จัดอุปกรณ์เพื่อลุยถ่ายภาพ Landscape?

คำถามยอดฮิตที่ถามกันแบบจริงจัง “จัดอุปกรณ์แบบไหน ดีหากต้องการลุยถ่ายภาพ Landscape” ผมก็ขอแชร์ความคิดเห็นโดยอิงจากประสบการณ์การเสียเงินกับอุปกรณ์ตลอดเวลา หลายปีที่ผ่านมาว่า ก่อนซื้อ ต้องมีจุดมุ่งหมายก่อนว่าคุณอยากลุยถ่ายภาพ Landscape แบบไหน? คุณเป็นสาย Landscape/Mountainscape หรือเป็นสาย Cityscape  หรือเป็นสาย Seascape เพราะอุปกรณ์ต่างๆ บางตัวใช้ร่วมกันได้ แต่บางตัวก็ใช้เฉพาะของแต่ละสาย

 

สาย Landscape

สายนี้เน้นความคล่องตัว น้ำหนักโดยรวมต้องเบา เพราะจำเป็นต้องเดินทางด้วยเท้าเพื่อปีนเขา ขึ้นดอย แนะนำกล้อง 1 ตัวและเลนส์ไม่เกิน 2 ตัว ซึ่งได้แก่ Nikon 14-24 และ Nikon 24-120 ครับ รับรองได้ว่า ระยะจาก 14-120 mm. นี้ เพียงพอและครอบคลุมการถ่ายภาพกว่า 90% ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ขาตั้งกล้องควรใช้ขาขนาดเล็กที่มั่นคงแข็งแรง ผมใช้ Gitzo 1542t + Acratech GPss ครับ (ตัดแกนกลางออกเพื่อให้สามารกางราบได้ –และจริงๆ ไม่ต้องตัดออกนะครับ ผมโง่เอง 555 เพราะมันสามารถถอดเปลี่ยนได้ แต่ตอนน้ันไม่รู้)

ส่วนกระเป๋ากล้องขอแนะนำเป้สะพายหลังสำหรับขนอุปกรณ์ไปจุดที่รถถึง แต่หากต้องปีนเขาและค้างแรม แนะนำกระเป๋าแบบ Holster หรือกระเป๋าเหน็บเอวครับ สะดวกมากในการหยิบอุปกรณ์ในเวลาที่ต้องการ ส่วนฟิลเตอร์นั้น ตัวเดียวพอคือ CPL แนะนำของ B+W ไม่ก็ Sing Ray (แพงมากแต่คุณภาพก็เยี่ยมมากเช่นกัน) ส่วนอุปกรณ์เสริมที่ขาดได้เลยคือ เสื้อกันฝนคุณภาพดีๆ เช่นยี่ห้อ NorthFace

 

สาย Citiscape

ในเมื่อเราสามารถขับรถถึงจุดถ่ายภาพได้เลย (แม้บางจุดต้องเดินขึ้นเขา แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้ง) เราจึงสามารถจัดเต็มอุปกรณ์ได้แบบสะพรั่งตามที่เราสามารถแบก และรับผิดชอบมันไหว เริ่มต้นจากเลนส์ที่แนะนำคือ Nikon 14-24 และ Nikon 80-400 mm. ครับ หากต้องการช่วง Normal แนะนำพก 50mm. f/1.4 ไปอีกตัว หรือหากยังแบกไหว ก็อยากให้หา Fisheye ไปอีกตัว ก็เรียกได้ว่า ครอบคลุมเกือบ 99% แล้วครับ ขาตั้งกล้องสำหรับสายนี้จะพิเศษกว่าสายอื่นก็คือ ควรเลือกขาตั้งกล้องที่เบาแต่แข็งแรง  มีความสูงอย่างน้อย 150 cm. + ขึ้นไป เพื่อให้สามารถถ่ายภาพจากมุมสูง (เช่น กางสูงสุดเพื่อถ่ายภาพคนเวียนเทียน หรือกางให้พ้นขอบระเบียงปูนที่ยกสูงขึ้นมา เป้นต้น) และแกนกลางของขาตั้งกล้องต้องกางแนวระนาบได้ เพราะบางครั้งเรากางขาบนตึกแล้วเจอรั้ว เจอกำแพง เราก็สามารถกางขาเพื่อยื่นส่วนแกนกลางแบบแนวนอนได้ครับ

