เพิ่มเติม* อีก 10 วิธี สร้างแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ (ep.2)

คราวก่อน พี่นันท์ ได้ฝาก 10 วิธีสร้างแรงบันดาลใจไว้แล้ว แต่หากช่วงนี้ ใครที่ยังรู้สึกท้อ เบื่อๆ เหนื่อยๆ เหมือนจะหมดไฟ (ชั่วคราว) ลองอ่านข้อคิดด้านล่างอีก 10 ข้อ ** รวมเป็น 20 ข้อ โอว… ต้องโดนสักข้อหล่ะ เพื่อนำไป “จุดไฟ” การถ่ายภาพให้ตัวเองกันต่อไปครับ

11. จัดกิจกรรมถ่ายรูปกับเพื่อนๆ: ไม่มีแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ (คนเดียว) ก็หากลุ่มถ่ายภาพด้วยกันสิ อาจจะรวมตัวกันเพื่อทำ Photo Walk เดินถ่ายภาพในช่วงวันหยุดตามสถานที่ที่น่าสนใจแถวบ้านคุณ เช่น เยาวราช, สวนจตุจักร, อยุธยา เป็นต้น หรืออาจรวมตัวกันทำกิจกรรม “1/365” หรือการถ่ายภาพวันละใบ ให้ครบ 365 วัน โดยขอให้เริ่มที่ตนเอง จุดเชื้อไฟให้ตัวเอง แล้วคาดหวังว่าไฟดวงเล็กๆ ดวงนี้ จะส่งผ่านความสุขในการถ่ายภาพให้กับเพื่อนๆ รอบตัว โดยกฎสำคัญสำหรับการสร้างแรงบันดาลใจในกิจกรรมแบบนี้ก็คือ “เรารวมกลุ่ม … เพื่อแข่งขัน … กับตัวเอง” อย่าเอาความสวยงาม ความยอดเยี่ยมของคนอื่นเป็นบรรทัดฐาน ตัวเองในวันนี้ นั่นหล่ะ คือไม้บรรทัด ที่จะใช้วัดการพัฒนาตนองในวันต่อๆ ไป

12. เปลี่ยนแนวถ่ายภาพชั่วคราว หรือเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ: หากคิดว่ามุมมองการถ่ายภาพในสายที่ชอบตัน ไม่คืบหน้า ลองเปลี่ยนแนวไปถ่ายภาพประเภทอื่นๆ เช่น หากชอบถ่ายภาพ Landscape & Travel แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้ออกไปไหน อาจจะหันไปถ่ายภาพ Street, Portrait, หรือ Drone photography ดูก็ไม่เลวนะ เพราะเราเชื่อว่าศิลปะทุกแขนง ทุกประเภท เชื่อมโยงกัน เราจึงอาจได้รับแนวคิด แรงบันดาลใจ ไปต่อยอดงานปัจจุบันก็เป็นได้ นอกจากนี้ … ศาสตร์ในการถ่ายภาพดั่งมหาสมุทร มีเรื่องสนุกให้เราได้ทดลองทำอีกมากมาย เช่น การหัดใช้ Flash ภายนอก, วาดภาพด้วยแสง, การโคลนตัวเองในภาพถ่าย (Cloning ด้วยการถ่ายภาพหลายใบแล้วนำมารวมกัน), การหัด Pan กล้องขณะถ่ายภาพ, การถ่ายภาพ Multiple exposure, Timelapse และ Still motion เป็นต้น

13. กางปฏิทิน แล้วปักหมุดกิจกรรมถ่ายภาพในรอบปี: ทุกๆ ปี จะมีกิจกรรมการถ่ายภาพจากหน่วยงาน ชมรม สมาคมต่างๆ มากมาย ที่จัดประกวดขึ้นเพื่อยกระดับความสามารถของช่างภาพคนไทย หากการขาดเป้าหมาย ทำให้ไฟในการถ่ายภาพมอดลง ลองเปิดปฏิทินแล้วปักหมุดกิจกรรมถ่ายภาพที่เราอยากเข้าร่วมลงไป การมีแผนงานล่วงหน้า จะทำให้เราตื่นตัว และเตรียมพร้อมเพื่อจะเข้าแข่งขัน อย่าเพิ่งไปหวังรางวัลอะไรเลย ขอให้เข้าร่วมเพื่อฝึกคิด ฝึกถ่ายภาพ ในไม่ช้าโอกาสทองจะมาถึงเราเองนะ ขอแค่อย่าหยุดเดินครับ กิจกรรมที่น่าสนใจในรอบปี สามารถติดตามได้จาก สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ http://www.rpst.or.th/news/activity/; สมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ http://www.bpsthai.org; และชมรมการถ่ายภาพ-ประกวดภาพถ่าย https://www.facebook.com/ชมรมการถ่ายภาพและการประกวดภาพถ่าย-133598303347385/

