ว่าด้วยเรื่อง Filters สำหรับนักถ่ายภาพ Landscape + Travel

[ภาพที่ 1: การใช้ Filter – GND หรือ แบบครึ่งซีก จะทำให้เรา Balance แสงบริเวณท้องฟ้าได้ดีขึ้น ทำให้ภาพมี Dynamic range กว้างขึ้น]

คนที่เริ่มต้นถ่าย Landscape ใหม่ๆ มักจะจัดอุปกรณ์ตามเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ถ่ายภาพมาสักระยะหนึ่ง ทั้งกล้อง เลนส์ และอุปกรณ์ต่างๆ เพราะเชื่อว่า อุปกรณ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง และเชื่อว่า “เรียนลัดจากประสบการณ์คนอื่น จะได้ไม่เสียเงินทิ้งกลางทาง” ส่วนตัวเห็นว่า คนเพิ่งเริ่มถ่ายภาพ อย่าจัดหนักกับอุปกรณ์นัก ควรซื้อกล้อง-เลนส์ รุ่น Entry level เช่น Nikon D5500 + เลนส์ Kit มาใช้ก่อนสักพัก เมื่อมั่นใจก็ค่อยขยับไปซื้อรุ่นใหญ่ต่อไป และจังหวะนี้ หากอยากจัดหนักก็เต็มที่ จะได้ไม่ซื้อๆ ขายๆ ให้เสียเงินเล่น ส่วนอุปกรณ์อีกชิ้น ที่มือใหม่ให้ความสนใจกันมาก ก็คือ ฟิลเตอร์ (Filter) ชนิดต่างๆ ทั้ง UV, ND, CPL, GND และ Big stopper ซึ่งในบทความนี้ผมขอเน้น Filter สำหรับการถ่ายภาพแนว Landscape ในประเด็นต่างๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจซื้อ Filter นะครับ

 1: Filter อะไรที่ควรซื้อ?

หากคุณเป็นคนที่ไม่ค่อยระวัง และต้องการปกป้องหน้าเลนส์ไม่ให้กระแทก แนะนำให้ซื้อ UV Filter เพื่อครอบหน้าเลนส์ตลอดครับ เพราะนอกจากจะช่วยตัดแสง UV ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพภาพถ่ายแล้ว ยังช่วยป้องกันฝุ่น หยดน้ำ ไม่ให้สัมผัสโดนหน้าเลนส์อีกด้วย ยี่ห้อไหนก็ได้ครับ จะเป็นของ Nikon, Hoya, B+W, Helliopan ได้หมดครับ

Filter ชิ้นที่สองที่แนะนำให้จัดแบบไม่ต้องลังเลคือ CPL ซึ่งมีประโยชน์หลายด้าน เช่น ใช้ตัดแสงสะท้อนบนกระจกหรือบนผิวน้ำ (ทำให้เราเห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำได้ชัดเจนขึ้น), ทำให้ท้องฟ้ามีสีเข้มขึ้น อีกทั้งยังทำให้แสงเข้าเลนส์น้อยลง (ประมาณ​ 1-2 stops) สามารถลาก Shutter speed ได้ช้าลงครับ … Filter CPL เป็นชิ้นเดียวที่ผมแนะนำให้ซื้อ (ปรกติ ผมไม่ค่อยใช้ UV Filter ปิดหน้าเลนส์) เพราะจากประโยชน์ข้างต้นนั่นเอง ที่สำคัญ เราไม่สามารถเลียนแบบ Effect ที่เกิดจาก CPL ได้ใน Post processing ดังนั้น หากใครชอบถ่ายน้ำตก หรือ Cityscape บ่อยๆ ควรจัดอย่างยิ่งครับ … ส่วน Filter อื่นๆ ที่เห็นขายกันอยู่ เช่น Soft-focus Filter, Sunrise Filter (สีออกแดงส้ม แบบครึ่งซีก) จะเริ่มเวิ่นเว้อแล้วนะ คือมันใช้งานเฉพาะกิจ ราคาไม่ถูก ดังนั้น หากคุณเพิ่งเริ่มถ่ายภาพ จัดแค่ 2 ตัวนี้ ก็เหลือเฟือแล้วครับ

2: Filter แบบหมุนเกลียว และแบบแผ่น?

