จำลองผลของฟิลเตอร์ Big Stopper ด้วยเทคนิค Stack Mode

วันนี้กลับมาเลยอยากเอาเทคนิคดีๆ มาฝากกัน นั่นก็คือ “Stack Mode” ซึ่งจะเป็นคนละเทคนิคกับ “Stack Focus (การนำภาพที่ถ่ายที่ระยะชัดที่แตกต่างกันแล้วมารวมกันให้เป็นภาพที่มีระยะ ชัดมากขึ้น)” นะครับ โดยเทคนิค Stack Mode นี้ใช้กันมากกับภาพถ่ายแนว Travel + Landscape ผมเคยศึกษาเรื่องนี้มานาน ซึ่งตอนนั้นบ้าถ่ายดาว และลืมเลือนไปเลย จนกระทั่งอาทิตย์ก่อนได้อ่านกระทู้ และชมวิดีโอเกี่ยวกับเทคนิคนี้เข้า จึงอยากรื้อฟื้น และนำมาแชร์ให้ทุกๆ คนได้นำไปใช้กันครับ สำหรับประโยชน์ของการใช้ Stack Mode ที่ผมนึกออก มีอย่างน้อย 4 ข้อ นั่นก็คือ

(1) แปลงภาพให้มีผลลัพธ์เหมือนลาก Shutter speed –> long exposure

เราสามารถแปลงภาพที่ถ่ายมาปรกติให้มีผลเหมือนกับการใช้ Filter ND!  โดยเฉพาะในส่วนของน้ำ คลื่น และเมฆ เช่น เราไปเที่ยวน้ำตก แล้วลืมเอาขาตั้งกล้องไป จะวางกล้องบนโขดหินก็ไม่ได้มุมสวยๆ ทำไงจะได้ภาพให้มีน้ำพริ้วๆ … ง่ายมากครับ ซัดภาพมาสัก 10-20 ใบในมุมเดียวกัน สมมุติว่าวัดแสงได้ f8.0, 1/30 sec., iso 100 @ 16mm. ก็จัดไปเลย ยิงปัง ปัง ปังมาชุดนึง แล้วมาใช้เทคนิค Stack Mode [Mean] ใน Photoshop กดคำสั่งปั๊บ น้ำตกพริ้วเหมือนลาก Shutter speed เลยครับ

(2) ช่วยลด Noise ให้ภาพมีคุณภาพดีขึ้น

ในภาพที่ใช้ iso สูงๆ เช่น การถ่ายภาพดาว ที่ iso 3200+ หรือแม้แต่การใช้กล้องขนาดเล็กจำพวก GoPro ถ่ายแสงช่วงเย็นแล้วมี Noise เกิดขึ้นมากมาย ก็สามารถใช้เทคนิคนี้ได้ นอกจากนี้ หากเป็นการเก็บภาพตอนช่วงแสงเย็น/แสงเช้าในลักษณะ VDO ก็สามารถประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ เพื่อให้ได้ภาพที่เนียนขึ้น (เหมาะมากกับการถ่ายภาพจาก Drone ที่มักถ่าย VDO แล้วมา Capture ภาพที่ละภาพเพื่อให้ได้ภาพมาชุดนึง (เช่น 12-16 ใบ) จากนั้นจึงใช้เทคนิค Stack Mode [Median] เป็นต้น

(3) ลบสิ่งที่เคลื่อนไหวในภาพ

คนเดินผ่านไป ผ่านมาในมุมที่เราต้องการเก็บภาพ บางครั้งก็สร้างความลำบากให้เราไม่น้อย ไหนจะต้องรอจนกว่าไม่มีคน บางทีรอน๊านนาน ก็ยังมีคน สองคน เดินไปเดินมาบังมุมที่เราจะเก็บภาพ ตรงนี้ขอแนะนำเลยว่า ให้กดภาพไปก่อน สัก 5-6 ใบ แล้วนำภาพนั้นมาใช้เทคนิค Stack Mode [Median] ซึ่งจะช่วยลบ “สิ่งที่เคลื่อนไปมาในภาพ” ให้ออกไปได้ เท่าที่ผมทดลองดู ได้ผลดีน่าทึ่งมาก แต่อย่าลืม ใช้คำสั่ง Auto Align Layers ทั้งหมดสักรอบนึงก่อนใช้ Stack Mode นะครับ เพราะบางทีภาพที่เราบันทึกมา อาจขยับเล็กน้อย ทำให้การใช้ Stack Mode ได้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่าที่ควร

