กฎ 400 สำหรับกล้อง Nikon D500, D800e/810 และกล้อง APS-C ในการถ่ายภาพดาว/ทางช้างเผือก

ถ่ายภาพดวงดาว และทางช้างเผือกให้สวย ช่างภาพทุกคนรู้ว่า ควรเลือกใช้เลนส์ที่ f กว้างๆ เพื่อให้สามารถเก็บแสงดาวได้มากขึ้น อีกทั้งควรหลีกเลี่ยง iso ที่สูงเกินไป เนื่องจากจะเกิดสัญญาณรบกวน (Noise) จำนวนมากบนภาพถ่าย โดยปรกติ ผมมักใช้ค่า f ระหว่าง 1.4 – 2.8 ในการถ่ายดาว (ขึ้นกับเลนส์แต่ละตัวที่มี) และใช้ค่า iso สูงสุดไม่เกิน 3200 บนกล้อง Nikon D810 ส่วนการปรับตั้งค่า Shutter speed นั้น มักจะขึ้นกับเลนส์ที่ผมใช้ถ่ายภาพดาว โดยมีกฎคำนวณ Shutter speed ที่สามารถลากได้นานที่สุด = 400 หารด้วยทางยาวโฟกัสของเลนส์ เช่น ใช้ระยะ 20 mm. บนกล้อง Full frame ถ่ายดาว จะได้ Shutter speed ราวๆ ไม่เกิน 20 วินาที ซึ่งเป็นค่าเปิดหน้ากล้องที่นานที่สุด ที่จะเห็นดาวหยุดอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนจนเห็นเป็นเส้น (จริงๆ แล้วหากเรา Zoom ภาพที่ 100% ก็ยังคงเห็นดาวเคลื่อนที่เล็กน้อยนะ)

แต่หากเป็นกล้องตัวคูณ เช่น Nikon D500 ก็อย่าลืมคูณค่า Crop factor 1.5 เพิ่มเติมนะครับ

ก่อนหน้านี้ ราวๆ 3-4 ก่อน ผมเคยได้รับคำแนะนำจากช่างภาพ Landscape ท่านอื่นว่า ให้ใช้กฎ 600, 550 และ 500 ตาม Internet … เมื่อลองทำตามทุกๆ กฎข้างต้น ก็พบว่า ตัวเลขที่มากกว่า 400 เมื่อนำมาหารทางยาวโฟกัส ล้วนทำให้เราเปิดหน้ากล้องที่นานเกินไปจนเห็น “ดาวเคลื่อนที่เป็นเส้น”

หากมองโลกในแง่ดี ในฐานะที่เราไม่ใช่กลุ่มคนที่ละเอียดทุกพิกเซล (Pixel peeped people) การใช้กฎ 500 – 600 ก็จะทำให้เราเปิดหน้ากล้องได้นานขึ้น เช่น ภายใต้กฎ 600 เราเปิดหน้ากล้องได้นานถึง 30 วินาที เมื่อใช้เลนส์ 20 mm. ซึ่งทำให้แสงเข้ากล้องได้มากขึ้น และเราสามารถลดค่า iso ให้ต่ำลง ผลที่ได้คือภาพเนียนขึ้น (เพราะ Noise ลดลงนั่นเอง) ภาพที่พิมพ์ขนาด 8×10 นิ้ว หรือแม้แต่การย่อภาพเพื่อนำเสนอผ่าน Social Networking เช่น Facebook, Instragram ก็ยังพอเห็นดาวเป็นจุด แทบไม่เห็นการเคลื่อนที่ของดาวเลย (เพราะภาพถูกย่อมาแสดงในขนาดเล็กลง)

นอกจากนี้ หากเราเป็นช่างภาพที่หากินกับการขายภาพ พิมพ์ภาพขนาดใหญ่ และต้องการภาพดาว ที่เป็นจุดดาว (หรือใกล้เคียงกับจุดดาว เมื่อ Zoom ภาพ 100% หรือพิมพ์ภาพขนาดใหญ่ เช่น 20×30 นิ้ว) … เราคงไม่ต้องการให้ดาวสวยๆ เคลื่อนที่เป็นเส้นหรอกครับ … ดังนั้น กฎที่ปลอดภัยไว้ก่อนสำหรับผม คือ กฎ 400

[ภาพที่ 1: ไม่ว่าจะใช้กฎ 400 หรือสูงกว่านั้น เมื่อลาก Shutter speed เป็นเวลานาน การบันทึกภาพดาว ย่อมได้แสงดาวที่เคลื่อนที่เป็นเส้น เช่น ในภาพนี้ใช้กฎ 400 โดยถ่ายภาพด้วยเลนส์ 20 mm. เป็นเวลา 20 วินาที ภาพด้านซ้ายมือ เป็นภาพเต็มที่ย่อลง Social Networking ซึ่งเราจะเห็นดาวเป็นจุด ขณะที่ภาพ Zoom 100% จะเห็นดาวเริ่มเป็นเส้น แต่ไม่มากนัก และภาพด้านล่างขวามือ แสดงภาพที่ Zoom ในระดับ Pixels ที่แสดงถึง การเคลื่อนที่ของดาว ยาวประมาณ 5-6 pixels]

