10 วิธี สร้างแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ (ep.1)

วันดีคืนดี เราเองก็อาจไม่รู้ตัวว่าเกิดขึ้นตอนไหน รู้แต่ว่า … “ไฟในการถ่ายภาพมันมอดซะงั้น!” คือมีแสงรำไร ริบหรี่ จนถึงขั้นดับไปเฉยๆ ลองเช็คเพื่อนคนอื่นบางคนก็ยังมีไฟลุกโชติช่วง ขณะที่อีกหลายคนก็วางกล้อง หันไปทำงานอดิเรกอื่นๆ ฆ่าเวลาเพื่อให้มีไฟกลับมาถ่ายภาพกันต่อไป ผมเองก็มีอารมณ์แบบนี้เช่นกัน มันค่อยๆ ซึมเข้ามา รู้ตัวอีกที ไม่ค่อยอยากจับกล้อง วางทิ้งไว้ในตู้ มีโอกาสก็ใช้กล้อง Compact เล็กๆ ในกระเป๋าขึ้นมากดภาพสักที พอสังเกตดูกระแสภาพถ่ายใน Social Networking ต่างๆ เช่น 500px.com ก็เห็นช่างภาพที่เราตามงานอยู่ ไม่ค่อยมีผลงานสวยๆ ออกมาให้ชม เหมือนคุณภาพงานมันตกลงมามากกว่าที่คาดไว้ … เอ … โรคหมดไฟ อาจเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ขอให้เฝ้าถามตัวเองว่า ยังรักการถ่ายภาพไหม? ยังสนุกกับมันไหม? ยังรู้สึกว่าสิ่งนี้ท้าทายไหม? ยังรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กกระจิ๊ดริ๊ดเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ที่ถ่ายภาพไหม? คือจะพบคำตอบ “ใช่” เกือบทุกคำถามข้างต้น นั่นแสดงว่าอาการหมดไฟ เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับจิตใจและยังพอเยียวยาได้ หากช่วงนี้ ใครที่รู้สึกท้อ เบื่อๆ เหนื่อยๆ เหมือนจะหมดไฟ (ชั่วคราว) ลองอ่านข้อคิดด้านล่าง เพื่อนำไป “จุดไฟ” การถ่ายภาพให้ตัวเองกันนะครับ

1. ปลีกตัวจาก Social networking: แม้การใช้ Social networking จะมีข้อดีหลายๆ ด้าน เช่น ช่วยให้ติดตามข้อมูลข่าวสารด้วยความฉับไว, สร้างเครือข่ายมิตรภาพ, และใช้ในการติดต่อสื่อสารด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ แต่ก็มีข้อเสียที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ ข้อมูลที่ปรากฎในสื่อเหล่านี้ โดยเฉพาะ Facebook อาจทำให้เราไม่มีความสุข มีความพึงพอใจในชีวิตของตนเองน้อยลงไปทุกวัน และรู้สึกว่าตนเองทำ (บางสิ่งบางอย่าง) ได้ไม่ดีเท่ากับคนอื่นๆ สิ่งนี้ทำให้ความภาคภูมิใจในตนเอง (หรือที่เรียกว่า Self-esteem) ลดลง ดังนั้น ลองทวนตัวเองให้ดีว่าเราใช้ Social networking มาเกินพอดีหรือไม่ และลองหาเวลาปลีกตัวจากมัน เพื่อทบทวนตัวเอง ใช้เวลาว่างที่มีเพิ่มขึ้นเพื่อฝึกทักษะการถ่ายภาพ/แต่งภาพ เพื่อให้ตนเองมีความสุข และมั่นใจในตนเองมากขึ้นนั่นเอง