14. ย้อนยุค … กลับไปหาฟิล์ม: พูดมานานกับวลี “ฟิล์ม ไม่มีวันตาย (Film will ever die)” แม้กระแสจะตกไปบ้างช่วงที่ได้ยินข่าว Kodak ยกเลิกผลิตฟิล์มสีเมื่อหลายปีก่อน (โดยแว่วๆ ว่าจะฟื้นคืนชีพโรงงานที่อินเดีย) แต่ทางเลือกอื่นๆ ของคนรักฟิล์มยังมีอีกมากมาย เราเริ่มเห็นวัยรุ่นยุคใหม่สะพายกล้องฟิล์ม หัดถ่ายภาพอย่างจริงจัง … เราเริ่มเห็นตลาดขายฟิล์มในเมืองไทยเติบโตขึ้น รวมถึงกล้อง/อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับฟิล์ม … และเราเริ่มเห็นกระแสจากโลกภายนอก ที่ช่างภาพต่างชาติมากมายเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับกล้องฟิล์ม เช่น การใช้กล้องฟิล์ม Medium format ถ่ายภาพแฟชั่นตีพิมพ์ในนิตยสาร หรือแม้แต่ใช้กล้องฟิล์มแบบ Large format ถ่ายภาพกีฬาโอลิมปิค สิ่งเหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้การใช้กล้องฟิล์มดูน่าสนใจ และท้าทาย … หากนึกเบื่อ Digital ลองมาเล่นฟิล์มดูสิ การเริ่มต้นไม่ยาก แค่มีกล้องฟิล์มคุณภาพดี ราคากลางๆ สักตัว เช่น Nikon FM2n หรือ F3 (ราคาราวๆ 8 พัน – หมื่นต้นๆ) และเลนส์ระยะ 35 หรือ 50 มม. แค่นี้ก็เริ่มต้นถ่ายภาพด้วยฟิล์มได้แล้ว หรือต้องการ Upgrade ขึ้นไปเล่น Medium format ก็จะพบว่า กล้อง Hasselblad ซีรีย์ 500 มือสองสภาพดีๆ พร้อมเลนส์ ราคาไม่เกิน 3 หมื่นบาทเท่านั้นเอง (เมื่อเทียบกับสมัยก่อน ต้องขายรถซื้อกันเลยทีเดียว) นอกจากนี้ … ต้นทุนการถ่ายภาพด้วยฟิล์มก็ยังน่าเล่น เช่น Film Format 135 คิดค่าฟิล์ม ล้าง และสแกนภาพ อยู่ที่ประมาณ 250 – 350 บาทต่อม้วน ส่วน Format 120 อยู่ที่ประมาณ 400 บาทต่อม้วน เป็นต้น เมื่อดูต้นทุนตรงนี้ เราอาจรู้สึกว่าต้นทุนค่อนข้างสูง … แต่เมื่อลองคิดทั้งระบบแล้ว การถ่ายภาพด้วยฟิล์มอาจถูกกว่าการสอยกล้อง Digital Fullframe พร้อมเลนส์อีกนะ ?? ซึ่งนอกจากนี้ ยังได้ความสนุก ท้าทาย กลิ่นอายความย้อนยุค และช่วงเวลาแห่งการรอคอย (ลุ้นว่าภาพจะออกมาดีหรือเปล่า) … รวมๆ แล้ว ทำให้ชีวิตการถ่ายภาพ สนุกขึ้นเยอะเลย

