เตรียมตัวไปลุยทริป ตปท : Check list อุปกรณ์เดินเขาสำหรับช่างภาพ

การท่องเที่ยวผจญภัย เป็นกิจกรรมที่หลายๆ คนใฝ่ฝันถึง โดยเฉพาะการได้ไปเที่ยวปีนเขายังต่างแดน เช่น เส้นทางเดินเขา Routeburn Track ที่ New Zealand, เส้นทาง Great walk ที่ Tasmania, และเส้นทางเดินเขาสุดโหดที่ Patagonia(ทั้งฝั่ง Chile + Argentina) ที่ครั้งหนึ่งในชีวิต ต้องไปให้ได้ ผมเองมีโอกาสไปเที่ยว New Zealand หลายครั้ง แต่ครั้งที่ประทับใจที่สุดคือการเดินบนเส้นทาง 34 กิโลเมตรของ Routeburn Track เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ซึ่งต้องเรียกว่า “ครบรส” เหมือนมาม่ารส “ครบรส” แม้จะแทบไม่เห็นฟ้างามๆ เพราะฝนตกตลอดทั้งวัน แต่พวกเรายังสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของขุนเขา ความสวยงามของธรรมชาติ และวิวสวยโหด (แม้ฟ้าจะเน่า) ได้เป็นอย่างดี หลังผ่านทริปนี้มา ใจของผมและเพื่อนๆ ก็ร่ำร้องทริปเดินเขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ (2559) ก็ตั้งเป้าว่าจะเดินทางไปเที่ยวปีนเขากันที่ Patagonia อีกครั้ง หลังจากเมื่อปีก่อนได้ไปมา ก็ไม่ผิดหวังเลย เพราะ Patagonia มีเส้นทางเดินป่าที่สวยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ผมคิดว่า … ไปครั้งเดียว … ไม่พอจริงๆ ครับ

Patagonia

อยู่ทวีปอเมริกาใต้ เกือบจะใต้สุดของโลกโน่น เดินทางจากไทยไปใช้เวลานานมากๆ บินกันที 27-30 ชั่วโมง และเมื่อไปถึงยังต้องเจอกับสภาพอากาศที่แปรปรวนมากๆ อาจจะเจอ ร้อน ฝน หนาว และหิมะในวันเดียวกัน! ดังนั้นการจัดเตรียมเสื้อผ้า-อุปกรณ์สำหรับไปเที่ยว Patagonia นี้จึงยุ่งยากพอ สมควร หากสามารถขนทุกอย่างไปได้คงดีไม่น้อย แต่ด้วยเส้นทางเดินที่ไกลมากๆ ทำให้น้ำหนักอุปกรณ์ทุกๆ ขีดที่แบกเข้าไป มีความสำคัญต่อความสนุกที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น “หนักที่สุดที่แบกไหว และเบาที่สุดที่จะไม่ทำให้เหนื่อย จนทำให้หมดสนุก” จึงเป็นปรัชญาของการเที่ยวครั้งนี้ การเตรียม-ซื้อเสื้อผ้า อุปกรณ์จึงขอจดบันทึก และแนะนำเพื่อนๆ ดังนี้ครับ

ข้อแนะนำ:

  1. เสื้อผ้า กางเกงที่สวม และรองเท้าที่ใส่เดิน ต้องสามารถ กันน้ำ กันลม ได้เป็นอย่างดี หลีกเลี่ยงเสื้อผ้ายีนส์, Cotton หรือผ้าขนสัตว์ที่เปียกน้ำง่าย

  2. ซอยเสื้อผ้าเป็นชั้นๆ แบ่งเป็น Base layer, Mid layer, Soft-shell และ Hard-shell เพื่อให้สามารถถอดเปลี่ยนให้เหมาะกับแต่ละสภาพอากาศ

  3. อะไรก็ประหยัดได้ แต่อย่าประหยัดกับอุปกรณ์ปีนเขา เลือกที่ดี ราคากลางๆ และเน้นน้ำหนักเบาไว้ก่อน อย่าตัดสินใจซื้อเพราะถูกนะครับ

  4. การไปเที่ยวเดินเขา ไม่ใช่ไปเที่ยวห้าง หนทางข้างหน้าไม่มีร้านค้าให้จับจ่าย ต้องวางแผนให้ดี โดยเฉพาะอาหารการกินในแต่ละมื้อ

  5. ฟิตร่างกายให้พร้อมสำหรับการเดินทางไกล และหัดกินอาหารนก (เช่น ถั่ว ผลไม้แห้ง Energy bar) เพื่อประทังชีวิตในป่า

  6. กระเป๋าเป้ ควรเลือกที่เหมาะกับขนาดตนเอง และจำนวนวันที่จะเดินทาง แนะนำกระเป๋าเป้ขนาด 55-65 L สำหรับเดินทาง 3-4 วัน

  7. ไม่ต้องขนเสื้อผ้าไปหลายชิ้น เอาเท่าที่จำเป็น 1-2 ตัวก็พอแล้ว เพราะเอาเข้าจริง เราต้องนอนเต้นท์ นอนกระท่อม แทบไม่ค่อยได้เปลี่ยนเสื้อผ้าหรอก

  8. น้ำสะอาดสำคัญที่สุด อย่าลืมพกกระติกน้ำ ที่กรองน้ำสะอาด และรวมถึงแก้วน้ำ เพื่อจิบชา กาแฟอุ่นๆ นะครับ