(4) ต่อดาวหมุน

จริงๆ แล้ว เราสามารถใช้ PS เพื่อต่อดาวหมุนได้ แม้จะไม่สะดวกเท่าโปรแกรมสำเร็จรูป StarStaX แต่ก็ใช้แก้ขัดได้ระดับหนึ่ง โดยการ Load ภาพดาวที่ถ่ายต่อเนื่องทั้งหมด ให้เป็น Layer ใน PS หลังจากเลือกภาพทั้งหมดและแปลงเป็น Smart object แล้ว เราก็ใช้เทคนิค Stack Mode [Maximum] เพื่อรวมแสงทุกภาพเข้าด้วยกัน ก็ได้ภาพดาวหมุนสวยๆ แล้วครับ

การลาก Shutter speed ในการถ่ายภาพ เช่น ในภาพนี้ เปิดหน้ากล้องนาน 240 วินาที ทำให้เกิดผล น้ำนิ่ง – เมฆไหล แต่เทคนิคลาก Shutter speed เหมาะกับในช่วงแสงเช้าตรู่หรือหัวค่ำ หรือใช้ฟิลเตอร์พิเศษคือ Big stopper ที่ลดแสงได้ถึง 10 stops]

ทีนี้ เรามาดูขั้นตอนคร่าวๆ ของการใช้ Stack Mode กันครับ เนื่องจาก Stack Mode ใน Photoshop CC 2015 นั้น จะมีทั้งหมด 11 วิธี แต่วิธีที่ผมใช้เป็นประจำจะมีเพียง Mean, Median, และ Maximum เท่านั้น ส่วนตัวอื่นๆ ไม่ค่อยมีโอกาสใช้สำหรับ Landscape ครับ และภาพตัวอย่างที่จะนำมาอธิบายถึงขั้นตอน Stack Mode นั้น ผมต้องการแปลงภาพให้มีผลลัพธ์เหมือนลาก Shutter speed (หรือข้อ 1 ข้างต้นนั่นเอง) เอาหล่ะ มาศึกษาขั้นตอนการทำภาพกันนะครับ

ขั้นตอนที่ 1:    

เนื่องจาก Big stopper ราคาค่อนข้างสูง ทำให้หลายๆ ท่านไม่อยากลงทุนกับฟิลเตอร์ชนิดนี้ ดังนั้น นี่คือ ทางออกที่ถูกที่สุด … ให้ถ่ายภาพมาหลายๆ ใบ แนะนำ 10 ใบ+ เลยครับ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เนียนสวย เหมือนถ่ายภาพจาก Big Stopper จริงๆ เหมือนในภาพตัวอย่างนี้ ผมจัดมา 12 ใบ ครับ และเปิดทั้งหมดใน Adobe Bridge หรือ Lightroom แก้ไขภาพตามต้องการ แล้วอย่าลืม Syn ค่า Setting ทั้งหมดให้เหมือนกันนะครับ

ขั้นตอนที่ 2:    

ใน Adobe Bridge ให้ Load ภาพทั้งหมดไป PS ด้วยคำสั่ง Tools > Photoshop > Load files in to Photoshop layers จากนั้นก็รอสักพักจนได้ไฟล์ภาพเรียงกันในภาพ จากนั้น ให้เลือกภาพทั้งหมด แล้วใช้คำสั่ง Convert to Smart Object แล้วให้ลุกไปชงกาแฟร้อนๆ มานั่งจิบ ความช้าเร็วขึ้นกับจำนวนภาพที่เราใช้ และความแรงของเครื่องคอมครับ อย่างภาพจากกล้อง D700 จำนวน 10 ใบ บน iMac i5 แรม 16 ก็ใช้เวลาไม่ถึง 2 นาที เราก็ได้ได้ Layer เพียงอันเดียวที่มีสัญลักษณ์แปลกๆ เติมเข้ามาครับ

ขั้นตอนที่ 3: 

จากนั้นให้เลือกใช้คำสั่ง Layer > Smart Objects > Stack Mode ซึ่งจะมีหลายวิธีให้เลือกนะครับ ที่ผมใช้บ่อยๆ ก็คือ Mean, Median และ Maximum โดยตรงนี้ให้เลือก Mean นะครับ เพราะเป้าหมายของเราในภาพนี้ คือต้องการรวมภาพให้มีผลลัพธ์คล้ายการลาก Shutter Speed ครับ จากนั้นก็รอสักหน่อย จิบกาแฟไป นั่งเล่นเกมส์การ์ดไปพลางๆ นะครับ]