2. นัดพบเพื่อนๆ ที่ชอบถ่ายภาพเพื่อ update ชีวิต: จำได้ว่า ทุกๆ ครั้งที่ได้ออกไป “สภากาแฟ” กับเพื่อนๆ ตอนเรียนที่ Australia ทำให้ผมมีความสุข และมีแรงบันดาลใจทุกๆ ครั้ง การพบเจอคนที่รักการถ่ายภาพเหมือนกัน แบบตัวเป็นๆ ทำให้เราสัมผัสได้ถึงพลังของคนอื่นที่กำลังเดินทางบนเส้นทางเดียวกัน ตลอดจนความอบอุ่นในมิตรภาพและกำลังใจที่หยิบยื่นให้กัน สิ่งนี้มีค่าที่สามารถ “จุดไฟ” ให้กับการถ่ายภาพของเราได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบางครั้ง การออกไปเจอกัน อาจจะถูก “ป้ายยา” อุปกรณ์ใหม่ๆ บ้างก็ตาม ผมคิดว่า นั่นก็เป็นอีก “เชื้อฟืน” ที่ทำให้เรายังสนุกกับการถ่ายภาพครับ

3. แวะชมนิทรรศการศิลป์ การถ่ายภาพ และพิพิธภัณฑ์: ทุกๆ สิ่งล้วนเกี่ยวข้อง สอดคล้องกัน รวมถึง “ศิลปะ” หากมีเวลาและรู้สึกเบื่อๆ ลองแวะไปชมนิทรรศกาลศิลป์ หรือการจัดแสดงภาพถ่าย ซึ่งเมื่อเราได้เห็นของจริง จะทำให้เราได้เรียนรู้หลักการแห่งศิลป์ การวางองค์ประกอบภาพ และความลงตัวของภาพที่จัดแสดง แม้นิทรรศการนั้นจะเป็นการแสดงภาพพิมพ์ ภาพวาด งานปั้น แต่เราก็ได้แนวคิดที่นำมาประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี บ่อยครั้งที่การเดินดูงานแสดงภาพถ่าย เราจะรู้สึกตื่นเต้น หัวใจพองโต อยากคว้ากล้องออกไปถ่ายภาพกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ … เราอาจหาเวลาว่างเข้าฟังการบรรยายด้านศิลปะ และการออกแบบเพิ่มเติม มีสถานบันดีๆ ในเมืองไทย จัดกิจกรรมด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น http://www.tcdc.or.th แหล่งรวมข้อมูล และกิจกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ

การออกทริปถ่ายภาพเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างทั้งแรงบันดาลใจ และมิตรภาพใหม่ๆ ที่พร้อมสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดออกไปไม่รู้จบ ในภาพนี้เป็นทริปที่ผมได้ออกไปเที่ยวกับเพื่อนใหม่ในแถบภาคใต้ เป็นทริปที่สนุก เรียนรู้อะไรเยอะ และรู้สึกประทับใจมากจริงๆ

4. ดูภาพถ่ายสวยๆ จาก Online Gallery: หากไม่มีเวลาออกไปดูนิทรรศการ ก็แวะไปชมแบบ Online ได้เลยครับ ใน website หลายๆ แห่งมีห้องแสดงภาพที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ดีมาก โดยเฉพาะห้องแสดงภาพ Editor’s Choice ของ https://500px.com/editors หรือ https://1x.com/?p=awarded ที่มีภาพสวยๆ จากทุกมุมโลกมาแสดงกันแบบบุฟเฟต์ มีเวลาเท่าไหร่ดูได้เท่านั้น ความสวยเสริฟให้ชมแบบไม่อั้น แถมเลือกเข้าชมได้ตามประเภทภาพที่ชอบ ทั้ง Landscape, Travel, People, Nature, Macro, Food, City, Fine art รวมถึง Nude ด้วยนะ (ดูภาพประเภทหลัง อาจจะไปจุดไฟอย่างอื่นแทนนะครับ 55+)