ลองเปลี่ยนแนวที่ชอบถ่าย มาถ่ายภาพประเภทอื่นๆ บ้าง เช่น เรียนรู้การถ่ายภาพ Portrait, Candid, Street, Macro … ยังมีการถ่ายภาพอีกหลายแขนง รอให้เราเรียนรู้อีกมากมาย ในภาพนี้ผมใช้กล้องฟิล์ม Nikon F3 กับเลนส์ระยะ 50 mm. ถ่ายภาพลูกชาย ที่กำลังขี่จักรยานที่สวนหลวง ร.9 เคยคิดว่าการถ่ายภาพเด็กไม่ยาก … คิดผิดมากจริงๆ เพราะเด็กเป็นวัยที่สดใส เปี่ยมไปด้วยพลังที่ไม่มีวันหมด … กว่าจะจับจังหวะได้แต่ละใบ เล่นเอาเหนื่อยเลย แถมยังต้องลุ้นว่าจะหมุนเลนส์ให้โฟกัสเข้าหรือเปล่า … ท้าทาย และสนุกมากเลยครับ

15. หาโอกาสเข้าร่วม Workshop การถ่ายภาพ/แต่งภาพ: ทุกวันนี้มี Workshop การถ่ายภาพมากมาย แค่ลองนับๆ ดูในหมวด Landscape & Travel มีผู้จัดเกินสิบแห่ง ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากเป็นการพัฒนาตนเองแล้ว ยังมีโอกาสพบเพื่อนใหม่ ได้ฝึกฝนทักษะการถ่ายภาพ เรียนรู้เทคนิคที่ย่นย่อเวลาไปได้มากเพราะถือเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น อีกทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้มากมาย

16. ออกเดินทาง: ชีวิตที่อยู่ในกรอบเดิมๆ สถานที่เดิมๆ อาจทำให้รู้สึกไม่มีอะไรตื่นเต้น ดังนั้น … อีกวิธีที่ง่ายที่สุด ที่ทำให้เรากระตือรือล้นอยากถ่ายภาพ ก็คือ การหาเวลาว่างๆ แล้วออกเดินทาง จะไปเดี่ยว ไปเป็นคู่ หรือจะไปยกก๊วน ก็สนุกทุกรูปแบบ วางแผนไปเที่ยวด้วยกันใกล้ๆ หรือไกลๆ ไม่ใช่ประเด็น แค่ขอให้ออกจากสถานที่ที่เราคุ้นเคย แล้วเราจะพบว่า แรงบันดาลใจสร้างง่ายแค่ก้าวเดินออกจากประตูบ้าน ก้าวออกจาก Comfort Zone เพื่อไปเจอเพื่อนใหม่ เจอประสบการณ์ใหม่ๆ ชีวิตจะสนุก และตื่นเต้นขึ้นครับ

17. ค้น HDD ของตัวเอง แล้วเอาภาพไปพิมพ์ซะ: แรงบันดาลใจอาจหลับไหลในอดีต ลองใช้เวลาว่างนั่งดูภาพถ่ายที่ผ่านมา ระลึกถึงความสนุก ความสุข และประสบการณ์ที่ได้รับจากที่ตรงนั้น บางภาพผ่านมานานตั้งแต่เราเริ่มถ่ายภาพใหม่ๆ หรือเริ่มแต่งภาพ ดังนั้น จะมีจุดผิดพลาดอยู่ เราสามารถแก้ไขให้มันดีขึ้นได้ไหม? เราปรับแต่งภาพสไตล์ใหม่ได้ไหม? บันทึกความผิดพลาดของตัวเอง แล้วตั้งเป้าหมายแก้ไขความผิดพลาดในทริปต่อไป นอกจากนี้ … อย่าปล่อยให้ภาพสวยๆ นอนตายใน HDD “ภาพที่ดีเกิดขึ้นหลังพิมพ์ภาพ” ลองส่งไฟล์ภาพของตนเองไปยังผู้พิมพ์ภาพคุณภาพสูง เช่น MetalPrint Pro เพื่อพิมพ์ออกมาติดฝาผนังตกแต่งบ้าน/คอนโด หรือคิดการณ์ใหญ่นำไปวางขาย หรือแม้แต่ให้เป็นของขวัญแก่คนที่เรารัก สุดท้าย … เมื่อเราเห็นความสวยงามของภาพ รวมถึงได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง เราจะมีแรงบันดาลใจให้ออกไปเก็บภาพถ่ายมากขึ้น