ไขข้อข้องใจกันก่อน Filter นั้นมี 2 แบบ คือ แบบหมุนเกลียว และแบบแผ่น ในแบบแรกคงคุ้นเคยกันดี ที่จะมีขนาดของฟิลเตอร์ตามหน้าเลนส์ เช่น Filter ขนาด 77 mm. สำหรับใส่กับเลนส์ Nikon 16-35mm., 24/1.4 mm., 80-200 mm. (รวมถึงเลนส์อีกหลายตัวของ Nikon) หรือขนาด 82mm. สำหรับ Carl Zeiss 21mm. เป็นต้น

ก่อนซื้อ เราต้องเช็คหน้าเลนส์ของเราก่อนว่ามีขนาดเท่าไหร่ และหากเรามีเลนส์หลายตัวและมีหน้าเลนส์ขนาดเท่ากัน เราก็สามารถใช้ Filter แบบหมุนเกลียวด้วยกันได้ ทั้งนี้ ราคา Filter แบบนี้จะถูกกว่าแบบแผ่น แต่จะวุ่นวายตอนใส่ Filter เช่น หากต้องการใส่ ND Filter ที่สามารถลดแสงเข้าเลนส์ 10 stops เราต้องวัดแสง คำนวณ-ชดเชยค่าแสงให้เรียบร้อย และเล็งมุมให้ดี จากนั้นจึงหมุน Filter เข้าไปที่หน้าเลนส์เพื่อถ่ายภาพ หลังจากนั้น ก็ต้องหมุนเลนส์ออก หากต้องการย้ายไปถ่ายภาพที่อื่น ซึ่งหากเป็น Filter แบบแผ่น จะสะดวกกว่ามากครับ ซึ่ง Filter แบบแผ่น ที่นิยมซื้อมาใช้งานกันจะประกอบไปด้วย 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ND (สีเทาดำเต็มแผ่น), GND (สีเทาดำครึ่งแผ่น), และ Effect (สำหรับเติมสีสันเพิ่มเติม เช่น Filter ครึ่งซีกสีฟ้าอ่อน สีส้ม เป็นต้น)

การจะใช้งาน Filter แบบแผ่นได้ เราต้องซื้อ Adapter ring (ขนาดหน้าต่างๆ ตามเลนส์ที่เราใช้ โดยมีขนาดยอดนิยมคือ 77mm. สำหรับ Nikon หรือ 82 mm. สำหรับ Canon) + Filter Holder (สำหรับสอด Filter เข้ามาเพื่อใช้งาน) + Filter ที่ต้องการใช้งาน (ดูภาพที่ 1 ประกอบ) โดยยี่ห้อที่ผมเคยใช้มา คือ Lee Filter ซึ่งโดยรวมคุณภาพดี แต่ในปัจจุบันผมได้เปลี่ยนมาใช้ยี่ห้อ Nisi Filter ซึ่งเป็นฟิลเตอร์คุณภาพสูง สีไม่เพี้ยน (โดยเฉพาะฟิลเตอร์ ND1000 ลดแสง 10 stops สีตรง ดีงามมาก) ที่สำคัญ หากซื้อ Holder เป็นชุด จะมาพร้อมกับ Adapter ที่จำเป็นครบ + CPL พร้อมกัน ถือว่าถูกกว่าซื้อแยกมากมายครับ ในประเทศไทย ติดต่อตัวแทน Nisi Filter ที่ Camera Maker ได้เลย แนะนำครับผม

[ภาพที่ 2: ชุดฟิลเตอร์ที่พี่นันท์ ใช้ในปี 2558 โดยในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนมาใช้ยี่ห้อ Nisi Filter แทน ด้วยคุณภาพที่ดีกว่าเดิมมาก]

[ภาพที่ 3: แสดงผลของการใช้ฟิลเตอร์ Soft-GND]

3: โปรมักใช้ Filter แบบแผ่น อยากโปรบ้าง ควรจัดดีไหม?

ชุด Filter นั้นค่อนข้างแพง สนนราคาขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อชุด (Adapter ring + Holder + Filter 1-2 แผ่น) ซึ่งไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ เลย หรือแม้แต่ยี่ห้อ Nisi Filter ซึ่งเป็นฟิลเตอร์แผ่นแบบกระจกคุณภาพสูง ก็มีราคาค่าตัวที่สูงพอสมควร เรามักจะเห็นโปรฯ ถ่ายภาพ  Landscape มากมายนิยมใช้ Filter แบบแผ่นในการ Balance แสงให้ภาพถ่ายในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น – ตก แต่ก่อนที่จะทุบกระปุกนำเงินหมื่นกว่าบาทไปจัด Filter แบบแผ่นมาใช้ ผมอยากให้ถามตัวเองก่อนในประเด็นต่างๆ ดังนี้:

  • คุณชื่นชอบถ่ายภาพทะเล (Seascape photography) ใช่ หรือไม่?