5. อ่านหนังสือ/นิตยสารการถ่ายภาพ: เบื่อๆ เซ็งๆ อ่านหนังสือสิ … ถ้าตอนสอบเข้ามหาลัยเมื่อหลายปีก่อนมีคนมาบอกแบบนี้ ผมคงเอาแก้วน้ำเขี้ยงกำแพง แล้วให้มันกระดอนโดนหน้าคนพูดนั่นแล้ว มีที่ไหน? เบื่อๆ เซ็งๆ จะให้อ่านหนังสือ … แต่หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายภาพหล่ะก็ ไม่มีเบื่อมีเซ็งครับ ได้ความรู้ ข้อมูล และแรงบันดาลใจเต็มๆ เช่น นิตยสาร FotoInfo ที่ผมรับเป็นประจำ นั่นก็มีเนื้อหาสาระขั้นครู ใช้เป็นแหล่งอ้างอิง, update ข้อมูลถ่ายภาพ และมีข้อมูลการท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ให้เรามีไฟอยากออกไปเก็บภาพตามภาพประกอบในหนังสือเลยครับ

6. จัดอุปกรณ์ถ่ายภาพใหม่: อย่าไปแคร์ว่าใครจะมาแซวเราว่าเป็น “ช่างภาพสายอุปกรณ์” หากความสุขของเราอยู่ตรงนั้น เงินของเราไม่เป็นภาระของคนอื่น และที่สำคัญไม่ได้ทำร้ายใคร มีคำพูดเกี่ยวข้องกับการซื้อของที่น่าสนใจหลายอย่าง ขอยกมาให้อ่านกัน เช่น “คนที่บอกว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ … แสดงว่าคนๆ นั้นยังไม่เจอร้านที่ใช่ (Whoever said that money can’t buy happiness, simply didn’t know where to go shopping)” หรือ “คุณอาจจะเรียกมันว่าการช๊อปปิ้ง แต่ชั้นเรียกมันว่าการการบำบัด (ความเครียด) ด้วยการซื้อ (You call it shopping, I call it retail therapy)” จริงแท้แน่นอน การซื้อ (กล้อง-อุปกรณ์) แต่ละครั้ง ทำให้เรามีความสุข และทำให้เราอยากใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อสร้างสรรค์ภาพที่ดีขึ้นมา เช่น เลนส์ Portrait ออกใหม่ล่าสุดของ Nikon Af-s 105 mm. f/1.4E เห็น Review แต่ละสำนักแล้วน้ำลายสอ หากพอขยับขยายโดยไม่ลำบาก (เช่น ขายเลนส์เดิม เพิ่มเงินอีกหน่อย) ก็น่าสอยมาเล่น เพื่อกระตุ้นต่อมอยากถ่ายภาพ แต่ขอให้เพื่อนๆ อย่าลืมกฎสำคัญ 2 ข้อ … (1) คาดหวังให้น้อย แล้วจะสุขมากขึ้น (…เพราะอุปกรณ์ใหม่ไม่ได้ทำให้เราถ่ายภาพได้ดีขึ้น ดังนั้นอย่าคาดหวังว่าเราจะ Power UP ตามระดับเงินที่จ่ายไป) และ (2) ลิงหลังกล้องสำคัญเสมอ … อย่าลืมพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กับอุปกรณ์ที่ upgrade ขึ้นไปด้วยนะครับ

แรงบันดาลใจสร้างง่ายๆ เพียงแวะเข้าไปชมภาพถ่าย Online จาก Website ยอดนิยม เช่น www.1x.com และ www.500px.com โดยให้เลือกเข้าไปในหน้า Reward หรือ Editor’s choice ซึ่งจะแสดงภาพถ่ายที่ได้รับการคัดสรรว่าน่าสนใจ เหมาะแก่การเรียนรู้ถึง Mood, Tone และ Composition ของภาพถ่ายได้เป็นอย่างดี

