ยาจำเป็น … เมื่อเดินทางท่องเที่ยว

” … ขอให้พักผ่อนให้เพียงพอ และอย่าเสี่ยงในที่อันตรายเพื่อให้ได้ภาพ เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด … ยิ่งกว่าการรักษาใดๆ”

เคยคิดว่าตัวเองถึงจะไม่แข็งแรงนัก แต่คงไม่อ่อนแอปวกเปียก เพราะออกกำลังกายสม่ำเสมอ ปั่นจักรยานบ้าง เล่นแบดมินตันอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1-2 วัน แต่ทุกครั้งที่ออกทริป ก็ต้องเจอปัญหาสุขภาพเสมอ คราวก่อนไป Dolomite ประเทศอิตาลีก็หลอดลมอักเสบ ทริปต่อมาไปอิสานตอนบนกับทีมวานรฯ ก็เป็นไข้หวัด และล่าสุดไปลาว แค่ 4 วัน 3 คืน ก็โทรมกลับมาเพราะอาหารเป็นพิษ ทั้งอาเจียรและท้องร่วง พอมานั่งคิดสาระตะก็พบว่า ส่วนหนึ่งนั้นร่างกายเราอาจไม่ฟิต และอีกส่วนคือขาดการเตรียมพร้อมเรื่องยาที่จำเป็นยามเดินทาง คือพอเริ่มจาม เจ็บคอ ก็ไม่มียาอยู่ใกล้ๆ แถมต้องนอนค้างบนเขา 1-2 คืน กินน้ำเย็นๆ อาการยิ่งหนักขึ้นไปอีก และนั่นคือที่มาของบทความตอนนี้ “ยาจำเป็น เมื่อเดินทางท่องเที่ยว”

ผมได้สอบถามไปยังเพื่อนคุณหมอ 3 คนที่รู้จักกันว่า ให้ช่วยแนะนำยาจำเป็น สำหรับช่างภาพสาย Landscape & Travel ที่ควรพกติดตัวตอนเดินทางท่องเที่ยวไกลๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ที่อากาศแปรปรวน หนาว หรือแม้แต่ที่สูง ได้คำตอบแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของแต่ละท่าน ซึ่งผมขอสรุปยาจำเป็นทั้งหมดดังนี้ครับ:

  1. ลดไข้ บรรเทาปวด ตัวแรกแนะนำคือ ยา Paracetamol (500 mg.) เนื่องจาเป็นยาพื้นๆแก้ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 6-8 เม็ด (สำหรับผู้ใหญ่น้ำหนักตั้งแต่ 50 กก. ขึ้นไป) ข้อควรระวัง: ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีโรคตับและตับอักเสบ ; ในกลุ่มยาแก้ปวด ตัวที่แนะนำต่อไปคือ ยาแก้ปวด ลดอักเสบ Ibruprofen (Brufen) หรือ Diclofenac(Voltaren) ส่วนตัวชอบเอาไว้ใช้เวลาไปเดินปีนเขามาทั้งวันแล้วปวดขา ปวดน่อง ช่วยได้เยอะทีเดียว ตัว Ibruprofen เม็ดละ 200 หรือ 400 mg. (ปกติใช้ 200 mg. ก็พอครับ) ทาน 1 เม็ดเวลาปวด ทุก 8-10 ชั่วโมง (ควรรับประทานยานี้หลังอาหาร เพราะยานี้อาจทำให้เกิดอาการปวดกระเพาะอาหารได้) ส่วน Diclofenac (50 mg.) ทานแบบเดียวกัน สำหรับตากล้องสาวถ้าปวดประจำเดือนตัวนี้ก็ใช้ได้เหมือนกับ Ponstan ครับ

  2. ยาฆ่าเชื้อสำหรับอาการท้องเสีย เช่น Norfloxacin (400 mg.) เนื่องจากตากล้องอย่างเราไม่รู้ว่าจะได้ไปเจออาหารแบบไหนกันบ้าง มีติดตัวไว้บ้างก็ดีครับ ทานเช้าเย็น 3-5 วัน ก็พอครับ นอกจากนี้ยา Norfloxacin ยังใช้รักษาติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ด้วย ซึ่งดีมากสำหรับช่างภาพผู้หญิง เพราะผู้หญิงบางทีหาที่เข้าห้องน้ำไม่สะดวก อั้นปัสสาวะเวลาเดินทางนานๆ มีโอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย ข้อแนะนำเพิ่มเติมกรณีท้องเสียก็คือ ให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อทดแทนน้ำที่เสียออกไป และแนะนำให้พกทั้งเกลือแร่ผง รวมถึงยา Ca-R-Bon เพื่อช่วยดูดซับสารพิษในท้องด้วยนะครับ