ขาตั้งกล้องที่ผมใช้สำหรับสายนี้เป็นประจำคือ Gitzo Explorer + หัว Acratech GP ครับ ส่วนเป้ก็ใช้แบบสะพายหลัง เช่นรุ่น ThinkTank Harddrive ฟิลเตอร์สำคัญที่ควรมีคือ CPL และอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นมากๆ คือผ้าดำสำหรับบังแสงที่กระจก และผ้าหนาๆ สำหรับรองกล้อง ในกรณีที่ไม่สามารถกางขาตั้งกล้องได้ รวมถึงสามารถนำไปบังแสงไฟจากเสาไฟระดับต่ำบริเวณข้างเคียงครับ

 

สาย Seascape

สายนี้โหดสุดและถ่ายยากสุดเพราะเราต้องพะวงกับหลายเรื่อง อันดับแรกคือ อันตรายจากคลื่นที่ไหลมาหาเรา อันดับสอง Contrast ของแสงขณะถ่ายภาพ และอันดับสามความสูงต่ำและลื่นของพื้นที่ที่เรายืน ดังนั้น อุปกรณ์ของสายนี้จึงควรมีให้น้อยที่สุดและต้องคล่องตัวที่สุด เลนส์ที่แนะนำและเป็นขวัญใจของผมเลยก็คือ Nikon 16-35 mm. f/4.0 หน้าฟิลเตอร์ 77 mm. ทำให้สามารถหาฟิลเตอร์ใส่ได้หลากหลาย รวมทั้งการใส่ฟิลเตอร์แผ่นของ Lee Filter เช่น GND 0.6, 0.9 และ Big stopper เรียกได้ว่า หากจะจริงจังกับสายนี้ กล้อง 1 ตัว; เลนส์ 1 ตัว และชุดฟิลเตอร์ครบเซ็ท ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องไปขวนขวายหาอะไรอื่นอีกเลยครับ

ส่วนขาตั้งกล้องนั้น แนะนำเป็นอย่างมากคือ รุ่นที่ถูก วัสดุ Aluminum และสามารถกางต่ำได้ (แกนกลางต้องสั้น – ตัดทิ้งไปเลยถ้าทำได้) มีหลายยี่ห้อมากๆ ครับ แต่อยากแนะนำ Manfrotto รุ่น 3 ท่อน Aluminum สนนราคาประมาณ 5-6 พันบาท (ไม่รวมหัว) ส่วนหัวบอลนั้นแนะนำรุ่น Benro B2 ที่ราคาไม่แพงแถมเป็นหัว Arca Swiss อีกต่างหาก สำหรับเป้ใส่กล้องควรเป็นเป้สะพายข้าง ทำให้สะดวกในการเข้าถึงอุปกรณ์ และอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นอย่างมากคือ ผ้าเช็ดเลนส์ (แนะนำของ 3M ผืนสีเทา ราคา 100 กว่าบาท หาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องเขียนทั่วไป); น้ำดื่มสำหรับล้างฟิลเตอร์ และลูกยางเป่าลม สำหรับเป่าเม็ดทราย และหยดน้ำเมื่อเกาะหน้าฟิลเตอร์ครับ

 

กระเป๋าคาดเอวเพื่อใส่กล้องถ่ายภาพ และเป้เดินป่าที่บรรจุสัมภาระต่างๆ รวมถึงขาตั้งกล้อง ด้วยการบริหารอุปกรณ์แบบนี้ จึงทำให้มีโอกาสเก็บภาพระหว่างเดินเขาได้มากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องปลดเป้เดินป่าเพื่อหยิบเอากล้องถ่ายภาพทุกๆ ครั้งที่ต้องการบันทึกภาพ

Previous
Previous

ยาจำเป็น … เมื่อเดินทางท่องเที่ยว

Next
Next

Review : ฟิลเตอร์เกรดโปร Nisi 10-stop