18. พกกล้องไปด้วยทุกที่: จังหวะนี้ใช่เลย ถ้ามีกล้องมาด้วยนะ จะเยี่ยมมาก … สุดท้าย เราก็ได้เพียงภาพฟุ้งๆ ในความคิด ลองพกกล้องติดตัวนะครับ จะเป็นกล้อง Compact, Mirrorless หรือ DSLR ก็ได้ ให้ยัดใส่กระเป๋า หรือทิ้งไว้ในรถ (เก็บให้มิดชิดนะครับ) เมื่อมีโอกาสถ่ายภาพเข้ามา เราจะได้มีอุปกรณ์บันทึกความประทับใจนั้นๆ การสานต่อพลังในการถ่ายภาพ คือ “การได้ถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ปล่อยให้สนิมเกาะกินจิตใจ” นั่นเอง

ภาพยนตร์ 10 เรื่อง ที่ผมอยากแนะนำให้หามาชมครับ บางเรื่องเป็นสารคดีต่างประเทศ ที่บอกเล่าถึงประวัติ และผลงานของช่างภาพที่ยิ่งใหญ่ เช่น Ansel Adam และ Henri Cartier และในจำนวนนี้ มีภาพยนตร์ไทยที่น่าสนใจรวมอยู่ด้วย เช่น คิดถึงวิทยา และซัมบาลา

19. ชมภาพยนตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจในการออกเดินทางท่องเที่ยวถ่ายภาพ: ลองไปหาดูจาก Google นะครับ เราจะพบรายชื่อหนังมากกว่า 100 เรื่องที่นักถ่ายภาพทุกคนควรดู ผมลองไล่ๆ ดูรายชื่อแล้ว พอจะสรุปชื่อหนัง 10 เรื่อง ทั้งจากไทย และต่างประเทศ ที่น่าหาเวลาดู ดังนี้ครับ

  • หนังสารคดีของ National Geographic ชื่อ The Photographers (ปี 1998)

  • หนังสารคดี Henri Cartier-Bresson: The impassioned Eye (ปี 2003)

  • หนังสารคดี Ansel Adams: American Experience (ปี 2003)

  • ภาพยนตร์ญี่ปุ่น The Village Album (ชื่อไทย: บันทึกไว้ในหัวใจ – ปี 2006)

  • สบายดีหลวงพระบาง (พ.ศ. 2551)

  • หนังสารคดี Finding Vivian Maier (ปี 2013)

  • ภาพยนตร์ The secret Life of Walter Mitty (ปี 2013)

  • ภาพยนตร์ Life (ปี 2015)

  • ซัมบาลา – Shambhala (พ.ศ. 2555)

  • คิดถึงวิทยา (พ.ศ. 2557)

20. …………………………………………..….. (สำหรับข้อสุดท้าย ผมขอให้เพื่อนๆ เติมวิธีการสร้างแรงจูงใจในการถ่ายภาพ ตามต้องการได้เลยครับ ใครมี Idea ดีๆ ก็อย่าลืมแบ่งปันกัน ด้วยการเขียน Comment ด้านล่าง ขอบพระคุณล่วงหน้าครับผม)

เป็นอย่างไรบ้างครับ การหาแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพนี่ เหมือนจะยากก็ยาก หรือจะแลดูให้ง่าย ก็ง่ายมากๆ ทั้งหมดนั้น ต้องขึ้นกับใจของเราเอง เราแค่เบื่อ แค่เหนื่อย แค่ไม่สนใจชั่วคราว ก็ยังดีกว่า “ท้อแล้วหยุดไม่เดินหน้าต่อ” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนเดินทางตามหาฝันของตนเอง บนเส้นทาง “นักภาพถ่าย” เพียงแค่พยายามวันละนิด จุดเชื้อไฟแห่งแรงบันดาลใจวันละหน่อย ผมเชื่อมั่นว่า เราทุกคนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่าที่ผ่านมาได้อย่างแน่นอน ขอบคุณที่ติดตามครับ/

Previous
Previous

จำลองผลของฟิลเตอร์ Big Stopper ด้วยเทคนิค Stack Mode

Next
Next

10 วิธี สร้างแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ (ep.1)