  9. อย่ารักพี่ เสียดายน้อง โดยเฉพาะการจัดชุดกล้อง – เลนส์ โดยให้เลือกเลนส์ที่คิดว่าจะได้ใช้มากที่สุด … ในระหว่างเดินผมแนะนำกล้อง Compact เหน็บเอวไว้ เวลาเจอวิวโหดๆ ค่อยใช้ DSLR ขึ้นมาจัดเต็มครับ อุปกรณ์กล้องนั้น ถือว่าหนักมากๆ กล้อง 1 + เลนส์ 2 + ขาตั้งกล้อง จะกินน้ำหนักเกือบๆ 5 กิโลกรัม แรกๆ ไม่รู้สึก … แต่ยิ่งเดิน ยิ่งอยากเขวี้ยงทิ้งทีละอย่างสองอย่าง

  10. ถุงนอน จำเป็นมากเช่นกัน อย่าจัดถุงนอนเพราะราคาถูก ขอให้เก็บตังค์สอยถุงนอนชั้นดี ที่นุ่ม อุ่น และเบา ราคาประมาณหมื่นต้นๆ อาจจะแพงไปสักนิด แต่หากได้ใช้จริงๆ จะรู้ว่ามันช่วยชีวิตเราได้มากทีเดียว

เส้นทางเดินเขา Routeburn Track ที่ประเทศ New Zealand วิว สวยๆ ที่มาพร้อมกับอากาศแปรปรวน ตอนเช้าฟ้ายังใส เดินไปไม่นานฝนก็เทลงมา สักพักอากาศที่ร้อนๆ สักครู่ ก็เริ่มเย็นลง การเตรียมเสื้อผ้าให้กันลม และกันฝน 100% จึงสำคัญมาก

ตัวอย่างการจัดเสื้อผ้า ชุดกันหนาว เพื่อเตรียมเดินทางไปทริปถ่ายภาพ Patagonia

1: เสื้อ Base layer หรือเสื้อลองจอห์น ใส่พอดีตัว ยี่ห้อ Columbia รุ่น Omni Heat x 2 ชิ้น

2: เสื้อยืด ยี่ห้อ Columbia หรือเสื้อบอลก็ได้ครับ x 2 ชิ้น

3: Soft-shell jacket ผ้า Marino ของ Katmandu x 1 ชิ้น (+ Northface Quince Hooded 800 x 1 ชิ้น)

4: Hard-shell jacket ผ้า Gortex Pro ของ Katmandu (+ Northface Hyalite x 1 ชิ้น กันน้ำ ลมได้ดีเยี่ยม)

5: กางเกง Base layer ยี่ห้อ Columbia รุ่น Omni Heat x 1 ชิ้น

6: กางเกงเดินเขา ยี่ห้อ Columbia x 2 ชิ้น (ไม่กันน้ำครับ แต่ยืดหยุ่น สวมสบาย อาจเอากางเกงวอร์มแทนได้ครับ)

7: กางเกงกันฝน ขนาดพกพา สั่งซื้อจาก Internet ราคา 400 บาท เบา เล็ก และกันน้ำได้ดีมากๆ

8: กางเกงกันลม-ฝน-หนาว (ผ้าหนา คล้ายกางเกงสกี) ของ Columbia รุ่น Omni Heat x 1 ชิ้น

9: กระเป๋าพกพา เผื่อไว้ดึงอุปกรณ์ออกจากกระเป๋าเป้ เมื่อต้องการทิ้งไว้ที่โรงแรม หรือ Base camp

10: กระเป๋าจัดระเบียบ เวลาแยกของใส่เป้ เพื่อให้ดึงขึ้นมาใช้งานได้ง่าย และเป็นสัดส่วน

11: ถุงเท้าเดินเขา ผ้า Marino ยี่ห้อ Katmandu นุ่ม หนา สบายมากเวลาเดิน ที่สำคัญ ไม่ค่อยเหม็นอับ เคยใส่เดิน 3 วัน กลิ่นยัง OK

12: ผ้าเช็ดตัวผ้า Nano ของ Sea to Summit ขนาด M (เล็กกว่าผ้าเช็ดตัวขนาดปรกติครึ่งนึง) ซับน้ำได้ดีมาก เบา และแห้งไว

13: ถุงมือกันหนาว 2 ชั้น แยกเป็นชั้นใน 1 คู่ และชั้นนอก 1 คู่ (แต่หากมีรุ่นผ้า Gortex จะดีกว่า เพราะกันน้ำได้ดีมาก)

14: ถุงใส่ของใช้ส่วนตัว เช่น ยาสีฟัน แชมพู ยี่ห้อ Deuter

15: กระเป๋าเดินป่า ยี่ห้อ Deuter รุ่น 65 + 10 L

ภาพข้างต้น ยังไม่รวมอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพ อาหารแห้ง เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า และขาตั้งกล้อง เมื่อรวมกันทั้งหมด จะมีน้ำหนักประมาณ 20 กก. ++ ต่อคนเลยทีเดียว

กระเป๋าที่พี่นันท์ใช้สำหรับใส่กล้อง เลนส์ อุปกรณ์ถ่ายภาพอื่นๆ (เช่น Drone และ จอวิดีโอ) คือ กระเป๋า F-stop รุ่น Tilopa ใบเก่งใบนี้ครับ บอกเลยว่าเยี่ยม!

นอกจากนี้ เพื่อสะดวกในการจัด-เตรียมอุปกรณ์ในภายหลัง ผมได้ทำบันทึกการจัดอุปกรณ์ (Check-list) โดยสามารถ Download จาก Link ด้านล่างครับ

Previous
Previous

Review : ฟิลเตอร์เกรดโปร Nisi 10-stop

Next
Next

ที่สุดแห่งกล้อง DSLR – Nikon D850: I am the different maker