๋ยวนะ เลนส์ Kit ก็ถ่ายแสงดาวได้ครับ เราอาจไม่จำเป็นต้องหาเลนส์สว่างๆ เช่น f/1.4 – f/2.8 เพื่อถ่ายทางช้างเผือกเสมอไป  จริงอยู่ว่าเลนส์เหล่านั้นจะให้ภาพที่ใสเนียนกว่าเพราะมันปล่อยให้แสงผ่านเข้าไปได้มากกว่า แต่ด้วยกล้องปัจจุบันที่สามารถดัน iso ได้สูงขึ้น เพียงแค่นี้ เลนส์ kit ที่เรามีอยู่ ซึ่งส่วนมากมีค่า f เริ่มต้นที่ f/3.5 – 4.0 ก็พอเพียงที่จะออกไปเก็บภาพทางช้างเผือกมาติดฝาห้องกันได้แล้วครับ  ทั้งนี้เราควรเลือกสถานที่ที่ห่างไกลจากตัวเมืองใหญ่ โดยเลือกถ่ายภาพในคืนเดือนมืดที่ไม่มีแสงจันทร์ไปรบกวนแสงดาว จะให้ผลที่ชัดเจนขึ้นครับ

ในบทความนี้ ผมนำภาพการถ่ายทางช้างเผือกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 58 มาเป็นตัวอย่าง จะเห็นว่า ภาพนี้ใช้ค่า f ที่ 4.0 ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับค่า f เริ่มต้นของเลนส์ kit ที่น้องๆ มีนะครับ ในตอนที่ถ่ายภาพนี้เป็นช่วงรุ่งเช้า ประมาณตี 3-4 ไม่มีแสงจันทร์รบกวน (แต่มีแสงเมืองด้านล่างรบกวนอยู่บ้าง) ผมดัน iso ไปที่ 400 เปิดหน้ากล้องนาน 30 วินาที แม้ภาพทางช้างเผือกที่ปรากฎในกล้องจะค่อนข้างมืด แต่เราสามารถขุดแสงของทางช้างเผือกได้ในขั้นตอน Post processing ครับ

ทางช้างเผือกปรากฎอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เหนือจังหวัดกระบี่ ณ เวลาประมาณตี 0400 น. ต้นเดือนมีนาคม ปี 2558 กำหนดค่ากล้อง @ f/4.0, 30 sec., iso 400, WB = 3,450k ซึ่งเป็นค่า WB เริ่มต้นที่ผมมักตั้งไว้ เมื่อถ่ายภาพในตอนกลางคืนครับ

[ภาพที่ 1: ภาพตั้งต้นที่นำเข้าไปในโปรแกรมตกแต่งภาพจะค่อนข้างมืด โดยเราต้องเปิดค่าแสงโดยรวม (Exposure) ขึ้นควบคู่กับในส่วนเงามืด (Shadows) นอกจากนี้ จำเป็นต้องใช้ภู่กัน (Brush) ปรับแต่งในส่วนของทางช้างเผือกเพิ่มเติม โดยกำหนดค่า Contrast, Clarity ประมาณ 30-40 และเพิ่ม WB สีเหลืองและสีม่วงในบริเวณทางช้างเผือกเพิ่มเติม]

[ภาพที่ 2 : ภายหลังการปรับแต่งจะพบว่า สภาพแสงโดยรวมสว่างขึ้น และทางช้างเผือกมีสีสัน และรายละเอียดมากขึ้น ทั้งนี้ เราสามารถปรับปรุงความสดของสีโดยดึงค่า Vibrance + 25 ซึ่งจะมีผลต่อสีโทนเย็น และค่า Saturation + 10]

สรุปสั้นๆ อีกครั้ง

  1. เลนส์ kit ที่มีค่า f ระหว่าง 3.5 – 4.0 ถ่ายทางช้างเผือกได้แน่นอน

  2. ใช้การดัน iso ช่วย โดยดันไประหว่าง 400 – 1600 แล้วแต่สภาพแสง

  3. ให้เลือกสถานที่ไกลจากตัวเมือง ในคืนเดือนมืด ไร้แสงจันทร์รบกวน

  4. ภาพทางช้างเผือกที่ได้อาจจะมืดสักหน่อย แต่สามารถเร่งได้ใน Post processing

  5. แม้ภาพที่ได้จะเนียนน้อยกว่าการใช้เลนส์ดีๆ ที่ f กว้าง แต่การแสดงภาพทาง Facebook ไม่เห็นผลต่างกันมากนัก

ขอให้สนุกกับการออกไปล่าแสงดาวนะครับ

Previous
Previous

10 ข้อผิดพลาดซ้ำๆ ที่ช่างภาพ Landscape & Travel ควรรู้

Next
Next

ว่าด้วยเรื่อง Filters สำหรับนักถ่ายภาพ Landscape + Travel