7. หัดถ่ายภาพด้วยอัตราส่วนภาพที่ต่างไปจากเดิม: กล้องโดยทั่วไปให้อัตราส่วนภาพ 3:2 เราจึงเคยชินกับการวางองค์ประกอบภาพในอัตราส่วนนี้กัน หากเบื่อๆ อยากให้ลองท้าทายตนเองและปรับอัตราส่วนการถ่ายภาพ 1:1 หรือ 16:9 ด้วยการปรับผ่าน Setting (เช่น Image ratio) ของกล้องแต่ละรุ่น ดูนะครับ เมื่อปรับแล้ว เราจะมีกรอบการคิด การมองภาพที่ต่างออกไปจากเดิม เช่น การถ่ายภาพ 1:1 หรือสี่เหลี่ยมจตุรัสนั้น ทำอย่างไรจะให้ภาพที่ลงตัว ไม่หลวมไป ไม่แน่นไป จะวาง Subject หลักไว้จุดไหน ถึงให้ภาพที่มีพลัง และลงตัวที่สุด ฯลฯ ความท้าทายเล็กน้อยนี้ ทำให้เราสนุกกับการถ่ายภาพมากขึ้นเท่าทวีครับ

8. หัดถ่ายภาพขาว-ดำ: เหอ…เหอ ยากที่สุดใน 3 โลก สำหรับผมแล้ว ทำอย่างไรจะทำให้เราถ่ายภาพขาว-ดำให้น่าสนใจ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายและจุดประกาย “ความต้องการเอาชนะตนเอง” ได้อย่างดี ง่ายสุดในการเริ่มต้นถ่ายภาพขาวดำ คือ ปรับกล้องดิจิตอลของตัวเองเป็น Mode – Monochrome ซะ บางรุ่นได้จัดเตรียม Preset ฟิลเตอร์สีต่างๆ เช่น สีแดง สีเหลือง เพื่อใช้สร้างสรรค์ภาพขาวดำได้ดั่งใจ ลำดับต่อไปคงต้องไปดูภาพขาวดำที่สวยงาม มีพลังเยอะๆ เพื่อสร้าง Sense ให้ตนเอง ตามด้วยศึกษาแนวคิดการถ่ายภาพที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ Zone system และองค์ประกอบศิลป์ด้าน แสง-เงา ให้มากขึ้น … แค่คิด … ก็สนุกแล้วครับ

9. ตั้งโจทย์ เงื่อนไข หรือหัวข้อเรื่อง (Theme) ให้กับตัวเองเมื่อมีโอกาสออกไปถ่ายรูป: ความสนุก จดจ่อกับสิ่งใดๆ หรือที่เรียกกันว่า Flow นั้น จะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง ความท้าทาย (Challenge) และทักษะของเรา (Skill) เราจะรู้สึกดีมากๆ หากเราได้ตั้งโจทย์ หรือเงื่อนไขที่ท้าทาย แล้วใช้ทักษะของเราเอาชนะสิ่งนั้นๆ ได้ โดยความท้าทายนั้นต้องไม่ง่ายจนทำให้เราเบื่อ และไม่ยากจนทำให้เราท้อ ดังนั้น อยากให้ลองนึกสนุกด้วยการตั้งเงื่อนไข การออกไปถ่ายภาพในแต่ละครั้งที่มีโอกาส เช่น สุดสัปดาห์นี้ จะออกไปถ่ายภาพ Street ด้วยกล้องตัว เลนส์ตัว (เช่น 35mm.); หรือการไปเที่ยวตลาดน้ำในวันพรุ่งนี้ ตั้งเงื่อนไขเก็บภาพ Portrait บุคคลที่เราไม่รู้จัก ในโจทย์ “Hello, Stranger.” ; หรือ กำหนดว่าวันนี้จะยิงภาพแค่ 36 ใบ (เท่ากับฟิล์ม 1 ม้วน) โดยที่จะไม่ดูภาพหลังกล้อง พร้อมกับใช้ Manual mode ทั้งวัน; หรือเราอาจกำหนดหัวข้อเรื่อง (Theme) ว่า “แสงเงาที่เยาวราช” หรือ “น้ำใจในป่าคอนกรีต” ก่อนออกไปเที่ยวในเมือง เป็นต้น