Lake Tekapo, New Zealand

[ภาพที่ 2: Nikon D800e + Nikon 24 mm. ถ่ายที่ f/1.4, Shutter speed 15 วินาที ซึ่งหากเทียบตามกฎแล้ว จะเปิดหน้ากล้องน้อยกว่ากฎ 400 หรือลองคำนวณคือ 24 * 15 = 360 sec. จากภาพจะเห็นดาวเป็นจุด และเมื่อ Zoom ภาพไปที่ 100% เราจะเห็นดาวเคลื่อนที่เป็นเส้นเล็กน้อย]

Patagonia, Argentina

[ภาพที่ 3: ภาพ Panorama แนวตั้ง แต่ละใบถ่ายจากเลนส์ Nikon 20 mm. ที่ f/1.8 และลาก Shutter speed นาน 20 วินาที ตามกฎ 400]

เรื่องน่ารู้อีกนิด สำหรับการเคลื่อนที่ของดาวในภาพ แม้เราจะใช้กฎ 400 แสงดาวในภาพก็ยังคงเคลื่อนที่อยู่ดี … อีกทั้งการเลือกใช้กล้อง (Full frame หรือตัวคูณ) และเลนส์ช่วงต่างๆ ก็ส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของดาว … เท่าที่อ่านข้อมูลใน Internet ที่เขียนอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้น่าสนใจ คือ บทความของ http://starcircleacademy.com ที่ปอกเปลือกกฎ 600 โดยอธิบายว่า บนกล้อง Full frame (ที่ยกตัวอย่างคือ 5D Mark II) เมื่อถ่ายภาพดาว แสงที่บันทึกลงในภาพจะเคลื่อนที่จาก Pixel นึง ไปอีก Pixel นึง ในเวลาราวๆ 5.3 วินาที ดังนั้น หากเราใช้เลนส์ 20 mm. และลองเปิดหน้ากล้องตามกฎ 500 – 600 ข้างต้น เราจะเปิดหน้ากล้องได้นาน 25 – 30 วินาที ซึ่งทำให้แสงดาว เคลื่อนที่ไปราวๆ 5 – 6 pixels เลยทีเดียว แต่หากเราลดตัวเลขลง โดยใช้ กฎ 400 จะทำให้เส้นดาวที่เคลื่อนที่เหลือเพียง 4 pixels

จุดนี้ทำให้รู้ความจริงที่ว่า หากต้องการให้ดาวเป็นจุด ต้องถ่ายภาพโดยใช้ Shutter speed ไม่เกิน 5.3 วินาที … หากเปิดหน้ากล้องนานกว่านี้ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเคลื่อนที่ของดาวได้เลย ดังนั้นในการถ่ายภาพทางช้างเผือก (หรือดาวจุด) สิ่งที่ควรคำนึงถึง ก็คือ “ระดับที่พอรับได้ของดาวที่เริ่มเคลื่อนที่ (Accepted length of star trails)”  และ ณ จุดนั้น สำหรับกล้อง Nikon D500, D800e, D810 และกล้อง APS-C ทั่วไป คือ กฎ 400 ครับ

สรุปก่อนจบบันทึกนี้:

  • โลกหมุนรอบตัวเอง ทำให้ดาวเคลื่อนที่ตลอดเวลา

  • การเปิดหน้ากล้องแบบลาก Shutter speed ทำให้มีการบันทึกแสงดาวจากจุด เป็นขีด ความยาวของขีดจะขึ้นกับระยะเวลาในการเปิดหน้ากล้อง

  • ยิ่งเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมากขึ้น เมื่อเปิดที่ระยะเวลาเท่ากัน จะทำให้แสงดาวในภาพ ยาวขึ้น

  • การถ่ายภาพทางช้างเผือก แนะนำกฎ 400 หารด้วยความยาวโฟกัส ค่าที่ได้คือค่า Shutter speed สูงสุดที่ควรใช้

  • ขนาดของ Sensor ที่ต่างกัน จะส่งผลต่อความยาวของดาว เช่น กล้องตัวคูณ เมื่อใช้ Shutter speed เท่ากับกล้อง Full frame จะมีเส้นดาวยาวกว่า

  • แต่ว่า!! ขนาด Resolution ที่ต่างกัน ไม่มีผลต่อกฎ 400 เลย เช่น ไม่ว่าจะเป็นกล้องขนาด 24 MP หรือ 36 MP ก็อยู่ภายใต้กฎเดียวกัน

  • แม้แต่กฎ 400 แสงดาวที่บันทึกได้ก็ยังเคลื่อนที่ และจะเห็นชัดขึ้นเมื่อ Zoom ภาพ 100% หรือพิมพ์ภาพขนาดใหญ่

  • เพิ่มเติม: สำหรับการถ่ายดาวหมุน ควรถ่าย Shot สั้นๆ เช่น 15-30 วินาที แล้วจึงนำภาพแต่ละใบมารวมกัน ทั้งนี้ … การเว้นช่วงเวลาที่ถ่ายดาวหมุน (Interval time) ไม่ควรเกิน 3 วินาที ไม่อย่างนั้นจะเกิดช่องว่างในภาพดาวหมุนที่นำมาต่อกัน

Previous
Previous

10 วิธี สร้างแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ (ep.1)