  • คุณต้องการส่งภาพ Landscape เข้าร่วมประกวด ที่มีกฎห้ามแต่ง /ซ้อนภาพ ใช่ หรือไม่?

  • คุณต้องการจบภาพ Landscape หลังกล้อง และไม่สนใจแต่งภาพเพิ่มเติมใน Photoshop ใช่ หรือไม่?

  • คุณมีเงินมากพอ ที่จะซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อศึกษา โดยไม่สนใจว่าจะขาดทุนกี่มากน้อย ใช่ หรือไม่?

หากคุณตอบ “ใช่” ในข้อหนึ่งข้อใดข้างต้น ก็ขอให้ “จัด” ชุด Filter มาใช้สักชุดได้เลยครับ (update: ปัจจุบันแนะนำยี่ห้อ Nisi Filter เพราะคุณภาพสมราคา คุ้มค่าเมื่อซื้อเป็นชุดครับ) จัดก่อนใช้ก่อน และผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เช่น หากเราชอบถ่ายภาพทะเล การใช้ Filter แบบแผ่น จะช่วยให้เก็บแสงได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น สมมุติว่าเราไม่มี Filter แบบแผ่น และต้องถ่ายภาพทะเลตอนพระอาทิตย์ขึ้น – ตก เราจำเป็นต้องถ่ายภาพคร่อม ซึ่งการรวมภาพตอน Post processing นั้นทำได้ แต่ค่อนข้างลำบาก เพราะภาพที่ถ่ายคร่อมมานั้น อาจจมีจังหวะน้ำทะเล ซัดมาไม่เท่ากัน หรือ หากคุณต้องส่งภาพถ่ายเข้าประกวด บางเวทีก็กำหนดกติกาห้ามไม่ให้ซ้อนภาพตั้งแต่ 2 ใบเข้าด้วยกัน จึงจำเป็นต้องใช้ Filter เพื่อช่วย Balance แสง

แต่ถ้าคุณตอบ “ไม่” ผมขอแนะนำให้เอาเงินที่จะซื้อ Filter แบบแผ่นนี้ ไปลงทุนซื้อขาตั้งกล้อง + หัวบอล ดีๆ สักชุด เช่น Gitzo Carbon หรือ Manfrotto 055CXPro มาใช้ แล้วฝึกถ่ายภาพคร่อมแสง และฝึกการรวมภาพใน Photoshop ดีกว่าครับ ประหยัดกว่า แม้จะเสียเวลานิดหน่อย แต่ด้วยวิธีนี้ จะทำให้คุณเปิดประสบการณ์ในการแต่งภาพ ที่สามารถต่อยอดออกไปได้อีกมากมาย … ความลับก็คือ ช่างภาพ Landscape ระดับโลกหลายคน ที่ผมชื่นชอบ เค้าไม่ใช้ Filter แบบแผ่นเลยครับ มีแค่กล้อง + เลนส์ + ขาตั้งกล้อง และใช้วิธี “ถ่ายภาพคร่อม” ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่น่าทึ่งออกมาได้แล้ว ดังนั้น อย่ายึดติดที่อุปกรณ์ ให้ลองถามตัวเองให้ดีว่า “จำเป็นหรือเปล่า”

4: ถ้าจะจัดแน่ๆ ควรจัด Filter แบบแผ่น ชุดไหนบ้าง?

ตอบสั้นๆ … ถ้าจะจัดอยู่แล้ว เอาแผ่นไหนมาก่อนก็เหมือนกันครับ เพราะสุดท้าย … มันจะมาเกือบครบทุกแผ่นนั่นหล่ะ (ฮา) ใช่ครับ … คราวแรกผมเคยจัดแบบจำกัดจำเขี่ย บอกกับตัวเองว่า จะสอยเฉพาะ 0.6 และ 0.9 Soft GND (ลดแสงเข้าเลนส์ได้ 2 และ 3 stops ตามลำดับ มีรอบต่อค่อนข้าง Smooth ไล่จากบนลงล่าง) แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็ต้องสอยแบบ Hard เพิ่มเติม ทั้ง 0.6 และ 0.9  จนครบชุดแล้ว เพราะเวลาใช้งานจริงๆ หากเราจริงจังกับการเปิดรับแสง จะพบว่า แต่ละสถานการณ์นั้นจำเป็นต้องเลือกใช้ฟิลเตอร์ให้เหมาะสม