ขั้นตอนสุดท้าย:    

เมื่อรวมภาพทั้ง 10 ใบเข้าด้วยกัน โดยใช้คำสั่ง Smart Object > Stack Mode > Mean เราได้ภาพ Long Exposure งามๆ แล้วครับ จากภาพตั้งต้นถ่ายที่ 3 sec. ตอนนี้ดูเหมือนลากนานๆ ประมาณ 30 sec.  อยากให้ลองไปเปรียบเทียบกับภาพตั้งต้น จะเห็นว่ารายละเอียดคลื่นที่รกๆ ในคราวแรก … ตอนนี้เนียนนุ่มจริงๆ เสมือนกับใช้ Filter – Big Stoppers กดแสงเลยจริงๆ

BEFORE

ภาพหลักที่จะใช้อธิบาย Stack Mode ในบทความนี้ครับ ถ่ายภาพนี้ด้วย Nikon D700 + Nikon 16-35 mm. ที่ f16.0, 3 sec., iso 200 สังเกตว่าที่ 3 sec. นั้น ยังพอเห็นฟองคลื่น ลายน้ำอยู่บ้าง และรายละเอียดด้านซ้ายมือมันดูรกๆ ยังไงไม่รู้ครับ

AFTER USING - STACK MODE

เนียนจัง ตังค์อยู่ครบ ไม่ต้องซื้อ Big Stopper แล้ว! จัดไปง่ายๆ ด้วยการประยุกต์ใช้ Stack Mode > Mean ใน Photoshop

NOTE1:  

(Update – 1 มกรา 60): เทคนิคนี้ใช้ได้เฉพาะโปรแกรม Photoshop ของแท้เท่านั้นนะครับ เพราะมีคนอ่านหลายคนได้แจ้งปัญหามาทางข้อความส่วนตัว ว่าไม่สามารถใช้เทคนิคนี้ได้กับโปรแกรม Photoshop ที่ไม่ได้ลงทะเบียน หรือเลียนแบบครับ

NOTE2:

วิธีการนี้จะเหมาะสม และใกล้เคียงกับผลลัพธ์ที่ถ่ายจากฟิลเตอร์ Big Stopper ควรจะมีหลักดังนี้ครับ

  • ควรถ่ายในเวลาแสงเช้า/แสงเย็น เพื่อให้สามารถลาก Shutter Speed ได้สักหน่อย เพื่อให้มีเชื้อมาบ้างครับ

  • ควรใช้ CPL เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถลาก Shutter Speed ได้นานขึ้น

  • หากต้องการให้มีผล “เมฆไหล” สิ่งจำเป็นอย่างมากคือในเวลาถ่ายควรมีลมพอควร และมี Shutter Speed ที่ไม่เร็วจนเกินไป หากอยากได้เมฆไหลแต่ถ่ายในวันลมนิ่ง และแดดเปรี้ยง ก็ไม่ได้ผลนะครับ

  • การถ่ายเป็นชุด ไม่มีกำหนดว่าต้องใช้ขั้นต่ำกี่ใบ แต่จากที่ลองมา จำนวนใบที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 10-15 ใบครับ อาจใช้จำนวนมากกว่านี้ หากเครื่องคอมมี Spec ที่สูงพอควร

  • อยากให้ไปทดสอบ ทดลองกัน อย่าเชื่อข้อมูลในนี้ทั้ง 100%

ส่วนประโยชน์ในข้ออื่น ก็ใช้ลำดับขั้นตอนเหมือนที่อธิบายไว้ข้างต้นนะครับ เพียงแต่ในขั้นตอนที่ 4 (หรือภาพที่ 4) เราเลือก Mode ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่จะใช้ เช่น Median เหมาะสำหรับการลด Noise และการซ้อนภาพเพื่อลบสิ่งที่เคลื่อนที่ออกไป เป็นต้น … ลองเอาเทคนิคนี้ไปทำดูนะครับ ง่าย ไม่ซับซ้อน แล้วจะร้อง Wow กันหน้าจอคอม พร้อมๆ กัน : )

Previous
Previous

ว่าด้วยเรื่อง Filters สำหรับนักถ่ายภาพ Landscape + Travel

Next
Next

เพิ่มเติม* อีก 10 วิธี สร้างแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ (ep.2)