  3. ยาแก้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียร ตัวแรกที่แนะนำคือ Domperidone (Motilium 10 mg.) ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียร เช่น อาหารเป็นพิษ อาเจียนมากๆ ทาน 1 เม็ด ก่อนอาหาร 3 เวลา และยาแก้ปวด มวนท้อง Hyoscine (Buscopan; 10 mg) ที่ช่วยลดการหดเกร็งของลำไส้ ให้ทาน 1เม็ด เช้า-กลางวัน-เย็น สุดท้ายคือ Omeprazole (Miracid 20 mg.) ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร สำหรับตากล้องที่ชอบเฝ้าแสงเช้าเย็น ทานข้าวไม่ตรงเวลาและชอบปวดแสบท้อง ตื่นเช้ามาทานตอนท้องว่างๆ ก่อนอาหารวันละเม็ด หรือถ้าอาการมากก็ตอนเย็นทานอีกเม็ดได้ครับ

  4. ยาแก้เมารถ เมาเรือ(บิน) Dimenhydrinate (Dramamine 50 mg.) ทุก 4-6 ชั่วโมงแต่สำหรับตัวนี้หลายๆ คนทานแล้วง่วงมาก แนะนำให้ลองทานดูก่อนที่บ้าน จะรู้ว่าง่วงหัวทิ่มหรือเปล่าเดี๋ยวไปถึงที่ไม่ได้ถ่ายรูปจะพลอยหลับไปซะก่อน

  5. ยาแก้แพ้ Chlopheniramine (4 mg.) ส่วนใหญ่จะเม็ดเหลืองๆ เล็กๆ เอาไว้ทานเวลาไปแพ้อะไรเข้า มีผื่นคันตามตัว ช่วยได้มากทีเดียว ทานได้ เช้า-กลางวัน-เย็น เช่นกันครับ ข้อเสียมีบ้างคือง่วงเช่นกันครับ ตัวนี้ยังสามารถใช้ลดน้ำมูกด้วยครับ (ยาตัวนี้ ผมมักทานเวลาที่ต้องเดินทางด้วยไฟล์ทบินยาวๆ รู้สึกไม่แฮงค์เวลาตื่นขึ้นมาครับ); หรืออีกตัวที่เป็นยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ได้แก่ Loratadine (10 mg.) ทาน 1 เม็ดวันละครั้ง ถ้าอยากง่วงน้อยหน่อยก็ใช้เป็น Cetirizine (10 mg.) ได้ครับ

  6. ยาแก้อักเสบ สำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ Amoxycillin แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นตัวอื่นหากแพ้ยาตัวนี้ ยาฆ่าเชื้อ (เช่น Amoxicillin, Ofloxacin, Norfloxacin) ในประเทศไทยนี่ซื้อได้ตามร้านขายยา ต่างประเทศบางประเทศต้องมีใบสั่งแพทย์(บ้านเราซื้อได้)

  7. ยาป้องกัน Altitude sickness (สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ที่มีความสูงมากกว่า 2500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป) ได้แก่ ยา Acetazolamide (125 mg.) 1-2 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง ก่อนเดินทางขึ้นที่สูง 1-2 วัน และรับประทานต่อไปเรื่อยๆ จนถึง 3 วัน หลังเดินทางขึ้นถึงจุดสูงสุด

  8. ยาฆ่าเชื้อ Cloxacillin (500 mg.) ในกรณีมีแผลอักเสบติดเชื้อชนิดที่ทำให้เกิดฝีหนอง เช่น เราไปโดนเศษไม้ที่สกปรกบาดหรือตำขามา ล้างทำความสะอาดมากๆทานยาฆ่าเชื้อตัวนี้เข้าไปด้วย 1 เม็ด ก่อนอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น และก่อนนอน 5-7 วัน

  9. ยาทา เช่น Triamcinolone cream หรือ Betamethasone เป็นยากลุ่มสเตียรอยด์แบบทาลดอาการอักเสบ เช่น โดนแมลงกัดต่อย บวมแดง (เช่น Sand fly หรือยุง) ลดอาการบวมแดงและคันได้มาก นอกจากนี้ ยาทาแผลสดที่ผิวหนัง ถ้าทริปลุยๆ อาจเกิดแผลตามร่างกาย จะเป็นเบตาดีน แอลกอฮอล์ หรือฟูซิดีน แล้วแต่ชอบ รวมทั้งพกพลาสเตอร์ปิดแผลไปด้วยนะ

คุณหมอสะกิดเตือนว่า เป็นชุดยาสำหรับตากล้องทั่วไปที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวหรือแพ้ยาอะไรเป็นพิเศษ และไม่ได้ตั้งครรภ์ (สำหรับช่างภาพผู้หญิง) สุดท้าย … คุณหมอยังได้ฝากคำแนะนำให้กับทุกคนว่า “ขอให้พักผ่อนให้เพียงพอ และอย่าเสี่ยงในที่อันตรายเพื่อให้ได้ภาพ เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด … ยิ่งกว่าการรักษาใดๆ”

———————————————————————-

ขอขอบคุณคุณหมอ:

Jeeraparn Phosuwattanakul

Asadayudh Phoolpithayadhorn

Amarate Gift Tansawet

ที่ให้คำแนะนำ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เป็นอย่างมากครับ

Previous
Previous

Field Review: ขาตั้งกล้อง SLIK Vari CF-704

Next
Next

จัดอุปกรณ์เพื่อลุยถ่ายภาพ Landscape?