แต่ถ้าจะแนะนำก็ขอแบบนี้หล่ะกันครับให้ลองจัด 0.6 Soft GND และ 0.6 Hard GND มาเล่น อย่างละแผ่นก่อน ซึ่งการใช้งานมันครอบคลุมเกือบๆ 85% ของการถ่ายภาพที่เกิดขึ้นแล้วนะ (ดูภาพประกอบ 4-1 และ 4-2)  ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กล้องแต่ละค่ายมี Dynamic range ค่อนข้างกว้างมากๆ  การใส่ฟิลเตอร์ดังกล่าว จะช่วย Balance แสงตรงขอบฟ้าได้ 2 stops และขุด Shadow เพิ่มเติมอีกหน่อย ก็ได้ภาพที่สวยงามแล้ว ส่วน 0.9 Soft และ Hard นั้น ค่อยจัดในภายหลังครับ

ส่วน Filter เฉพาะกิจที่น่าสนใจอีกตัว มีชื่อว่า “Reverse Soft GND” ที่แตกต่างจาก GND ธรรมดาตรงที่ Filter ชนิดนี้ จะมืดตรงกลาง ซึ่งจะบังท้องฟ้าในส่วนที่พระอาทิตย์ขึ้น หรือตก (ซึ่งมักจะอยู่กลางภาพ และเป็นส่วนที่สว่างที่สุดของภาพ) ทำให้การ Balance แสงเป็นไปอย่างธรรมชาติ ดูสวยกว่าการใช้ GND ครับ

[ภาพที่ 4: แสดงผลของการใช้ฟิลเตอร์ Big Stopper ที่ลดแสงเข้ากล้องได้มากถึง 10 Stops]

5: Big Stopper ควรจัดหรือไม่?

Filter นี้ จะลดแสงเข้าเลนส์ 10 stops เช่น หากเราวัดแสงก่อนใช้ฟิลเตอร์ได้ที่ 1/30 sec. เมื่อใส่ Filter นี้เข้าไป จะต้องเปิด Shutter Speed นานขึ้นเป็น 30 sec. ทำให้เราสามารถสร้าง Effect ต่างๆ ได้มากมาย เช่น การต้มทะเล (ทำให้น้ำทะเลดูฟุ้งชวนฝัน) การทำให้เมฆไหล การถ่ายภาพน้ำตกในช่วงกลางวัน รวมถึง การทำให้คนที่เดินไปมาในภาพเบลอ หรือหายไปแบบเมืองร้างก็ได้ แต่ด้วยราคาของ Filter ชนิดนี้ ที่สูงถึง 7-8 พันบาท แถมเปราะบาง เพราะ Big Stopper เป็นแก้วดำหนา ตกแตก หรือมีอะไรหนักๆ ทับก็แตกได้ จึงดูเป็นการลงทุนที่แพงมากหากเราไม่ค่อยได้ใช้มันนะครับ ดังนั้น Big Stopper เหมาะที่จะซื้อใหม่ อันนี้แล้วแต่ความต้องการและกำลังทรัพย์เลยครับพี่น้อง

[ภาพที่ 5: การใช้งานฟิลเตอร์ 0.9 Soft GND ลดแสงด้านบน 3 stops ในสถานการณ์นี้แสงด้านหลัง มากกว่าแสงฉากหน้า – ดอก Russel Lupines มากพอสมควร จึง Balance แสงโดยการใช้ฟิลเตอร์ดังกล่าวใส่เข้าหน้าเลนส์ ทำให้สามารถเก็บแสงได้ Dynamic range ที่กว้างกว่าเดิม เรียกได้ว่าเกือบจบหลังกล้องได้เลย]

ท้ายสุดนี้ Filter เป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างสรรค์ความสวยงามให้กับภาพถ่าย แต่ Filter ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย! ไม่มี Filter ก็ถ่ายภาพสวย โหด ได้ โดยหัดถ่ายภาพคร่อม หรือฝึกการแต่งภาพ รวมภาพใน Photoshop เพื่อทดแทนการซื้อ-ใช้ Filter แบบแผ่นนะครับ

Previous
Previous

f/4.0 ก็เปรี้ยวได้ … ไปถ่ายภาพดาวกันเถอะ

Next
Next

จำลองผลของฟิลเตอร์ Big Stopper ด้วยเทคนิค Stack Mode