10. ฝึกถ่ายภาพแบบ Manual โดยเล่นกับโหมดวัดแสงต่างๆ ให้ชำนาญ: อาการหมดไฟ อาจเกิดขึ้นเพราะไม่มีอะไรแปลกใหม่ ท้าทาย เราอาจจะเคยชินกับการถ่ายภาพแบบเดิมๆ ดังนั้น … สร้างแรงบันดาลใจเพื่อพัฒนาตนเองง่ายๆ ด้วยการบังคับตนเองฝึกถ่ายภาพแบบ Manual และเล่นกับโหมดวัดแสงแบบต่างๆ เช่น เฉพาะจุด (Spot) และเฉลี่ยหนักกลาง (Center weight) ลองสะพายกล้องแล้วออกไปเที่ยวในเมือง ปิดจอด้านหลังไม่ให้แสดงภาพหลังจากถ่าย แล้วเลือกโหมดวัดแสงที่ต้องการ จากนั้น แช๊ะ แช๊ะ แช๊ะ แบบประณีต กำหนดจำนวนภาพในในว่า ใน 10 ภาพที่ยิง อย่างน้อยต้องมีภาพที่ดีกี่ % จะ 50%, 80% หรือ 100% ก็ตามใจ หากมีเพื่อนไปเดินถ่ายภาพด้วยกัน ก็ถือโอกาสประลองฝีมือกันเลย ใครแพ้เลี้ยงข้าว สนุกสนานไปอีกแบบ …. หากยังไม่สาแก่ใจ และรู้สึกท้าทายไม่พอ ขอให้ลองใช้กฎ Sunny 16 กับกล้องดิจิตอล กฎนี้ใช้กันตั้งแต่ยุคฟิล์ม และยังใช้ได้ดีจนถึงยุคนี้ หลักการง่ายๆ คือ ในสภาพแดดเปรี้ยง ไม่มีเมฆ ช่วงเที่ยงๆ เงาคมเข้ม เราสามารถใช้ f/16, iso 100 และ Shutter speed 1/125 เพื่อยิงภาพได้เลย และเมื่อมีแสงลดน้อยลงกว่านี้ เช่น มีเมฆมาบังบางส่วน, หรือทั้งหมด เราก็ปรับชดเชยแสงโดยเปิดค่า f (หรือค่าอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน) ให้กว้างขึ้น เช่น หากมีเมฆมาบังพระอาทิตย์ ช่วงกลางวัน เงาของเราดู Soft ลง ขอบไม่แข็งเห็นเงาอยู่บ้าง ให้ใช้ค่า f/8.0 แต่หากไม่มีเงาเลย ให้เปิดแสงเพิ่มเป็น f/5.6 เป็นต้น … ลองไปศึกษาเพิ่มเติม และเล่นดูนะ ได้พัฒนาตนเองในการมองแสง + ทำให้การถ่ายภาพสนุกมากขึ้นครับ

สรุปเทคนิค Sunny 16 ที่เคยใช้ได้ดีในยุคกล้องฟิล์ม และสามารถนำมาใช้กับกล้อง Digital ได้ไม่ยาก

เป็นอย่างไรบ้างครับ การหาแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพนี่ เหมือนจะยากก็ยาก หรือจะแลดูให้ง่าย ก็ง่ายมากๆ ทั้งหมดนั้น ต้องขึ้นกับใจของเราเอง … สำหรับ ep#1 นี้จัดไป 10 ข้อก่อนนะ อย่าลืมออกไปหาแรงบันดาลใจ พากล้องไปถ่ายภาพทุกที่ที่มีโอกาสครับ … แล้วพบกัน ep#2 ครับผม

Previous
Previous

เพิ่มเติม* อีก 10 วิธี สร้างแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ (ep.2)

Next
Next

กฎ 400 สำหรับกล้อง Nikon D500, D800e/810 และกล้อง APS-C ในการถ่ายภาพดาว/ทางช้างเผือก